ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป >>

เชอร์วูด แอนเดอร์สัน

(Anderson, Sherwood)

เชอร์วูด แอนเดอร์สัน เป็นนักเขียนเรื่องสั้นและนวนิยายแนวธรรมชาตินิยม (Naturalism) ชาวอเมริกัน ที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อวรรณคดีและนักเขียนอเมริกันในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่องที่มีชื่อเสียงของแอนเดอร์สันเป็นเรื่องของชาวอเมริกันตามเมืองเล็กๆ แถบตะวันตกกลาง (Midwest)

แอนเดอร์สันเกิดเมื่อวันที่ 13 กันยายน ค.ศ.1876 เป็นบุตรคนหนึ่งในจำนวน 7 คนของกรรมกรที่มีฐานะยากจน ครอบครัวแอนเดอร์สันย้ายที่อยู่บ่อยมากจนลูกๆ ทั้ง 7 คนเกิดไม่ซ้ำเมืองกันเลย แอนเดอร์สันเองเกิดที่เมืองแคมเดน (Camden) มลรัฐโอไฮโอ (Ohio) และใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในวัยเด็กที่เมืองไคลด์ (Clyde) ในมลรัฐนี้ เขาเรียนๆ หยุดๆ ที่โรงเรียนในเมืองไคลด์ เพราะต้องทำงานหลายอย่าง อาทิ ส่งหนังสือพิมพ์ ทาสีบ้าน และทำงานในไร่ เพื่อช่วยเหลือครอบครัว จนเรียนจบระดับมัธยม จากนั้นก็ทำงานที่โรงงานผลิตเครื่องใช้ในบ้านจนถึง ค.ศ.1898 ขณะอายุ 22 ปี เขาสมัครเป็นทหารในกองทัพบกสหรัฐอเมริกา และไปประจำการที่คิวบาระหว่างสงครามสเปน-สหรัฐอเมริกา (Spanish-American War)* หลังสงครามสงบใน ค.ศ.1899 เขาเข้าเรียนที่วิตเทนเบิร์กอะคาเดมี (Wittenberg Academy) เมืองสปริงฟิลด์ (Springfield) มลรัฐโอไฮโอจนถึง ค.ศ.1900 จากนั้นก็ทำงานเป็นคนเขียนคำโฆษณา (copywriter) ที่เมืองชิคาโก (Chicago)* มลรัฐอิลลินอยส์ (Illinois) อยู่ 5 ปี แล้วออกไปทำธุรกิจหลายอย่างจนในที่สุดได้เป็นเจ้าของโรงงานผลิตสีทาบ้านที่เมืองอิลิเรีย (Elyria) มลรัฐโอไฮโอ ธุรกิจของแอนเดอร์สันประสบความสำเร็จด้วยดี แต่เขากลับไม่พอใจกับวิถีชีวิตแบบนี้ วันหนึ่งเขาจึงทิ้งโรงงานและครอบครัวไปอยู่ที่เมืองชิคาโก เพื่อหาความหมายให้กับชีวิตด้วยการอุทิศตนให้กับงานเขียน แอนเดอร์สันจึงกลายเป็นตัวแทนของผู้ที่ยอมทิ้งค่านิยมแบบวัตถุนิยมของคนชั้นกลางอเมริกันอย่างไม่ไยดี เพื่อทำงานที่ตนเองรัก

แอนเดอร์สันกลับไปทำงานเขียนคำโฆษณาที่เมืองชิคาโก ซึ่งเป็นศูนย์กลางของกวีและนักเขียนแถบตะวันตกกลาง จนเก็บเงินได้มากพอที่จะออกจากงานมาเขียนหนังสือเพียงอย่างเดียว ระหว่างอยู่ที่ชิคาโก เขาพักอยู่กับพี่ชายชื่อคาร์ล แอนเดอร์สัน (Karl Anderson) ซึ่งขณะนั้นกำลังทำงานศิลปะอยู่ที่ชิคาโก คาร์ลเป็นผู้แนะนำให้เขารู้จักกับกวีและนักเขียนหลายคนใน “กลุ่มชิคาโก” (Chicago Group) ซึ่งกำลังเริ่มมีชื่อเสียง อาทิ ฟลอยด์ เดลล์ (Floyd Dell) คาร์ล แซนด์เบิร์ก (Carl Sandburg) และเทโอดอร์ ไดรเซอร์ (Theodore Dreiser)* นักเขียนเหล่านี้ให้กำลังใจแอนเดอร์สันในการเขียนหนังสือ ทำให้เขาเริ่มส่งบทกวีและเรื่องสั้นแนวทดลองไปลงในนิตยสาร The Little Review, The Masses, Poetry และ The Seven Arts เดลล์และไดรเซอร์ยังช่วยเป็นธุระในเรื่องการจัดพิมพ์นวนิยาย 2 เรื่องแรกของแอนเดอร์สัน ที่เขาเขียนไว้ตั้งแต่ยังทำธุรกิจผลิตสีทาบ้าน ได้แก่ Windy McPherson’s Son (ค.ศ.1916) และ Marching Men (ค.ศ.1917) นวนิยาย 2 เรื่องนี้ เล่าเรื่องคนในยุคอุตสาหกรรมที่ผิดหวังกับชีวิตและค่านิยมของสังคม

เนื่องจากแอนเดอร์สันเติบโตมาในเมืองเล็กๆ เขาจึงหลงใหลตัวละครเอกในนวนิยายเรื่อง Huckleberry Finn ของมาร์ก ทเวน (Mark Twain)* หรือแซมวล เคลเมนส์ (Samuel Clemens)* เป็นพิเศษ เพราะตัวละครดังกล่าวซึ่งมีชื่อว่าฮัก ฟินน์ (Huck Finn) มีลักษณะที่ซื่อ บริสุทธิ์ และดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย แบบคนที่เติบโตมาในเมืองเล็กๆ นอกจากนี้เขายังชื่นชมภาษาแบบที่ชาวบ้านใช้พูดกันในชีวิตประจำวันในนวนิยายเรื่องนี้ด้วย ต่อมาแอนเดอร์สันยังได้รับอิทธิพลจากนักเขียนอเมริกันร่วมสมัยกับเขาชื่อเกอร์ทรูด สไตน์ (Gertrude Stein)* ทางด้านลีลาการเขียน อิทธิพลของมาร์ก ทเวน และ เกอร์ทรูด สไตน์ ส่งผลให้แอนเดอร์สันพัฒนาลีลาการเขียนที่เรียบง่าย และการใช้ภาษาที่มิใช่ภาาษาวรรณคดี แต่เป็นภาษาที่ชาวบ้านทั่วไปตามเมืองเล็กๆ ใช้พูดกัน ภาษาดังกล่าวถือกันว่าเป็นภาษาพูดของชาวอเมริกันแท้ๆ ลีลาการเขียนและการใช้ภาษาพูดแบบที่คนทั่วไปใช้ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนเทคนิคของเรื่องสั้นที่แอนเดอร์สันใช้ มีอิทธิพลอย่างมากต่อนักเขียนอเมริกันที่มีชื่อเสียงที่สุดหลายคนในยุคเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อนักเขียนรางวัลโนเบลชาวอเมริกัน ชื่อ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway)* และวิลเลียม ฟอล์กเนอร์ (William Faulkner)* ฟอล์กเนอร์เองเคยให้สัมภาษณ์นิตยสาร Paris Review ใน ค.ศ.1956 ยกย่องให้แอนเดอร์สันเป็นบิดาของนักเขียนอเมริกันร่วมสมัย และเป็นผู้สร้างแบบแผนการเขียนวรรณคดีอเมริกันที่คนรุ่นหลังจะยึดถือเป็นแบบอย่างต่อไป แอนเดอร์สันจึงมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อทิศทางของวรรณคดีอเมริกันในคริสต์ศตวรรษที่ 20 แม้ว่าผลงานของเขาจะไม่โด่งดังเท่ากับผลงานของนักเขียนร่วมสมัยอย่างเฮมิงเวย์และฟอล์กเนอร์ซึ่งได้รับอิทธิพลจากผลงานของเขา

นอกเหนือจากภาษาและลีลาการเขียน เแอนเดอร์สันยังพัฒนาแก่นเรื่องที่มีลักษณะเฉพาะของวรรณคดีอเมริกัน และถ่ายทอดตัวตนของชาวอเมริกันแท้ๆ ที่ปราศจากกลิ่นอายของยุโรป แอนเดอร์สันเองเติบโตมาในเมืองบ้านนอกแถบตะวันตกกลางในตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เขาจึงชื่นชมความสุขของเด็กในชนบท และชิวิตในเมืองเล็กๆ สมัยที่ยังใช้ม้ากันอยู่ แอนเดอร์สันเก็บภาพของสังคมชนบทอเมริกันช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่กำลังก้าวไปสู่สังคมอุตสาหกรรมไว้ในผลงานของเขา ในขณะที่ตัวเขาเองกลายเป็นตัวแทนของคนอเมริกันที่ต้องทำงานจำเจอยู่ตามโรงงาน เพราะเขาคิดว่าเป็นหน้าที่ของนักเขียนที่จะต้องปลุกเพื่อนร่วมชาติให้ตื่นขึ้นมาแสวงหารูปแบบชีวิตที่มีความหมายมากกว่านี้

ตัวละครในผลงานของแอนเดอร์สันเป็นชาวชนบทในเมืองเล็กๆ ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีบุคลิกทื่อๆ และหดหู่สิ้นหวังเพราะถูกบีบคั้นจากอารยธรรมที่เครื่องจักรเป็นใหญ่ แอนเดอร์สันเองเกลียดชังเครื่องจักร เพราะเขาเห็นว่าเครื่องจักรเป็นตัวแทนของความร่ำรวยทางวัตถุที่ฟอนเฟะ และการมีชีวิตอยู่ตามมาตรฐานที่สังคมกำหนดไว้ ทำให้พลังพื้นฐานในตัวมนุษย์ไม่อาจสำแดงออกมาได้ สำหรับแอนเดอร์สันสังคมอุตสาหกรรมอัปลักษณ์พอๆ กับสงครามในโลกสมัยใหม่



แอนเดอร์สันเขียนนวนิยายทั้งหมด 7 เรื่อง ทั้งนี้นักวิจารณ์มีความเห็นไม่ตรงกันว่านวนิยายเรื่องใดของเขาประสบความสำเร็จมากที่สุด นวนิยายของแอนเดอร์สันมักแสดงให้เห็นความยากจน ความเหงา และความสิ้นหวังของคนในเมืองเล็กๆ ในยุคอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับเรื่องสั้นของเขา ดังเห็นได้ในนวนิยายเรื่อง Marching Men (ค.ศ.1917) และ Poor White (ค.ศ.1920) ในขณะที่เรื่อง Many Marriages (ค.ศ.1923) สะท้อนให้เห็นปัญหาทางด้านกามารมณ์ของคนในสังคมอุตสาหกรรม โดยน่าจะมีที่มีจากปัญหาของแอนเดอร์สันเอง เนื่องจากในชีวิตจริงแอนเดอร์สันก็แต่งงานหลายครั้ง กล่าวคือครั้งแรกแต่งงานกับคอร์เนเลีย แพรตต์ เลน (Cornelia Pratt Lane) ใน ค.ศ.1904 แล้วหย่าขาดจากเธอใน ค.ศ.1916 หลังจากมีลูกด้วยกัน 3 คน จากนั้นก็ได้แต่งงานใหม่อีก 3 ครั้ง ครั้งสุดท้ายใน ค.ศ.1944 กับเอลิเนอร์ โคเพนฮาเวอร์ (Eleaner Copenhaver)

ในนวนิยายเรื่อง Dark Laughter (ค.ศ.1925) แอนเดอร์สันเปรียบเทียบชีวิต 2 แบบ คือชีวิตที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อนแต่มีความสุข ซึ่งเขาใช้คนผิวดำอเมริกันในยุคของเขาเป็นสัญลักษณ์ กับชีวิตที่แห้งแล้งและยึดวัตถุนิยมของคนที่ถือตัวว่ามีอารยธรรมสูงส่งกว่า ซึ่งเขาใช้ตัวละครผิวขาวเป็นสัญลักษณ์ เรื่อง Beyond Desire (ค.ศ.1932) เป็นเรื่องราวการต่อสู้ดิ้นรนของกรรมกรโรงงานทอผ้าในมลรัฐทางใต้

นักวิจารณ์เห็นพ้องกันว่าวรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นเป็นผลงานที่ดีที่สุดของแอนเดอร์สัน เรื่องสั้นเหล่านี้ทำให้แอนเดอร์สันมีชื่อเสียงและมีอิทธิพลต่อนักเขียนร่วมสมัยมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสั้นที่รวมอยู่ในหนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มแรกของเขา ชื่อ Winesburg, Ohio (ค.ศ.1919) เรื่องสั้นแต่ละเรื่องที่รวมอยู่ในหนังสือเล่มนี้มีความสัมพันธ์กัน โดยแอนเดอร์สันให้ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์หนุ่มชื่อจอร์จ วิลลาร์ด (George Willard) ซึ่งโตมาในเมืองไวเนสเบิร์ก มลรัฐโอไฮโอ เป็นตัวเชื่อม ทำให้คนอ่านเห็นภาพชีวิตที่เงียบเหงาและหดหู่สิ้นหวังของคนในเมืองเล็กๆ อย่างเมืองไวเนสเบิร์ก ผ่านสายตาของนักข่าวผู้นี้ เรื่องสั้นของแอนเดอร์สันต่างจากเรื่องสั้นอเมริกันทั่วไปในยุคเดียวกัน กล่าวคือในขณะที่เรื่องสั้นทั่วๆ ไปเน้นโครงเรื่องและการกระทำของตัวละคร แต่เรื่องสั้นของแอนเดอร์สันกลับเน้นความรู้สึกนึกคิดของคนตามเมืองเล็กๆ แถบตะวันตกกลางที่มีแต่ความเงียบเหงา แอนเดอร์สันจึงเป็นนักเขียนอเมริกันคนแรกๆ ที่นำทฤษฎีจิตวิเคราะห์โดยเฉพาะอย่างยิ่งทฤษฎีของซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) นักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 20 มาใช้วิเคราะห์สภาพจิตใจและการกระทำของตัวละคร

หนังสือรวมเรื่องสั้นของแอนเดอร์สันยังมีอีกหลายเล่ม อาทิ The Triumph of the Egg (ค.ศ.1921) ซึ่งเป็นเล่มที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขาถัดจากเรื่อง Winesburg, Ohio ในหนังสือเล่มนี้มีเรื่องสั้นที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขาหลายเรื่อง อาทิ The Egg และ I Want to Know Why นอกจากนี้ยังมีหนังสือรวมเรื่องสั้นชื่อ Horses and Men (ค.ศ.1923) Death in the Woods and Other Stories (ค.ศ.1933) และอีกหลายเล่ม นอกเหนือจากนวนิยายและเรื่องสั้น แอนเดอร์สันยังเขียนบทละครไว้หลายเรื่อง แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าเรื่องสั้น อาทิ Winesburg (แสดงใน ค.ศ.1934) Above Suspicion (นำมาแสดงเป็นละครวิทยุใน ค.ศ.1941) นอกจากนี้ยังมีข้อเขียนที่นำมารวมพิมพ์เป็นเล่มอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเขียนเชิงอัตชีวประวัติของแอนเดอร์สันในหนังสือชื่อ A Story Teller’s Story (ค.ศ.1924) Tar: A Midwest Childhood (ค.ศ.1926) Sherwood Anderson’s Notebook (ค.ศ.1926) และหนังสือที่พิมพ์เผยแพร่หลังจากเขาถึงแก่กรรมไปแล้ว ชื่อ Sherwood Anderson’s Memoirs (ค.ศ.1942) ผลงานดังกล่าวสะท้อนให้เห็นทัศนะของแอนเดอร์สันเกี่ยวกับชีวิตและวรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นและนวนิยายได้เป็นอย่างดี

หลังจากมีชื่อเสียงในวงวรรณกรรม แอนเดอร์สันอพยพไปอยู่ที่เมืองนิวออร์ลีนส์ (New Orleans) มลรัฐลุยเซียนา (Louisiana) ระหว่าง ค.ศ. 1923-1924 เขาใช้ช่วงเวลานี้เขียนเรื่องสั้นไปลงตามนิตยสารต่างๆ หลายฉบับ ได้แก่ The Masses, The Little Review, The Seven Arts, The Nation และ The New Republic ต่อมาใน ค.ศ.1925 เขาไปตั้งรกรากอยู่ที่ฟาร์มแห่งหนึ่งใกล้กับเมืองแมเรียน (Marion) ในมลรัฐเวอร์จิเนีย (Virginia) และได้เป็นผู้พิมพ์หนังสือพิมพ์ประจำเมืองนี้ 2 ฉบับ ชื่อ Smyth Country News และ Democrat ในช่วงกลางทศวรรษ 1930 แอนเดอร์สันเดินทางไปตามเมืองต่างๆ ในสหรัฐอเมริกาหลายเมือง เพื่อรายงานสภาพความเป็นอยู่ของชาวอเมริกันในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression)*

เชอร์วูด แอนเดอร์สันถึงแก่กรรมที่เมืองโคโลน (Colon) ประเทศปานามา (Panama) เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1941 ขณะอายุ 65 ปี.
(กุลวดี มกราภิรมย์)

(ตีพิมพ์ใน สารานุกรมประวัติศาสตร์สากล : อเมริกา เล่ม 1 อักษร A – B ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2547.)

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย