สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

มานุษยวิทยา

การเปลี่ยนแปลงของแนวทฤษฎีที่ศึกษาวัฒนธรรมแบบองค์รวม และพัฒนาการแนวทฤษฎีในสาขาย่อยของมานุษยวิทยาสังคมและวัฒนธรรม

ในช่วงระหว่างปลายทศวรรษ 1960 ถึง 1980 สาขาย่อยของมานุษยวิทยาสังคม และวัฒนธรรม เช่น มานุษยวิทยาการเมือง มานุษยวิทยาเศรษฐกิจ มานุษยวิทยานิเวศน์ มานุษยวิทยาสัญลักษณ์และการดำรงชาติพันธุ์ (ethnicity) ได้แตกแขนงและพัฒนาการแนวทฤษฎีร่วม เพราะในยุคสมัยดังกล่าวการศึกษาทางมานุษยวิทยาแม้ว่าจะยังเน้นที่ชุมชนขนาดเล็ก และใช้วิธีการเก็บข้อมูลโดยสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วมเป็นหลัก แต่จะมีจุดเน้นมากขึ้น เช่น การศึกษาระบบการเมืองที่ยังคงรักษาประเพณีศึกษาซึ่งคำนึงถึงการเกี่ยวข้องกับระบบย่อยอื่นๆ ผลที่ตามมาก็คือได้ไปรับอิทธิพลความคิดหรือทฤษฎีจากสาขาวิชาที่ใกล้เคียง และแนวทฤษฎีก็จะมีลักษณะเฉพาะประเด็นมากขึ้น มิใช่เป็นแนวทางที่จะอธิบายสังคมและวัฒนธรรมโดยรวมอีกต่อไป (ยกเว้นแนวทฤษฎีบางแนว เช่น neo-marxism) ส่วนมานุษยวิทยาสัญลักษณ์ (symbolic anthropology) ซึ่งสนใจระบบคิดก็เป็นสาขาย่อยหนึ่งที่แตกแขนงออกมาและมีอิทธิพลทางความคิดในมานุษยวิทยา

สำหรับวงการศึกษาทางมานุษยวิทยาในประเทศไทยก็จะเห็นได้ว่ามีความเคลื่อนไหวในเรื่องของแนวคิดทฤษฎีเช่นกัน ล่าสุด ดร.สุเทพ สุนทรเภสัช กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงแนวคิดทฤษฎีทางมานุษยวิทยากับการนำมาใช้อธิบายบริบททางสังคมและวัฒนธรรมไทย เมื่อครั้งการเสวนาว่าด้วยเรื่อง “คนเมืองในบริบทที่เปลี่ยนแปลง” จัดโดยคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2543 ว่า “ในวงการของมานุษยวิทยามีการเปลี่ยนแปลงจุดยืนและความสนใจที่สำคัญอยู่ตลอดเวลา จากเดิมที่เคยสนใจทฤษฎีของการพัฒนา (Developmentalism) และวัตถุนิยม (Materialism) ซึ่งมีอิทธิพลครอบงำตั้งแต่ทศวรรษที่ 1950 เป็นต้นมา ในทศวรรษที่ 1970 และ 1980 ได้หันกลับมาสนใจแนวความคิดทฤษฎีทางวัฒนธรรม (Culturalism) และบรรพกาลนิยม (Primitivism) มากยิ่งขึ้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ใช่เรื่องของการพัฒนาทางวุฒิปัญญาหรือความก้าวหน้าทางทฤษฎี แต่เป็นการเปลี่ยนจุดความสนใจโดยทั่วไป ดังจะเห็นได้ว่านักมานุษยวิทยาอย่างเช่น มาร์แชล ซาฮ์ลินส์ ซึ่งเคยสนใจเกี่ยวกับวิวัฒนาการของรัฐและลำดับชั้นทางการเมือง ผู้เป็นเจ้าของทฤษฎีกำหนดนิยมทางเทคโนโลยีและนิเวศน์ (Technological and Ecological Determinism) ได้เปลี่ยนแนวทางมาเป็นนักทฤษฎีกำหนดนิยมทางวัฒนธรรม (Cultural Determinism) ผู้มองไม่เห็นพัฒนาการความเจริญก้าวหน้าของอารยะธรรมโลก ดังนั้นถ้าจะถือว่าในตอนปลายทศวรรษของปี ค.ศ. 1950 และ 1960 เป็นยุคอิทธิพลครอบงำของทฤษฎีวัตถุนิยมทางวัฒนธรรม (Cultural Determinism) โบราณคดีแนวใหม่ (New Archeology) มานุษยวิทยามาร์กซิสต์ (Marxist Anthropology) และมานุษยวิทยาการพัฒนา (Development Anthropology)

เมื่อมาถึงสมัยปัจจุบัน นักมานุษยวิทยาได้หันมาสนใจประเด็นทางวัฒนธรรมที่มองวัฒนธรรมเหมือนกับหนังสือ (Culture as Text) ที่จะต้องตีความหรือแปลความหมาย ให้ความสนใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมกับอัตลักษณ์ และวัฒนธรรมกับประวัติศาสตร์ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากทฤษฎีสัมพัทธ์นิยมทางวัฒนธรรม (Cultural Relativism) และบรรพกาลนิยม (Primitivism) ที่น่าสนใจก็คือประวัติศาสตร์จากหลักฐานที่ปรากฏในยุโรป อเมริกาและในภูมิภาคอื่นๆของโลก ได้หันมาสู่มานุษยวิทยาทางประวัติศาสตร์ (Historical Anthropology) ซึ่งมีแนวความคิดความพยายามที่จะกลับไปสู่อดีตสร้างสังคมวัฒนธรรมของตัวเองขึ้นมาใหม่”

แดเนียล เบลล์ นักสังคมวิทยาชั้นนำของอเมริกัน ได้ให้ภาพไว้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงแนวความคิดทฤษฎีของนักมานุษยวิทยาอเมริกัน โดยเริ่มต้นจากการรณรงค์เกี่ยวกับพัฒนาการทางสังคม แล้วค่อยๆเปลี่ยนจากแนวความคิดการเมืองฝ่ายซ้ายไปสู่การเมืองฝ่ายขวา จากการเมืองของชั้นทางสังคมไปสู่อุดมการณ์ของสมัย “สิ้นยุคอุดมการณ์” จากนั้นก็ไปสู่สมัยหลังสังคมอุตสาหกรรม ความขัดกันทางวัฒนธรรมของระบบทุนนิยม จนถึงปัจจุบันที่มีความต้องการถ้าเป็นไปได้ที่จะกลับคืนไปสู่อดีตทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ตามประเพณีดั้งเดิมที่ต้องสูญเสียไปเมื่อเกิด “ลักษณะยุคหลังสมัยใหม่” (Postmodernity) ของระบบอุตสาหกรรมปัจจุบัน จุดของความสนใจได้เปลี่ยนจากชั้นสังคม (Class) ไปสู่ลักษณะทางชาติพันธุ์ (Ethnicity) จากชั้นสังคมไปสู่วัฒนธรรมและจากลักษณะของเหตุผล (Rationality) ไปสู่ความต้องการศาสนา (อ้างถึงในสุเทพ สุนทรเภสัช 2543)

เท่าที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงในบริเวณศูนย์อำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจของโลกที่เป็นผลมาจากความล้มเหลวของรัฐชาติที่ดำเนินนโยบายตามกรอบการพัฒนาแห่งชาติ (National and ethnic Fragmentation) ในบริเวณศูนย์กลางมีการเรียกร้องหรือเคลื่อนไหวที่จะแยกตัวเป็นอิสระหรือมีสิทธิ์มีส่วนในการปกครองตนเองและการกำหนดอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมใหม่ ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลกในบริเวณศูนย์กลางของอำนาจทางการเมืองของยุโรป อเมริกา และได้ขยายมาถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงให้ และประเทศไทยด้วย (สุเทพ สุนทรเภสัช 2543)

ขบวนการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้จุดความสนใจของนักมานุษยวิทยารวมทั้งนักสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์อื่นๆ หันมาให้ความสนใจแนวความคิดทฤษฎีทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมทางวุฒิปัญญาที่กล่าวข้างต้น ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นโดดเดี่ยวตามลำพังแต่ได้เกิดขึ้นพร้อมๆกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองวัฒนธรรม (Cultural Politics) ซึ่งเป็นการเมืองของการต่อสู้เรียกร้องที่จะเป็นอิสระทางการเมืองหรือมีสิทธิ์มีส่วนในการปกครองท้องถิ่น การยืนยันในความเป็นไทของปัจเจกชนในระบบคุณค่าตามประเพณี ต่อต้านอำนาจครอบงำของระบบการบริหารและทุนนิยมรวมศูนย์ และความพยายามที่จะสร้างความกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวทางสังคมวัฒนธรรมของรัฐที่มีอำนาจครอบงำ

» ความเป็นมาของวิชามานุษยวิทยา

» ความหมายและขอบข่ายของวิชามานุษยวิทยา

» สาขาย่อยของวิชามานุษยวิทยาและตัวอย่างงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

» ชาติพันธุ์วรรณา

» มานุษยวิทยาภาคสังคม

» ชาติพันธุ์วิทยาหรือมานุษยวิทยาวัฒนธรรม

» การศึกษามานุษยวิทยาในประเทศไทยและสาขาวิชาอื่นที่เกี่ยวข้อง

» ประโยชน์ของวิชามานุษยวิทยา

» แนวคิดและทฤษฎีทางมานุษยวิทยา

» การเปลี่ยนแปลงของแนวทฤษฎีที่ศึกษาวัฒนธรรมแบบองค์รวมฯ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย