ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป>>

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

5

การตีเชียงใหม่ครั้งที่ 1

            เหตุที่ต้องรบเชียงใหม่ปี พ.ศ.2314  ก็เพราะโปมะยุง่วน เจ้าเมืองเชียงใหม่คุมกองทัพยกมาตีเมืองสวรรคโลก เข้าล้อมเมืองไว้  เจ้าพระยาสวรรคโลกต่อสู้ป้องกันเมืองเป็นสามารถแล้วบอกมายังกรุง  พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีท้องตราขึ้นไปเกณฑ์กองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือขึ้นไปช่วยเมืองสวรรคโลก  เจ้าพระยาสุรสีห์ พระยาพิชัย และพระยาสุโขทัย  จึงยกกองทัพขึ้นไปยังเมืองสวรรคโลกเข้าตีขนาบพม่าซึ่งตั้งล้อมเมืองอยู่  พม่าต้านทานมิได้ก็แตกพ่ายหนีกลับไปเมืองเชียงใหม่  พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระราชดำริว่า  ถ้าไม่ปราบปรามเมืองเชียงใหม่ให้ราบคาบ  หัวเมืองฝ่ายเหนือก็คงจะถูกพม่ารบกวนร่ำไป  จึงเกณฑ์กองทัพยกขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่  พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเป็นแม่ทัพยกกองทัพไปทางชลมารค  ไปตั้งชุมพลที่เมืองพิชัย  แล้วยกกองทัพบกออกทางเมืองพิชัยไปยังเมืองเชียงใหม่  ให้เจ้าพระยาสุรสีห์เป็นนายทัพคุมพลหัวเมืองฝ่ายเหนือยกล่วงหน้าไปก่อน   ฝ่ายโปมะยุง่วนจัดกองทัพยกออกมาตั้งค่ายรับนอกเมือง  ถูกกองทัพหน้าของไทยตีแตกพ่ายกลับเข้าเมือง  แต่ไทยจะตีหักเอาเมืองเชียงใหม่ไม่ได้  เพราะโปมะยุง่วนสู้รบต้านทานเป็นสามารถ  พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีพระราชดำรัสว่า

            “อันเมืองเชียงใหม่นี้ต้องทำนายอยู่  คำปรัมปราเล่าสืบ ๆ กันมาว่า  กษัตริย์องค์ใดยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่นี้  ครั้งเดียวไม่สำเร็จต่อยกไปครั้งที่สองจึงจะตีได้  แม้นจะบุกรุกหักหาญเอาด้วยกำลังกล้าบัดนี้คงได้แต่จะเสียไพร่พลมาก  และยกมาครั้งนี้ก็ยังจะได้ดูท่วงทีท่าทางและกำลังข้าศึกก็เห็นประจักษ์อยู่แล้ว  ถ้ายกมาครั้งหลังเห็นคงจะได้ถ่ายเดียว”ครั้นแล้วพระเจ้ากรุงธนบุรีก็เลิกทัพกลับคืนกรุงธนบุรี

รบเขมรครั้งที่ 2

            ครั้น พ.ศ.2314  เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงสร้างป้อมปราการกรุงธนบุรีเรียบร้อยแล้ว ก็เริ่มคิดการที่จะไปตีประเทศเขมรคืนให้นักองรามาธิบดีให้สำเร็จ  ประจวบกับเหตุที่สมเด็จพระนารายณ์ราชา (นักองตน)เจ้ากรุงกัมพูชาได้ข่าวว่า พม่ายกกองทัพมารบไทยทางเมืองเหนือ  คาดว่าไทยจะแพ้พม่า  เห็นได้ทีจัดกองทัพให้มาตีเมืองตราดและเมืองจันทบุรี  แต่ถูกกองทัพเมืองจันทบุรีตีแตกกลับไป  พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงขัดเคืองเขมร  จึงโปรดฯ ตั้งให้พระยายมราช เป็นเจ้าพระยาจักรีแทนเจ้าพระยาจักรี (แขก) และให้เป็นแม่ทัพบกยกทัพไปเมืองปราจีนบุรี  พาพระรามราชา (นักองรามาธิบดี) ไปในกองทัพสำหรับให้เกลี้ยกล่อมพวกเขมรด้วย  ให้ตีเมืองพระตะบอง  โพธิสัตว์และพุทไธเพชร  ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าของขอม ส่วนพระองค์ยกทัพเรือออกทะเลทางปากน้ำเมืองสมุทรปราการ  ไปประทับที่ปากน้ำเมืองจันทบุรี  ให้พระยาโกษาธิบดีกองหน้ายกไปตีเมืองกำพงโสมก่อน  ต่อมาอีกหกวันพระองค์ก็ยกกองทัพหลวงไปตีเมืองบันทายมาศได้  ตัวเจ้าเมืองเป็นญวนชื่อพระยาราชาเศรษฐีได้หลบหนีออกจากเมืองไปได้  จึงตั้งให้พระยาพิพิธผู้ช่วยราชการกรมท่าเป็นพระยาราชาเศรษฐี  ครองเมืองบันทายมาศ  แล้วเสด็จยกกองทัพไปตีเมืองพุทไธเพชรต่อไป

            ฝ่ายกองทัพเจ้าพระยาจักรีก็ตีได้เมืองพระตะบอง เมืองโพธิสัตว์และเมืองบริบูรณ์  แล้วไปตีเมืองพุทไธเพชร  นักองตนเห็นจะสู้รบต้านทานมิได้  ก็พาไพร่พลและครอบครัวหนีไปเมืองญวน  กองทัพไทยก็ตีได้เมืองพุทไธเพชรได้โดยง่าย  พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมอบราชสมบัติประเทศเขมรให้นักองรามาธิบดีครอบครองตามเดิม และให้เจ้าพระยาจักรีและพระยาโกษาธิบดีอยู่ช่วยราชการจนกว่าจะสงบราบคาบ  แล้วก็เลิกทัพกลับกรุง  ครั้งต่อมาเจ้าเมืองบันทายมาศคนก่อนที่หนีไปนั้น  ไปส้องสุมผู้คนได้มากแล้วยกมาตีเมืองบันทายมาศ  แต่ในที่สุดก็ต้องแพ้กลับไป  พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเห็นว่า เมืองบันทายมาศอยู่ล่อแหลมมาก  จะรักษาไว้ได้ยาก ป่วยแรงทแกล้วทหาร  จึงเรียกพระยาราชาเศรษฐี  เจ้าพระยาจักรีและพระยายมราชกลับกรุง

การตีเชียงใหม่ครั้งที่ 2

            ในปี พ.ศ.2315  ขณะที่พระเจ้ากรุงธนบุรีเสร็จศึกเขมรใหม่ ๆ  โปสุพะลาแม่ทัพพม่าซึ่งมาช่วยอยู่รักษาเมืองเชียงใหม่ยกกองทัพมาตีเมืองลับแลแตกแล้วก็ยกเลยลงมาตีเมืองพิชัย  พระยาพิชัยจัดการป้องกันเมืองเป็นสามารถ  และเจ้าพระยาสุรสีห์ก็ยกกองทัพขึ้นไปช่วยด้วย  ไทยกับพม่าได้รบกันถึงอาวุธสั้น  พม่าต้านทานไม่ได้ก็แตกพ่ายเลิกทัพกลับไปเมืองเชียงใหม่

            ครั้นต่อมาใน พ.ศ.2316  โปสุพะลายกกองทัพมาตีเมืองพิชัยอีก  พระยาพิชัยและเจ้าพระยาสุรสีห์ยกไพร่พลออกไปตั้งซุ่มสกัดอยู่ ณ ที่มีชัยภูมิกลางทาง  พอกองทัพพม่ายกมาถึง  เจ้าพระยาสุรสีห์กับพระยาพิชัยออกระดมตี  เมื่อเข้าประจัญบาน  พระยาพิชัยถือดาบสองมือคุมไพร่พลออกไล่ฟันพม่าอย่างเก่งกล้าจนดาบหัก  จึงได้สมญาว่า“พระยาพิชัยดาบหัก” พม่าสู้ไม่ได้ก็แตกพ่ายถอยหนีกลับเชียงใหม่  พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระราชดำริว่า  พม่ายกกองทัพมาย่ำยีหัวเมืองฝ่ายเหนือไม่หยุดหย่อน  จำจะต้องยกกองทัพไปตีเชียงใหม่ให้ได้อย่างเด็ดขาด  จึงเกณฑ์กองทัพฝ่ายเหนือและในกรุงรวมกำลังทั้งหมดประมาณ 35,000 คน  ไปตั้งชุมพลอยู่ที่บ้านระแหงแขวงเมืองตาก

            ฝ่ายพระเจ้ามังระเมื่อทราบว่า  พระยาตากตั้งตัวขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินเมืองไทย  สร้างกรุงธนบุรีเป็นราชธานี  ก็คิดจะปราบปรามเมืองไทยที่ตั้งตัวขึ้นใหม่เพื่อมิได้ตั้งตัวติด  จึงตระเตรียมเกณฑ์กองทัพเพื่อจะให้ยกมารบไทย  คือจะให้โปสุพะลาเป็นแม่ทัพยกลงมาจากเมืองเชียงใหม่ทางหนึ่ง  และปะกันหวุ่นเป็นแม่ทัพยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ทางหนึ่ง  ตีหัวเมืองเข้ามาประจบกันที่กรุงธนบุรี  ในคราวนี้ปะกันหวุ่นได้รับสั่งให้เกณฑ์ไพร่พลพวกมอญให้ทำทางที่ยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ และเกณฑ์มอญเข้ากองทัพเป็นอันมาก  พวกมอญไม่พอใจพม่าก็เกิดกบฏลุกลามใหญ่โต  มีพระยาเจ่งเจ้าเมืองเตริน (อัตรัน)เป็นหัวหน้ากบฏ  พระเจ้าอังวะจึงให้อะแซหวุ่นกี้ถือพลมาปราบปรามหัวเมืองมอญที่กบฏ  พวกมอญก็พากันหลบหนีเข้ามาในเขตแดนไทยเนือง ๆ  ฝ่ายไทยก็ยินดีรับมอญหนีมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร

            พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเห็นว่า  การที่มีเหตุวุ่นวายเกิดขึ้นในแดนมอญเช่นนี้เป็นผลดีแก่ไทย  เพราะทำให้พม่ายกเข้ามาตีเมืองไทยยังไม่มีช่อง  ควรจะชิงตีเมืองเชียงใหม่ตัดกำลังพม่าเสียทางหนึ่งก่อน  จึงยกกองทัพไปประชุมอยู่ที่เมืองตากมีจำนวน 15,000  และดำรัสให้เจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพหน้าคุมไพร่พลหัวเมืองฝ่ายเหนือยกขึ้นไปรบเชียงใหม่  พร้อมด้วยเจ้าพระยาสุรสีห์มีจำนวน 20,000  ขณะที่กองทัพไทยยกขึ้นไปถึงเมืองนครลำปางนั้น  พระยาจ่าบ้านและพระยากาวิละ  ขุนนางเมืองนครลำปาง  ซึ่งเป็นแม่ทัพหน้าของพม่ามาขอสวามิภักดิ์เข้าด้วยกองทัพไทย  พอกองทัพไทยยกไปถึงเมืองเชียงใหม่ก็เข้าล้อมเมืองไว้  พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ยกหนุนตามขึ้นไปทีหลัง  เสมียนตราของเจ้าพระยาสวรรคโลกได้เกลี้ยกล่อมชาวเมืองลำพูนและเชียงใหม่มาเข้าด้วยกองทัพไทยเป็นอันมาก พระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดฯ ให้คัดเลือกเอาชายฉกรรจ์ไปเข้ากับกองทัพเจ้าพระยาจักรี

            ฝ่ายพม่าเมืองเชียงใหม่ยกกองทัพออกตั้งค่ายรบนอกเมืองอย่างสามารถ  ถูกกองทัพเจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ตีแตกถอยเข้าเมือง  โปสุพะลา โปมะยุง่วนเห็นว่า  จะสู้ไม่ได้ก็ทิ้งเมืองพาครอบครัวหนีออกไปทางประตูช้างเผือกด่านค่ายเจ้าพระยาสวรรคโลกซึ่งยังตั้งไม่เสร็จ  กองทัพไทยก็ได้เมืองเชียงใหม่และไล่ติดตามฆ่าฟันพม่าล้มตายและชิงครอบครัวพลเมืองกลับคืนมาได้เป็นอันมาก  ครั้นเมื่อเสร็จศึกแล้ว  เจ้าพระยาสวรรคโลกต้องรับพระราชอาญาเฆี่ยน 50 ที  และถูกจำคุกด้วย  การที่เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ตีเมืองเชียงใหม่แตกได้รวดเร็วเช่นนี้  พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระโสมนัสยกพระหัตถ์ก็ตบพระเพลาทั้งสองข้าง  ดำรัสสรรเสริญเจ้าพระยาทั้งสองว่า“นี่ จะว่าพี่ดี หรือน้องดีกว่ากันไฉน ครั้งนี้”

            ก่อนพระเจ้ากรุงธนบุรีจะยกกองทัพกลับกรุง  ทรงตั้งให้พระยาจ่าบ้านเป็นพระยาวิเชียรปราการครองเมืองเชียงใหม่  พระยาลำพูนเป็นพระยาวัยวงศาครองเมืองลำพูน  พระยากาวิละเป็นพระยาครองนครลำปาง  และให้เจ้าพระยาจักรีอยู่ช่วยจัดการบ้านเมืองทั้งปวงให้ราบคาบเป็นปกติก่อน  การรบครั้งนี้ได้พาหนะและเครื่องศัสตราวุธของข้าศึกเป็นเหตุให้ไทยได้หัวเมืองสำคัญ ๆ ในล้านนา มีเมืองน่าน เมืองลำพูน เมืองนครลำปาง และเมืองแพร่ กลับมาอยู่ในอาณาจักรไทยตั้งแต่ พ.ศ.2317 เป็นต้นมาตราบเท่าทุกวันนี้

หน้าถัดไป >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย