สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

กฎบัตรสหประชาชาติ

หมวดที่ 9 ความร่วมมือระหว่างประเทศ

ทางเศรษฐกิจและการสังคม

มาตรา 55

ด้วยทัศนะที่จะสถาปนาภาวะสถานการณ์แห่งเสถียรภาพและสวัสดิภาพ ซึ่งจำเป็นสำหรับความสัมพันธ์โดยสันติ และโดยฉันท์มิตรระหว่างนานาชาติ ด้วยยึดความเคารพต่อหลักการแห่งสิทธิอันเท่าเทียมกัน และการกำหนดเจตจำนงของตนเอง ของประชาชนเป็นมูลฐาน สหประชาชาติจักส่งเสริม:

ก. มาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้น การมีงานทำโดยทั่วถึงและภาวการณ์แห่งความก้าวหน้า และพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการสังคม

ข. การแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศในทางเศรษฐกิจ การสังคม อนามัย และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และการร่วมมือระหว่างประเทศทางวัฒนธรรม และการศึกษา และ

ค. การเคารพโดยสากล และการปฎิบัติตามสิทธิมนุษยชนและอิสรภาพ อันเป็นหลักมูลสำหรับทุกคน โดยปราศจากความแตกต่างในทางเชื้อชาติ เพศ ภาษา หรือศาสนา

มาตรา 56

สมาชิกทั้งปวงให้คำมั่นว่า จะดำเนินการร่วมกัน และแยกกัน ในการร่วมมือกับองค์การ เพื่อให้บรรลุผลแห่งความมุ่งหมาย ทีกำหนดไว้ในมาตรา 55

มาตรา 57

1. ทบวงการชำนัญพิเศษต่าง ๆ ที่ได้สถาปนาขึ้นโดยความตกลงระหว่างรัฐบาล และมีความรับผิดชอบระหว่างประเทศ อย่างกว้างขวาง ในด้านเศรษฐกิจ การสังคม วัฒนธรรม การศึกษา อนามัยและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังได้นิยมไว้ในเอกสารก่อตั้งของตน จักต้องนำเข้ามาสู่ความสัมพันธ์กับสหประชาชาติ ตามบัญญัติในมาตรา 63

2. ทบวงการตัวแทนเช่นว่านี้ ด้วยเหตุที่ได้นำเข้ามาสู่ความสัมพันธ์กับสหประชาชาติ ต่อไปก็จะเรียกว่า ทบวงการชำนัญพิเศษ

มาตรา 58

องค์การจักทำคำแนะนำสำหรับการประสานนโยบายและกิจกรรมของทบวงการชำนัญพิเศษ

มาตรา 59

เมื่อเห็นเหมาะสม องค์การจักริเริ่มการเจรจาระหว่างรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อการก่อตั้งทบวงการชำนัญพิเศษใหม่ใด ๆ อันพึงประสงค์เพื่อการยังผลสำเร็จ ในความมุ่งหมายที่กำหนดไว้ในมาตรา 55

มาตรา 60

ความรับผิดชอบสำหรับการปฎิบัติหน้าที่ขององค์การ ตามที่กำหนดไว้ในหมวดนี้ จักมอบให้แก่สมัชชาและภายใต้อำนาจของสมัชชา แก่คณะมนตรีเศรษฐกิจและการสังคม ซึ่งจักมีอำนาจเพื่อการนี้ ตามที่กำหนดไว้ในหมวดที่ 10

หมวดที่ 1 ความมุ่งหมายและหลักการ
หมวดที่ 2 สมาชิกภาพ
หมวดที่ 3 องค์กร
หมวดที่ 4 สมัชชา
หมวดที่ 5 คณะมนตรีความมั่นคง
หมวดที่ 6 การระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธี
หมวดที่ 7 การดำเนินการเกี่ยวกับการคุกคามต่อสันติภาพ การละเมิดสันติภาพ และการกระทำการรุกราน
หมวดที่ 8 ข้อตกลงส่วนภูมิภาค
หมวดที่ 9 ความร่วมมือระหว่างประเทศ
หมวดที่ 10 คณะมนตรีเศรษฐกิจและการสังคม
หมวดที่ 11 ปฏิญญาว่าด้วยดินแดนที่ยังมิได้ปกครองตนเอง
หมวดที่ 12 ระบบภาวะทรัสตีระหว่างประเทศ
หมวดที่ 13 คณะมนตรีภาวะทรัสตี
หมวดที่ 14 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
หมวดที่ 15 สำนักเลขาธิการ
หมวดที่ 16 บทเบ็ดเตล็ด
หมวดที่ 17 ข้อตกลงเฉพาะกาลเกี่ยวกับความมั่นคง
หมวดที่ 18 การแก้ไข
หมวดที่ 19 การสัตยาบันและการลงนาม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย