เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>
โรคที่สำคัญของถั่วเหลือง
กองเกษตรสัมพันธุ์
โรคที่สำคัญที่พบในการปลูกถั่วเหลืองและทำความเสียหายให้แก่ผลผลิตถั่วเหลืองทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ
คือ โรคใบจุดนูนและโรคราสนิมซึ่งมักจะปรากฏอาการที่ใบของถั่วเหลือง
ดังนั้นเกษตรกรควรทราบลักษณะอาการ และวิธีการป้องกันกำจัดอย่างถูกต้อง
เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับถั่วเหลืองได้
โรคใบจุดนูน
ลักษณะอาการในระยะแรกจะพบจุดเล็ก ๆ สีเขียวอ่อนเกิดขึ้นทั้งทางด้านใต้ใบ
และด้านบนใบ ต่อมาจุดเล็ก ๆ เหล่านี้จะค่อย ๆ ขยายใหญ่ขึ้น มีรูปร่างไม่แน่นอน
ตรงกลางจะนูนขึ้นเล็กน้อย เนื้อใบบริเวณรอบรอยแผลมักจะมีขอบสีเหลือง
และถ้าถั่วเหลืองเป็นโรคนี้รุนแรง ก็จะทำให้ใบร่วง
โรคใบจุดนูนจะแพร่ระบาดได้ดีในสภาพที่มีอากาศค่อนข้างร้อน มีฝนตก ลมแรง
และมักจะพบระบาดรุนแรงในถั่วเหลืองพันธุ์ สจ.1, สจ.2, สจ.3, สจ.4 และ สจ.5
การป้องกัน
- ในแหล่งที่พบการระบาดของโรคนี้เป็นประจำ ควรปลูกถั่วเหลืองพันธุ์ที่ต้านทานโรคใบจุดนูน ได้แก่ พันธุ์สุโขทัย 1 หรือนครสวรรค์ 1
- ควรไถพรวนกลบซากพืชให้ลึก หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว
- ไม่ควรปลูกถั่วเหลืองแน่นหรือชิดเกินไป
- หากพบการเกิดโรคมาก โดยเฉพาะในระยะออกดอกถึงติดฝักอ่อน ควรฉีดพ่นด้วยสารเคมีป้องกันและกำจัดเชื้อราประเภทสารประกอบทองแดง เช่น คอปเปอร์ออกซี่คลอไรด์ เป็นต้น ตามอัตราส่วนที่กำหนดไว้ในฉลาก
โรคราสนิท
ลักษณะอาการในระยะแรกจะพบจุกเล็ก ๆ สีน้ำตาลเทาใต้ใบ
โดยเริ่มจากใบที่อยู่ด้านล่างของลำต้นก่อน
ต่อมาจุดนี้จะขยายขึ้นมีลักษณะนูนคล้ายมีผงสีสนิมเหล็ก
เมื่อใช้มือลูบที่บริเวณจุดนูนเหล่านี้จะพบผงสปอร์ (ส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อรา)
สีคล้ายสนิมเหล็กติดมือมา อาการดังกล่าวนี้นอกจากจะพบด้านใต้ใบแล้ว
ยังพบได้ที่ส่วนอื่น ๆ เช่น กิ่ง ก้าน ลำต้นและด้านบนใบ
แต่จะเห็นได้ชัดที่ด้านใต้ใบถั่วเหลืองที่เป็นโรคนี้อย่างรุนแรง ใบจะเหลือง
แห้งร่วงก่อนกำหนด ฝักและเมล็ดมีขนาดเล็ก ผลผลิตลดลง
การป้องกัน
- ใช้ถั่วเหลืองพันธุ์ต้านทานต่อโรคราสนิม เช่น พันธุ์เชียงใหม่ 60, สจ.4 และ สจ.5
- หลีกเลี่ยงการปลูกถั่วเหลืองในช่วงปลายฤดูฝน
- ไม่ควรปลูกถั่วเหลืองซ้ำในพื้นที่เดิมตลอดปี
- ในช่วงระยะออกดอกและเริ่มมีฝักเล็ก ควรหมั่นตรวจแปลง หากพบอาการของโรคราสนิมและสภาพอากาศเหมาะสมกับการเกิดโรค ควรใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดเชื้อราฉีดพ่น เช่น แมนโคเซ็ป หรือไตรอะดิมีฟอน อย่างใดอย่างหนึ่งฉีดพ่นตามอัตราส่วนที่กำหนดไว้ในฉลาก
เรียบเรียงโดย : อรพิน ถิระวัฒน์ และ วิโรจน์ สุนทรภัค และ จันทนา
บุญประภาพิทักษ์ กองป้องกันและกำจัดศัตรูพืช
จัดทำ : อัญชลี สวจิตตานนท์ กองเกษตรสัมพันธุ์