สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

บทบาทสื่อมวลชนกับการปฏิรูปการเมือง

โดย ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ
ราชบัณฑิต เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า

     สื่อมวลชนอาจมีบทบาทสำคัญใน 2 ทางคือ สื่อผู้รายงานการปฏิรูปประการหนึ่ง และสื่อผู้ร่วมการปฏิรูปอีกประการหนึ่ง

1. ในฐานะ “สื่อผู้รายงานการปฏิรูปประเทศไทย”

ในฐานะนี้ สื่อมวลชนควรศึกษาติดตามทั้ง “เนื้อหาสาระ” และ “กระบวนการ” ปฏิรูป (ซึ่งสำคัญไม่แห้เนื้อหา) ให้ถ่องแท้ ควรเรียกร้องให้การดำเนินการของผู้เกี่ยวข้องเป็นไปอย่างโปร่งใส ให้สาธารณชนติดตามได้ตลอดเวลา และควรเปิดพื้นที่สื่อให้ฝ่ายต่างๆ ได้มีโอกาสเสนอความคิดของตนให้สาธารณชนได้พิจารณาอย่างสมดุลบทบาทนี้ สื่อมวลชนทำหน้าที่ได้ดีตามควรอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเน้นย้ำ

2. ในฐานะ “สื่อผู้ร่วมการปฏิรูป”

ในฐานะนี้ มีประเด็นสำคัญที่จะต้องถกเถียงกันเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งอันเป็นทั้งเหตุและผลของวิกฤตที่ผ่านมาด้วย

ประเด็นแรกที่จะต้องทบทวนคือ เมื่อสื่อเป็นอิสระออกจากรัฐมาตามสมควรโดยเฉพาะตั้งแต่การมีรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมาแล้ว แต่สื่อมวลชนหลายแขนงยังหาเป็นอิสระออกจากเจ้าของกิจการไม่ กล่าวคือ

-สื่อของรัฐหรือแผ่นดินจะต้องแยกออกจากสื่อของรัฐบาล ในขณะที่สื่อของรัฐและแผ่นดินต้องทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของรัฐและแผ่นดิน ไม่เป็นฝักฝ่ายทางการเมือง แต่สื่อของรัฐบาลต้องทำหน้าที่เผยแพร่นโยบายและผลงานของรัฐบาล องค์กรเดียวกันไม่ควรทำหน้าที่ทั้ง 2 อย่าง เพราะในความเป็นจริง อำนาจทางการเมืองจะทำให้สื่อที่ทำหน้าที่รวมนี้กลับกลายเป็นสื่อที่ทำหน้าที่ “สื่อของรัฐบาล” เป็นหลัก

ดังนั้น ควรแยกสื่อที่มีบทบาทต่างกันนี้ออกเป็น 2 องค์กร และสื่อที่ทำหน้าที่สื่อของรัฐบาลก็ต้องมีความเป็นอิสระตามหลักความเป็นอิสระของสื่อ โดยเฉพาะจะต้องคุ้มครองข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างของรัฐ ในสื่อที่เป็นของรัฐและของรัฐบาล มีอิสระในการนำเสนอข่าวสารและความเห็นตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้อย่างแท้จริง

-สื่อเอกชนควรต้องทบทวนอย่างจริงจังว่า แม้สื่อมวลชนอิสระออกจากรัฐ แต่ยังอยู่ภายใต้อำนาจของเจ้าของกิจการแล้ว ความเป็นอิสระแท้จริงก็ไม่เกิด ดังนั้น จึงต้องทบทวนโครงสร้างความเป็นเจ้าของสื่อ ว่าสื่อประเภทใด (เช่น วิทยุ โทรทัศน์ ฯลฯ) ควรเป็นบริษัทมหาชน จำกัด ในตลาดหลักทรัพย์ หรือ บรรษัทพิเศษ ที่ไม่มีบุคคลใดสามารถเป็นเจ้าของหุ้นได้เกินกว่าร้อยละห้า เพื่อป้องกันการครอบงำสื่อ และควรออกกฎหมายคุ้มครองบุคลากรในกิจการสื่อมวลชนให้มีอิสระในการนำเสนอข่าวสารและความเห็นตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ เช่นเดียวกับบุคคลากรภาครัฐ

ประเด็นที่ 2 ที่สมควรจะมีการปฏิรูปสื่อมวลชนอย่างจริงจังก็คือ การมีจรรยาบรรณและการควบคุมจรรยาบรรณอย่างจริงจัง โดยองค์กรวิชาชีพสื่อ ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนอย่างแท้จริง ให้ได้ความสมดุลกับเสรีภาพในการนำเสนอข่าวและความคิดเห็น ประเด็นใหญ่ที่องค์กรวิชาชีพสื่อจะต้องให้ความสำคัญคือ
-การคุ้มครองผู้ที่ถูกสื่อละเมิด (เยาวชน หญิง ฯลฯ)
-การใช้สื่อไปเพื่อประโยชน์ทางการเมืองหรือเศรษฐกิจของเจ้าของกิจการ

ประเด็นที่ 3 ที่ควรจะต้องมีการพิจารณาอย่างจริงจังก็คือการคุกคามสื่อทุกรูปแบบ และความคุ้มครองที่รัฐและสังคมต้องมีให้สื่อผู้ทำหน้าที่เสมือน “สุนัขเฝ้าบ้าน” โดยเฉพาะในความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงนั้น สื่อมวลชนมักตกเป็นเหยื่อของการคุกคามโดยตลอด

ประเด็นที่ 4 อันควรได้รับการพิจารณาทบทวนอย่างแท้จริงก็คือ “ความหลากหลายและทางเลือก” โดยเฉพาะในสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งหากปล่อยให้เป็นไปโดยอิสระ สื่อก็จะตกอยู่ภายใต้ระบบพาณิชย์ของระบบทุน ทำให้การนำเสนอเป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคส่วนใหญ่ โดยละเลยสิทธิในทางเลือก และความหลากหลายของผู้บริโภคข้างน้อย ในเรื่องนี้อาจต้องทบทวนตัวกฎหมายหรือหลักเกณฑ์บางประการที่บางประเทศ เช่น ฝรั่งเศส หรือ คานาดา ใช้อยู่ ในการบังคับให้ต้องใช้ภาษาหลักของประเทศ และต้องมีความหลากหลายเชิงวัฒนธรรมในบรรดาเพลง และความบันเทิงรูปแบบอื่นที่นำเสนอต่อสาธารณะ หรืออาจใช้รูปแบบการจูงใจด้วยระบบภาษีอากร เช่น มีการลดภาษีเงินได้และไม่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มรายการที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและสร้างทางเลือกให้ผู้บริโภค เป็นต้น

ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ กล่าวว่า เมื่อพูดถึงบทบาทสื่อมวลชนกับการปฏิรูปการเมือง ก็คงต้องตั้งหลักกันที่การปฏิรูปการเมืองก่อน แล้วจึงพิจารณาบทบาททางสื่อมวลชนกับการปฏิรูปการเมืองดังกล่าว

คำว่า “การปฏิรูปการเมือง” นี้ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2538 เมื่อประธานรัฐสภา (นายมารุต บุนนาค) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตยซึ่งมี นายแพทย์ประเวศ วะสี เป็นประธาน คณะกรรมการดังกล่าวมีข้อเสนอให้การปฏิรูปการเมือง พร้อมเสนอกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเพื่อการปฏิรูปดังกล่าว อันเป็นที่มาของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญและมีการจัดทำรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่เรียกกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนและทุกฝ่ายก็ต้องตั้งความหวังว่า รัฐธรรมนูญฉบับนั้นทำการปฏิรูปการเมืองแล้ว จึงมีการ “ปฏิรูป” ต่างๆ ตามกันมา ไม่ว่า “ปฏิรูปการศึกษา” “ปฏิรูปกฎหมาย” “ปฏิรูปสื่อ” ฯลฯ

ครั้นรัฐธรรมนูญปี 2540 ใช้มายังไม่ทันครบ 10 ปี ก็เกิดปัญหาการเมืองและความขัดแย้งอย่างรุนแรง จนเกิดการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนั้น และมีการจัดทำรัฐธรรมนูญปี 2550 ออกใช้มาจนปัจจุบัน แต่ความขัดแย้งทางการเมืองก็ยังไม่จบ ซ้ำกลับรุนแรงยิ่งขึ้นทั้งนอกสภาและในสภา และประเด็นแห่งความขัดแย้งประเด็นหนึ่งที่สำคัญก็คือ จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 หรือจะกลับไปนำรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้บังคับอีก คำว่า “ปฏิรูปการเมือง” จึงหวนกลับมาอีกวาระหนึ่ง โดยข้อเสนอของนายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)

แต่ข้อเสนอให้มีการปฏิรูปการเมืองครั้งนี้มีบริบทต่างจากในปี 2540 โดยสิ้นเชิง กล่าวคือ ในปี 2540 ข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปการเมืองมาจากนักวิชาการและประชาสังคมนอกสภา ด้วยความไม่ไว้วางใจนักการเมือง แต่ข้อเสนอครั้งนี้มาจากฝ่ายการเมืองในสภาซึ่งไม่พอใจรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ถูกกล่าวหาว่าจัดทำขึ้นเพื่อ “เล่นงาน” นักการเมืองประการหนึ่ง นอกจากนั้น กระบวนการปฏิรูปการเมืองในปี 2540 อาศัยคนนอกที่ไม่ใช่นักการเมืองเป็นหลัก โดยเฉพาะการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญมาปฏิรูปการเมือง แต่ครั้งนี้อาศัยสมาชิก 2 สภาเป็นหลัก โดยการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญขึ้นดำเนินการ เป็นประการที่สอง และในประการสุดท้าย การปฏิรูปการเมืองในปี 2540 ก่อให้เกิดความหวังและกำลังใจในหมู่ประชาชนจนวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ซึ่งร้ายแรง กลับไม่ส่งผลต่อจิตใจของประชาชนมากเพราะสมหวังที่ได้รัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ข้อเสนอให้ปฏิรูปในครั้งนี้เกิดจากความขัดแย้งยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2551 ทั้งยังไม่ได้สร้างความหวังใดๆ ให้ประชาชนส่วนใหญ่ ตรงกันข้ามกลับสร้างความวิตกกังวลว่า การปฏิรูปครั้งนี้เองจะสร้างความขัดแย้งรุนแรงให้เกิดขึ้นอีกหรือไม่

ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม ทุกคนยอมรับร่วมกันว่ามีปัญหาและวิกฤตใหญ่หลวงทางการเมืองและการบริหารบ้านเมืองที่จะต้องหาทางออกให้วิกฤตที่ว่านั้นยุติลง และไม่เกิดขึ้นอีก และนี่เองคือโจทย์ใหญ่ที่การปฏิรูปครั้งนี้ต้องตอบ

การปฏิรูปประเทศเพื่อยุติวิกฤต ป้องกันความขัดแย้งและสร้างความเข้มแข็งให้สังคมไทย
การปรับการบริหารภาครัฐทั้งระบบ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย