ศิลปะ หัตถกรรม สถาปัตยกรรม ประติมากรรม สันทนาการ >>

พื้นฐานแนวคิดเกี่ยวกับศิลปะไทย

         ศิลปะไทยมีลักษณะเฉพาะเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง สืบทอดต่อเนื่องกันมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานจากอดีตที่ผ่านมาจวบจนปัจจุบัน มีการรับอิทธิพลทางด้านศาสนา และคติความเชื่อ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คลี่คลายการสร้างรูปแบบให้เหมาะสมสอดคล้องกับสังคมแต่ละยุคสมัยอยู่ตลอดเวลา ตามเงื่อนไขและปัจจัยต่าง ๆ เป็นเครื่องกำหนด บางสิ่งก็ดำรงอยู่ บางสิ่งหยุดชะงักการสืบทอด บางสิ่งเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต บางสิ่งถูกสร้างขึ้นใหม่บนพื้นฐานของอดีต อย่างไรก็ตามเหตุแห่งการเกิดปรากฏการณ์เหล่านั้นแสดงให้เห็นว่ามีแนวคิดหรือคติเกี่ยวกับจักรวาลเป็นกรอบบังคับแฝงอยู่อย่างแน่นอน

จักรวาลที่มนุษย์อาศัยอยู่เป็นหน่วยหนึ่งของอนันตจักรวาลที่ไร้ขอบเขต แต่ละจักรวาลมีสภาพเหมือนกันทั้งสิ้น จักรวาลประกอบไปด้วยพื้นพิภพ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ เขาพระสุเมรุเป็นแกนกลาง มีเขาสัตตบริภัณฑ์ล้อมรอบ เขาแต่ละลูกมีความสูงเป็นครึ่งหนึ่งของทิวก่อน เขาพระสุเมรุและเขาสัตตบริภัณฑ์ถูกล้อมรอบโดยสีทันดรสมุทรแผ่กว้างติดขอบกำแพงจักรวาล รอบนอกเขาสัตตบริภัณฑ์มีทวีปใหญ่สี่ทวีป ทวีปเล็กอยู่ระหว่างทวีปใหญ่สี่ทวีป ทวีปใหญ่ทั้งสี่เป็นที่เกิดของมนุษย์ มนุษย์แต่ละทวีปมีลักษณะเฉพาะตน แต่เฉพาะในชมพูทวีปเท่านั้นที่เป็นแดนอุบัติของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระเจ้าจักรพรรดิ ในส่วนของทวีปใหญ่ได้แก่

  • อุตตรกุรุทวีป (มีสีเหลืองเหมือนทอง) ตั้งอยู่ทางทิศเหนือเขาพระสุเมรุ สัณฐานดุจสี่เหลี่ยม ต้นไม้ประจำคือ “ต้นกัลปพฤกษ์ (กัปปรุขา)”
  • ชมพูทวีป (มีสีเหลืองเหมือนแก้วอินทนิล) ตั้งอยู่ทางทิศใต้ สัณฐานดุจวงรี ต้นไม้ประจำคือ “ต้นหว้า” มีไหล่ทวีปเป็นป่าหิมพานต์
  • บุพพมิเทหทวีป (มีสีเหมือนเงิน) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก สัณฐานดุจวงกลม ต้นไม้ประจำคือ “ต้นสีเสียด”
  • อมรโคยานทวีป (มีสีเหมือนแก้วผลึกรัตนะ) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก สัณฐานดุจจันทร์เสี้ยว ต้นไม้ประจำคือ “ต้นกมทพะ”

จักรวาลอยู่รวมกันเป็นกลุ่มๆ ละสามจักรวาลกระจายทั่วไปอยู่ในห้วงอวกาศ แต่ละจักรวาลมีภูเขาหินแกร่งชื่อจักรวาลกัปปล้อมรอบแต่ละจักรวาลเท่าที่แสงสว่างจะส่องถึง พื้นที่ว่างระหว่างกลางของสามจักรวาล ซึ่งภูเขาหินแกร่งสัมผัสกันเป็นโลกันตมหานรก จักรวาลแต่ละแห่งตั้งอยู่บนอวกาศเรียก อชฏากาศ ลมตั้งอยู่บนอวกาศ น้ำตั้งอยู่บนลม ผืนพิภพที่เป็นหินแกร่งและหินซุยตั้งอยู่บนน้ำ

จากระบบความคิดความเชื่อ การรับรู้เกี่ยวกับจักรวาล ได้มีการนำไปเป็นแนวคิดแม่บทในการดำเนินชีวิตประจำวัน เกี่ยวกับการตอบสนองความต้องการพื้นฐานทางด้านร่างกาย และจิตใจ ถ่ายทอดเป็นศิลปกรรมไทยแขนงต่างๆ เช่น จิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม และประณีตศิลป์ตั้งแต่อดีต จวบจนปัจจุบัน

ไตรภูมิกล่าวถึงโลกมนุษย์ว่าเป็นภูมิแห่งเดียวเท่านั้นที่การประกอบกรรมของมนุษย์มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่สภาพในภพภูมิอื่น ๆ กล่าวคือผู้ประกอบกุศลกรรมในมนุษยภูมิจะทำให้ได้เสวยสุคติภูมิในแดนเทวโลกและพรหมโลก หรืออาจเข้าสู่นิพพานได้ ในทางตรงกันข้ามนุษย์ผู้ประกอบอกุศลกรรมในมนุสสภูมิ จะทำให้ไปสู่อบายภูมิ ภพภูมิจำแนกออกเป็นสามส่วน ได้แก่ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ ในส่วนของกามภูมิ (แดนของสัตว์ที่เกี่ยวข้องอยู่ในกาม) แบ่งเป็น 11 ภูมิย่อย รูปภูมิ (แดนของพรหมมีรูป) แบ่งเป็น 16 ภูมิย่อย อรูปภูมิ (แดนของพรหมไม่มีรูป) แบ่งเป็น 4 ภูมิย่อย

สัตว์ที่เวียนว่ายตายเกิดในไตรภูมิ คือโยนิปฏิสนธิเกิดในภูมิทั้ง 31 นั้น จำแนกการมีโยนิปฏิสนธิออกได้เป็น 4 ลักษณะ ได้แก่ อัณฑชโยนิ คือสัตว์อันเป็นแต่ไข่เป็นต้นว่า งู ไก่ นก ปลา ชลามพุชโยนิ คือสัตว์อันเป็นแต่ปุ่มเปือก แลมีรกรากหุ้มห่อ เป็นต้นว่า ช้าง ม้า วัว คน สังเสทชโยนิ คือ สัตว์อันเป็นแต่ใบไม้และระอองดอกบัวและหญ้าเน่า เนื้อเน่า เหงื่อไคล เป็นต้นว่า หนอน แมลง ยุง ปลา อุปปาติกโยนิ คือเกิดเป็นตัวเป็นตนใหญ่แล้วที่เดียว เป็นต้นว่าพรหม เทวดา สัตว์นรก

ศาสนาจักรและคติการสร้างสัญลักษณ์แทนองค์พระพุทธเจ้า >>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย