สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

ประชาคมโลก (Global Community)

คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

ระบบกฎหมายของโลก

ทศพร มูลรัตน์

กฎหมายสิบสองโต๊ะ (The Twelve Tables Law)

ได้เริ่มจัดทำขึ้นเมื่อปี 450 ก่อนคริสต์ศักราช โดยรวบรวมกฎหมายที่มีความสำคัญและรู้จักกันอย่างกว้างขวางในสมัยนั้น เข้าเป็นหมวดหมู่ในรูปของการจารึกไว้บนโต๊ะทองเหลือง เพื่อนำไปตั้งไว้ใกล้กับที่สาธารณะกลางเมือง กฎหมายนี้ได้มีบทบัญญัติที่ครอบคลุมถึงกฎเกณฑ์ที่ควบคุมความประพฤติของสังคมโดยอาศัยจารีตประเพณีที่สั่งสมมาและศาสนาเป็นหลัก

สาเหตุการผลักดันให้มีการบัญญัติกฎหมายสิบสองโต๊ะเกิดจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างคน 2 ชนชั้น คือ ฝ่าย Patricians ซึ่งเป็นชนชั้นสูงได้แก่พวกผู้ปกครองและข้าราชการชั้นสูง และฝ่าย Plebeians ซึ่งเป็นชนชั้นที่ถูกปกครอง ได้แก่ ชาวนา ช่างฝีมือ พ่อค้าวานิช รวมทั้งเชลยศึก คนต่างด้าวและทาส ซึ่งในการออกกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายหรือการชี้ขาดตัดสินคดีเป็นอำนาจของ Patricians ทั้งสิ้น ก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่พวก Plebeians ซึ่งไม่มีโอกาสได้ทราบว่ากฎหมายที่ใช้มีอยู่อย่างไร ได้มีการเรียกร้องให้นำกฎหมายเหล่านั้นมาเขียนให้ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร จนในราว 450 ปีก่อนคริสต์ศักราช จึงได้ทำการรวบรวมจารีตประเพณี ที่ใช้เป็นกฎหมายอยู่ในขณะนั้นบันทึกลงบนแผ่นทองเหลือง 12 แผ่น ตั้งไว้ในที่สาธารณะใจกลางเมือง อาจกล่าวได้ว่าเป็นการเริ่มต้นของหลักการที่ว่ากฎหมายควรเป็นสิ่งซึ่งเปิดเผยให้คนทั่วไปได้รู้ได้เห็นและศึกษาหาเหตุผลได้

  • โต๊ะที่  1    โต๊ะที่  2 และ โต๊ะที่  3 เป็นเรื่องเกี่ยวกับวิธีพิจารณาความแพ่งและการบังคับคดี เช่น
    — ถ้าหากคู่ความฝ่ายใดไม่มาศาลก่อนเที่ยงวัน ก็ให้ศาลพิพากษาให้คู่ความฝ่ายที่มาศาลชนะคดี
    — ถ้าหากคู่ความฝ่ายใดหาพยานไม่ได้ก็ให้ร้องตะโกนดังๆ ที่ประตูบ้านของตนเพื่อแสวงหาพยาน
    — ในคดีที่จำเลยยอมรับใช้หนี้สินหรือในคดีที่ศาลได้พิพากษาให้จำเลยใช้เงิน ก็ให้จำเลยชำระเงินภายใน 30 วัน
  • โต๊ะที่  4 เป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจของหัวหน้าครอบครัว เช่น
    — บิดาระหว่างที่มีชีวิตมีอำนาจเด็ดขาดเหนือบุตรอันชอบด้วยกฎหมาย บิดาอาจกักขังบุตรหรือเฆี่ยนตีหรือล่ามโซ่ ให้ทำงานหรือมีเหตุไม่ชอบใจจะฆ่าบุตรเสียก็ได้ ตลอดจนจะเอาบุตรไปขายเสียก็ได้
     — ทารกคลอดออกมารูปร่างผิดปกติมากจะเอาไปฆ่าเสียก็ได้
  • โต๊ะที่  5 โต๊ะที่  6   และ โต๊ะที่  7  เป็นเรื่องเกี่ยวกับมรดก และทรัพย์สิน เช่น
    — ชายผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวตายลงโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ ให้ญาติฝ่ายชายที่ใกล้ชิดที่สุดเป็นผู้สืบทอดอำนาจต่อไป
    — ถ้าชายอิสระตายลงโดยไม่มีผู้สืบสันดาน (ผู้สืบสันดาน คือ ลูก หลาน เหลน) ให้ทรัพย์สินของชายคนนั้นตกแก่ผู้อุปถัมภ์
    — ผลไม้หล่นตกไปในบ้านของผู้อื่น เจ้าของต้นผลไม้ยังคงเป็นเจ้าของผลไม้นั้นอยู่
  • โต๊ะที่  8 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการลงโทษผู้กระทำความผิดทางอาญา เช่น
    — ผู้ใดทำการโฆษณาหมิ่นประมาทว่าเขาทำผิดทางอาญาหรือทางลามกอนาจาร ให้เอาผู้นั้นไปตีเสียให้ตาย
    — ผู้ใดลักทรัพย์เวลาค่ำคืน ให้เอาไปฆ่าเสีย
    — ผู้ใดวางเพลิงบ้านเรือนเขาหรือกองข้าวสาลีของเขา ให้เอามาผูกแล้วเฆี่ยนและเผาเสียทั้งเป็น แต่ถ้าเกิดขึ้นด้วยความประมาท ให้เสียเงินค่าทำขวัญแล้วลงโทษพอควร
    — สัตว์สี่เท้าของผู้ใดเข้าไปทำให้ที่ดินเขาเสียหาย เขาจับยึดตัวสัตว์นั้นไว้เป็นของเขาได้ เว้นแต่เจ้าของสัตว์จะเสียเงินค่าไถ่ถอนกลับคืนมาตามราคาค่าเสียหาย
  • โต๊ะที่  9 เป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจของรัฐ เช่น
    — กฎหมายใดๆ จะก่อให้เป็นแต่ทางเสียหายอย่างเดียวแก่เอกชนนั้นห้ามไม่ให้มีผลบังคับใช้
    — รัฐสภาเท่านั้นที่มีอำนาจออกกฎหมายที่กระทบกระเทือนถึงสถานะของบุคคลได้
  • โต๊ะที่  10 เป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายของศาสนา เช่น
    — ห้ามไม่ให้ฝังหรือเผาศพในเขตพระนคร
    — ห้ามมิให้หญิงขีดข่วนแก้ม ร้องไห้เกรียวกราวในงานศพ
  • โต๊ะที่  11 และ โต๊ะที่  12 เป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายเพิ่มเติม เช่น
    — ห้ามมิให้บุคคลต่างชั้นวรรณะทำการสมรสกัน
    — เมื่อทาสทำการลักทรัพย์ หรือทำให้เกิดความเสียหายแก่เขา นายทาสต้องรับชดใช้ค่าเสียหายหรือส่งมอบตัวทาสให้เขาไป
    — กฎหมายที่ออกมาภายหลังย่อมยกเลิกกฎหมายเดิมที่มีข้อความขัดแย้งกัน  

อ่านต่อ >>>

» มนุษย์ภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก

» ภูมิศาสตร์และสภาวะแวดล้อมโลก

» สถานการณ์ด้านสังคมและวัฒนธรรม

» เศรษฐกิจโลก

» การเมืองระหว่างประเทศ

» ระบบกฎหมายของโลก

» สิทธิมนุษยชนในกระแสโลกาภิวัตน์

» เทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลง

» ประชาคมโลกภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์

» บรรณานุกรม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย