ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อารยธรรม >>
ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ที่สำคัญในจังหวัดลำพูน







ประเพณีปอยหลวง
คำว่า ปอย เป็นภาษาพม่าแปลว่า งานที่มีคนชุมกัน
ถ้ามีคนชุมกันน้อยเราเรียกว่า ปอยน้อย ถ้ามีคนชุมกันมากเราเรียกว่า ปอยหลวง
ในที่นี้คำว่า ปอยหลวง จึงได้แก่ งานมหกรรม นั่นเอง
ล้านนาไทยมีประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่โบราณว่า
เมื่อสร้างสิ่งที่เป็นสาธารณะประโยชน์ขึ้นเสร็จแล้ว
หรือสิ่งที่เป็นถาวรวัตถุถวายพระภิกษุสงฆ์เสร็จแล้วจะจัดให้มีการฉลองสิ่งนั้นอีกครั้งหนึ่ง
เรียกว่า ปอยหลวง สิ่งที่เราจะต้องจัดปอยหลวง
1. อุโบสถ
2. วิหาร
3. ศาลา
4. กำแพง
5. กุฏิ (โบราณไม่ปอยหลวง)
6. หอธรรม (หอไตร)
7. ตอนหลังเพิ่มสิ่งที่เป็นสาธารณะประโยชน์เข้ามาด้วยเช่นโรงเรียน ถนนหนทาง
โรงพยาบาล ฯลฯ
เมื่อทางวัดได้ก่อสร้างสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่กล่าวแล้ว เสร็จเรียบร้อยบริบูรณ์
ก็จะประชุมศรัทธาผู้อุปัฏฐากของวัด (ซึ่งมีอยู่ประจำทุก ๆ วัด เรียกว่า
ศรัทธาวัดนั้นวัดนี้เป็นต้น) เพื่อปรึกษาหารือเรื่องจะมีงานฉลอง
การประชุมกันเช่นนี้ย่อมมีฝ่ายที่เห็นด้วย และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยต้องลงมติกัน
ฝ่ายไหนชนะมีจำนวนมากกว่า ก็ทำตามฝ่ายนั้น
เรื่องที่จะลงมติกันมักอยู่ในเรื่องจะปอยหลวงหรือไม่ หรือจะทานสังฆ์ (ตานสังฆ์)
การทานสังฆ์
เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ก็อยากจะอธิบายให้ทราบถึงเรื่อง ทานสังฆ์
ให้เป็นที่เข้าใจกัน สังฆ์ คืออะไร ? คนภาคอื่นอาจเข้าใจว่าเป็น พระสงฆ์
ความจริง สังฆ์ ในที่นี้หมายถึง ไทยธรรมที่จะถวายทานแก่พระสงฆ์
การทานสังฆ์ก็คือการถวายทานไทยธรรมแก่สงฆ์นั่นเอง
ถ้ามติตรงกัน จะทานสังฆ์ งานการที่จะจัดก็ลดความใหญ่โตมโหฬารลง คือ
ไม่มีการละเล่น ไม่มีการแห่ครัวทานไม่จำเป็นต้องมีการแผ่นาบุญให้แก่ญาติพี่น้อง
เพียงนิมนต์พระสงฆ์ภายในตำบลมารับไทยธรรม
เจริญพระพุทธมนต์ให้เป็นมงคลแก่สิ่งปลูกสร้างตามธรรมเนียม
แล้วทานสังฆ์แก่พระสงฆ์เป็นเสร็จพิธี
ส่วนศรัทธาของวัดนั้นก็ไม่จำเป็นจะต้องทำครัวทานใหญ่ ๆ
เพียงแต่เตรียมทำสังฆ์สักลูกหนึ่งแบกไปวัดเท่านั้น
แต่ว่าทุกหลังคาเรือนของวัดนั้น
มักจะต้องเป็นศรัทธาสังฆ์ใส่ยอดตามเจตนาหลังคาละ 1 สังฆ์เป็นอย่างน้อย
เงินรายได้จากการทานสังฆ์จะไม่ต้องนำไปใช้จ่ายเป็นค่าการละเล่นเหมือนงานปอยหลวง
ทางวัดมักจะได้รับเงินเป็นกอบเป็นกำ ทางบ้านก็ไม่สิ้นเปลืองด้วย
การเลี้ยงดูญาติพี่น้อง นับเป็นประเพณีปอยหลวงอย่างประหยัด ได้ผลดีเหมือนกัน
งานปอยหลวง
ส่วนงานปอยหลวงนั้น เป็นงานใหญ่เป็นงานมหกรรมทีเดียว
มีประเพณีทำสืบต่อกันมาแต่โบราณ
เข้าใจว่าจะยึดเอาแบบอย่างของนางวิสาขามหาอุบาสิกา ซึ่งสร้างวัดชื่อ บุพพาราม
ถวายพุทธเจ้าในพุทธกาล
ตามตำนานกล่าวว่าวัดนั้นวิจิตรงดงามเหลือหลายเมื่อสร้างแล้วนางจัดให้มีงานฉลองที่ครึกครื้น
ส่วนนางวิสาขาเองเกิดปิติพาลูกหลานฟ้อนรอบวิหาร
เข้าใจว่าจะเป็นดังกล่าวจึงเป็นต้นเหตุให้เกิดงานปอยหลวงขึ้น
หลังจากสร้างสิ่งถาวรถวายแก่พระสงฆ์ มีการฟ้อนรำเป็นการสมโภช
แม้ว่าความมุ่งหมายจะแปรไปในทางสนุกสนานก็ตามที ก็ยังเชื่อว่า
เป็นประเพณีที่ดีงามอยู่เมื่อตกลงกันว่าจะปอยหลวงแล้ว
ทางวัดก็ต้องจัดแจงตระเตรียมหลายอย่าง เช่น
1. ทำความสะอาดวัดซ่อมแซมส่วนอื่นของวัดให้ดีขึ้น
2. ขออนุญาติจากเจ้าคณะ
3. พิมพ์ใบฎีกา นิมนต์หัววัดที่เคยทำบุญถึงกัน
4. ตั้งกรรมการดำเนินงานทุกแผนก เช่นแผนกต้อนรับ แผนกทำอาหาร แผนกการเงิน
เป็นต้น
ส่วนทางบ้านศรัทธาของวัดนั้น เมื่อตกลงจะมีงานปอยหลวงแล้ว
ก็ตระเตรียมทำบ้านช่องให้สะอาด บอกข่าวแก่ญาติพี่น้องลูกหลานที่อยู่ไกลให้ทราบ
เพื่อมาร่วมทำบุญด้วยกัน งานปอยหลวงจึงเป็นการนัดชุมนุมญาติหลาย ๆ
เพราะอยู่ที่ไหนเมื่อวัดเดิมของตัวมีงาน ย่อมจะมาร่วม ยกเว้นแต่ผู้ที่ลำบากจริง
ๆ ที่ไม่อาจมาได้ เมื่อบอกข่าวแก่ญาติแล้วก็เตรียมครัวทาน ที่ชื่อว่า ครัวทาน
นั้น คือ สิ่งของที่จะนำไปถวายทาน คำว่า ครัว ล้านนาไทย หมายถึง
สิ่งของเครื่องใช้ทั้งสิ้นห้องครัวคือห้องที่ใช้เก็บสิ่งของนั้นเอง
ครัวทาน ของแต่ละบ้านแห่งศรัทธาวัดนั้น
เขาจะสร้างขึ้นตามเจตนาของตนอาจทำเป็นปราสาท เป็นเรือน เป็นรูปนก ช้าง ม้า
หงส์หรือทำเป็นยอดฉัตร มีค้างมีฐานตั้งประดับประดาให้วิจิตรพิสดาร
นิยมทำกันเป็นครัวทานหลังโต ๆตั้งไว้กลางห้องโถงไม่นิยมเอาวัตถุไว้ใต้ถุนบ้าน
เพราะถือว่าเป็นของทานของสูง
ใช้เวลากว่าครึ่งเดือนในการทำครัวทานนี้สิ่งใดที่สวยงามตามความเข้าใจของเขา
เขาจะนำมาประดับครัวทาน บางบ้านก็ซื้อ ตู้ โต๊ะ เก้าอี้ ธรรมาสน์ ถังน้ำ ฯลฯ
มาประดับเป็นครัวทาน เรียกกันว่าเป็นอิสระในการทำครัวทานจริง ๆ
ที่บนปลายยอดของครัวทานจะทำไม้คีบธนบัตรปักไว้ ไม่จำกัดจำนวนอีกว่าเท่าไร
แล้วแต่เจตนาอีกเช่นกัน
การทำครัวทานให้ใหญ่ มีคนสมัยใหม่บางท่านไม่เข้าใจ คือเขาเข้าใจว่า
การทำปอยหลวงก็คือทางวัดต้องการเงิน เอาเงินที่ใช้ซื้อไม้
กระดาษเอามาทำเป็นครัวทานแล้วก็ทิ้งใช้ประโยชน์ไม่ได้
สู้เอาเงินมาถวายพระดีกว่า
ถ้ามองอย่างนักเศรษฐกิจมองวัตถุก็จะเป็นเช่นคนสมัยใหม่เข้าใจ
แต่ไม่ถูกตามความหมายทางพระพุทธศาสนา การทำบุญเราต้องการบุญไม่ใช่ต้องการเงิน
บุญคือความสุข ความอิ่มใจ ความเบิกบานแห่งใจ
การที่คนโบราณนิยมให้ทำครัวทานหลังโต ๆ นั้น
โดยเฉพาะให้ตั้งไว้กลางห้องโถงบนเรือนทางล้านนาไทยมีคติถือว่า
คนไทยเมื่อใกล้จะสิ้นใจ ถ้าใจดีก็จะไปสู่สุคติ ถ้าใจชั่วก็ไปสู่ทุคติทางร้าย
เขาจะเตือนสติผู้ใกล้จะสิ้นใจว่า ให้นึกถึงของกินของทานไว้เน้อ
แล้วจะกล่าวสอนคำว่า พุทโธ เป็นการเตือนสติคนใกล้จะตาย
คนใกล้จะตายนั้นจิตสำนึกของเขาย่อมจะสับสน
ความดีความชั่วประดังประเดเข้ามาในตอนนั้นครัวทานหลังโตๆที่เคยสร้างและเคยประดิษฐานอยู่กลางห้องโถงย่อมเป็นนิมิตที่ใจจะเกาะยึดถือได้ง่าย
เพราะเป็นของใหญ่จำติดหูติดตาได้ง่าย
ข้อนี้เป็นเหตุผลประการหนึ่งของการทำครัวทาน
เหตุผลข้อที่ 2 การทำครัวทานหลังโต ๆ แบบล้านนาไทย ท่านว่าได้บุญมาก
มากกว่าเอาเงินใส่ซองไปถวายพระเป็นจำนวนมากเสียอีก
เพราะครัวทานที่ทำใหญ่โตสวยงามเช่นนั้นเมื่อแห่ไปตามถนนท่ามกลางสายตาแห่งคนจำนวนมาก
ผู้ใดได้เห็นก็ชมว่าสวยงาม
พลอยชื่นชมยินดีร่วมด้วยผู้นั้นย่อมได้บุญร่วมกับเจ้าภาพสำเร็จด้วยอนุโมทนา
นี้เป็นเหตุผลข้อที่ 2
การที่ผู้ใดเป็นเจ้าภาพสร้างทำประดิษฐ์ครัวทาน
จะใช้เวลานานเท่าใดก็ตามระหว่างเวลาที่กำลังกระทำอยู่นี้
ชื่อว่ามีจิตเป็นบุญกุศล
มีแต่บุญกุศลเท่านั้นที่ไหลวนเวียนอยู่ในห้วงความคิดของเขา
เป็นการยากมากที่จะดึงอารมณ์ปุถุชนให้เพลิดเพลินด้วยบุญกุศลเช่นนี้ได้
นอกจากมีสิ่งล่อให้เช่นสร้างครัวทานเป็นต้น
เหตุผลทั้ง 3 ประการที่กล่าวมานี้ เป็นเหตุให้เกิดประเพณีปอยหลวงขึ้น
เพื่อให้พวกเราได้ปฏิบัติสืบต่อกันมา
นับเป็นวิธีอุบายวิธีอันฉลาดที่จูงใจคนเข้าสู่ธรรมโดยไม่รู้ตัว
แม้ในสมัยปัจจุบันนี้ความหมายจะแปรไปเพราะความไม่เข้าใจ
หรือรู้ไม่ถึงความมุ่งหมายของประเพณีอย่างน้อยที่สุดก็ยังเลือกความดีที่มองเห็นอยู่
คือเป็นที่รวมญาติและเป็นการประกาศตัวให้คนอื่นรู้ว่าเป็นชาวพุทธ
การแห่พระมหาอุปคุตด์
ในสมุดข่อยหรือพับลั่นตำราเรียนธรรมของล้านนาไทย ท่านกล่าวไว้ว่า
พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตยู่ 4 องค์ คือ
พระอุปคุตต์อยู่ในโลหะปราสาทในสมุทรทิศเหนือ 1 พระสารมัตตะอยู่ในปราสาททิศเหนือ
พระสกโสสาระอยู่ในปราสาททิศตะวันออก 1 พระเมธาระอยู่ในโลหปราสาทสมุทรทิศตะวันตก
1 และกล่าวถึงพระอรหันต์ที่นิพพานไปแล้ว แต่ร่างกายไม่เน่าเปื่อยอีก 4 องค์ คือ
พระมหากัสสปะอยู่ใน
เขาเวภารบรรพต 1 พระมหาสุภระอยู่ในเขาอุตตมะ 1 พระอุปักขายะอยู่ในเขามกุระ
1 พระธรรมสาระอยู่ในเขามิสสกะ 1 ในพระอรหันต์ 4 องค์ที่ยังมีชีวิตอยู่
ชาวล้านนาไทยคุ้นเคยกับพระมหาอุปคุตต์มาก
แม้แต่เด็ก ๆ ก็รู้จักชื่อท่าน
เพราะวันใดเป็นวันเดือนเพ็ญตรงกับวันพุธท่านว่า
พระมหาอุปคุตต์จะออกมาบิณฑบาตผู้ใดได้ใส่บาตรท่าน
จะประสบโชคดีในวันนั้นทีเดียว ทางจังหวัดเชียงใหม่ยังถือปฏิบัติกันอยู่ใน
ปัจจุบันนี้ เรื่องของท่าน พระมหาอุปคุตต์นี้เลื่องลือมาก
ก็ตอนที่พระเจ้าอโศกมหาราชฉลองพระธาตุแปดหมื่นสี่พันหลัง
ปรากฏว่ามีพระยามารมารบกวนทำให้งานฉลองครั้งนั้นยุ่งยากปั่นป่วน ไม่เป็นที่สงบ
พระเจ้าอโศกมหาราชได้นิมนต์ มาช่วยมัดพระยามารไว้ ไม่ให้ออกไปรบกวนงาน
งานฉลองครั้งนั้นจึงดำเนินไปอย่างสงบ
จนเสร็จงานเป็นเวลาเดือนหนึ่งจึงได้ปล่อยพระยามารไป
ที่เล่ามาข้างบนนี้เป็นประวัติย่อของพระอุปคุตต์
คนล้านนาไทยรู้เรื่องท่านดังกล่าวด้วยเหตุนี้เมื่อจะมีงานทำบุญปอยหลวงกัน
ก็เจริญรอยตามแบบของพระเจ้าอโศกมหาราช คือต้องทำคานหามมีพานดอกไม้
แห่ฆ้องกลองไปเป็นขบวน มุ่งหน้าสู่ท่าน้ำ
จะเป็นท่าน้ำที่ไหนก็ได้เมื่อไปถึงท่าน้ำแล้ว
อาจารย์จะเป็นผู้กล่าวคำอาราธนานิมนต์พระมหาอุปคุตต์คนที่ไปทั้งหมดก็ประนมมือฟังไปด้วย
ใจความคำว่านิมนต์ก็ว่า จะมีงานฉลอง
เกรงว่าจะมีเหตุเภทภัยโดยลูกน้องพระยามารจะมากลั่นแกล้ง ทำให้งานไม่ราบรื่น
ขออาราธนานิมนต์ท่านมหาอุปคุตต์เถระเจ้า ไปช่วยคุ้มครองป้องกัน
แล้วก็ให้คนใดคนหนึ่งลงไปในแม่น้ำ
งมไปตามบริเวณนั้นได้ก้อนหินสักก้อนหนึ่งก็สมมุติเป็นพระมหาอุปคุตต์เอาวางไว้บนคานหาม
แล้วก็แห่กลับคืนมาสู่วัด
ในวัดที่มีการปอยหลวงนั้น ถ้าท่านสังเกตจะเห็นว่ามีวิหารเล็ก ๆ
หลังหนึ่ง ทำขึ้นชั่วคราวในนั้นจะมีเครื่องอัฐบริวารครบ
ส่วนมากวิหารน้อยหลังนี้จะตั้งอยู่หน้าวิหารใหญ่
ที่นี่แหละเป็นที่อยู่ของท่านมหาอุปคุตต์
ซึ่งเขาไปนิมนต์ท่านมาจากแม่น้ำมาประดิษฐานไว้ในวิหารนี้ ถ้ามีคำถามแทรกเข้ามา
ก้อนหินที่แห่มาสมมุติเป็นท่านมหาอุปคุตต์จะช่วยคุ้มครองงานได้อย่างไร
พึงตอบว่าเมื่อคนที่เป็นศรัทธาของวัดนั้นไปพร้อมกับอาราธนานิมนต์ท่าน
เพื่อขอท่านมาช่วยคุ้มครองรักษาก็เท่ากับว่าศรัทธาวัดนั้นต้องการความสงบ
เมื่อเจ้าถิ่นสงบ คนต่างถิ่นก็ยากที่จะมายุ่ง
การกระทำเช่นนี้เป็นไปตามจิตวิทยาถ้าตั้งใจทำจริง ๆ
โดยความพร้อมเพรียงกันย่อมได้ผลอย่างแท้จริง
การทานทุง (การตานตุง)
ก่อนจะถึงงานสัก 2-3
วันจะเป็นวันนัดทานทุง(ตานตุง)
โดยศรัทธาของวัดนั้นเป็นผู้สร้างทุงถวายใครจะทานก็ได้ไม่ทานก็ได้
แต่ส่วนมากจะทานกัน
เมื่อจะมีงานฉลองวันทานทุงนี้ทำตอนเช้ามีพิธีทำบุญตักบาตรแล้วก็เวนทานทุง
เมื่อเสร็จแล้ว ทุงของใครของมันเขาจะนำมาฝังค้าง(เสาไม่ไผ่)สูง 3-4 วา
ฝังเป็นระเบียบเป็นแนวจากหน้าวัดออกไปสู่สองฟากถนนที่จะเข้ามาหาวัด
บางคนทานทุงมาก จะปักฝังออกมาไกล-จากวัด เราขี่รถผ่านทุงนี้มีที่ไหน
ก็รู้ว่าวัดแถวนั้นจะมีงานหรืองานปอยหลวง
การสร้างทุงถวายทาน เป็นคตินิยมของคนล้านนาไทยมาแต่โบราณ ด้วยความเข้าใจว่า
เมื่อตายไปแล้วได้ไปตกนรกก็ดี
ชายทุงที่ตัวเคยทานไว้นั้นอาจช่วยกวัดเอาวิญญาณพ้นจากนรกหรืออาจช่วยปัดสิ่งร้าย
ๆทั้งหลายให้ห่างตัวไป
จะสังเกตเห็นตามถนนหนทางที่มีรถวิ่งเป็นประจำเขาจะปักทุงส่วนมากสีแดงไว้
จะมีกองทรายใบตองแห้ง ๆ อยู่พึงรู้ว่าตรงนั้นมีคนตายโหง
การที่เขาทานทุงปักทุงไว้ตรงนั้น
เพราะเข้าใจว่าชายทุงนั้นจะช่วยกวัดวิญญาณของคนตายไปเกิดในที่ชอบ
ไม่ให้เป็นอสูรกายผีร้ายอยู่ที่นั้น
สมัยโบราณจริงๆท่านให้ทานทุงเหล็กทุงทอง
อุทิศส่วนกุศลไปหาผู้ที่ตายไปเป็นเปรต เป็นอสูรกาย
สามารถช่วยเหลือให้หลุดพ้นจากภาวะนั้นได้ เรื่องนี้ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ชื่อ
พลสังขยา เป็นเรื่องยาวจะนำมาเล่าก็เห็นว่าทำให้เรื่องนี้ยาวเกินไป
ผู้อยากทราบพึงหาอ่านเอาเอง มีตามวัดวาอารามตามลานนาไทย
วันแรกของงานปอยหลวง
วันแรกนี้ตอนเช้าทำบุญตักบาตรตามประเพณี
ตลอดวันนี้จะเป็นวันครัวทานที่จะทานหาคนตายเข้า
ครัวทานเหล่านี้ส่วนมากจะเป็นเรือนมีเครื่องพร้อม หรือสิ่งของอื่น ๆ
ที่เขาคิดว่าควรแก่ผู้ตาย เขาจะนำครัวทานเข้าวัดนี้ทั้งสิ้น
ที่นิยมให้เอาครัวทานอุทิศหาคนตายมาเข้าในทานวันแรกนี้
ก็เพราะเหตุว่าสมัยโบราณนั้นเครื่องใช้เกี่ยวกับงานฉลอง เป็นต้นว่า ถ้วย ชาม
เสื่อ หม้อแกง ครกพริก ฯลฯ เป็นของใช้ที่มีไม่มาก
เพื่อให้ได้สิ่งของเหล่านี้ในงานไปเลย
จึงกำหนดให้ครัวทานชนิดนี้เข้าทานในวันแรก
ถ้างานนั้นมีครัวทานเข้าวันเดียวหรือ 2 วัน
วันแรกเช้านี้จะมีหัววัดทั้งหลายแห่ครัวทานเข้ามาทานด้วย
แล้วแต่ทางวัดจะกำหนดนัดมา
วันต่อมาก็เป็นวันครัวทานหัววัดหรือชาวบ้านแห่เข้ามา
ทางวัดได้จัดเจ้าหน้าที่ต้อนรับไว้ จะมีคนถือพานดอกไม้ ถือโคนโทใส่น้ำ
กั้นสัปทน คอยต้อนรับอยู่ ที่หน้าวัดนิยมทำร้านสูงเสมอกำแพงมุมเรียบร้อย
เพื่อให้ฆ้องกลองอยู่คอยแห่รับครัวทาน
ที่ปรำหน้าวัดหรือในวัดจะจัดช่างฟ้อนของวัดคอยฟ้อนต้อนรับครัวทานเหมือนกัน
เมื่อครัวทานหัววัดแห่ไปถึง
คนถือสัปทนก็จะนำสัปทนไปกั้นให้พระที่นำครัวทานมา คอยรินน้ำจากโคนโทถวายท่าน
ผู้ที่ถือพานดอกไม้ก็นำพานดอกไม้มาถวายท่าน เป็นการนิมนต์เพื่อให้เข้าไปในวัด
พิณพาทย์ฆ้องกลองบนร้านที่ประตูวัดก็แห่ต้อนรับช่างฟ้อนของวัดก็จะออกมาฟ้อนรับ
เป็นที่สนุกสนานมาก บางวัดก็มีการฟ้อนรำนำขบวนน่าสนุกสนานมาก
หรือแสดงการละเล่นต่าง ๆ มา
วันสุดท้ายของงาน
ทุกวันตอนเช้าจะมีการทำบุญตักบาตรเป็นประจำ
เพื่อที่จะนำข้าวที่ศรัทธามาใส่บาตรไว้เลี้ยงแขกในตอนกลางวัน
ตอนสายครัวทานก็แห่แหนเข้ามา
ตามหมู่บ้านของศรัทธาจะมีญาติพี่น้องลูกหลานมาค้างคืนเพื่อร่วมทำบุญ
ตั้งแต่วันก่อนงาน หรือระหว่างงานก็มี สาย
ๆมาพวกญาติพี่น้องที่ไม่มานอนจะมาฮอมครัวคือนำเงินมารวมเป็นต้นมาร่วมทำบุญกับเจ้าภาพ
จะมีการเลี้ยงของหวานกันก่อน
เมื่อถึงยามเที่ยงก็เลี้ยงอาหารกันขึ้นบ้านใดก็จะรับประทานบ้านนั้น
ญาติพี่น้องที่มาฮอมครัวจะลงบ้านนั้นขึ้นบ้านนี้ จนหมดตามวงศาคณาญาติที่มีอยู่
ถึงตอนบ่ายก็แห่ครัวทานของศรัทธาวัดนั้นเข้าวัด เป็นที่สนุกสนานยิ่ง
เพราะจะมีครัวทานเต็มถนนหนทาง เสียงฆ้องกลองสนั่นหวั่นไหว กว่าจะเสร็จก็ถึงค่ำ
ตอนกลางคืนจะมาฟังเทศน์ ฟังเบิกในวัด พวกชอบการละเล่นก็ไปชมการละเล่นต่าง ๆ
ตามอัธยาศัย
การเวนทาน
รุ่งเช้าอีกวันหนึ่ง เป็นเวนทานถวายสิ่งปลูกสร้างแก่พระสงฆ์
การเวนทานนี้เป็นประเพณีอย่างหนึ่งของล้านนาไทย
ไม่ทราบว่าดำเนินการมาตั้งแต่เมื่อไร
เพราะทุกวัดจะมีอาจารย์ทำหน้าที่เวนทานประจำ ถือเป็นความจำเป็นที่ต้องมี
อาจารย์นี้มีหน้าที่เวนทานสิ่งต่างๆ ที่จะถวายแก่พระสงฆ์
ซึ่งคำที่กล่าวเวนทานเหล่านั้น
นักปราชญ์แต่โบราณได้แต่งไว้อาจารย์เหล่านี้ก็จะท่องจำไว้เพื่อกล่าวคำเวนทานในเมื่อถึงคราว
ส่วนการเวนทานปอยหลวงซึ่งนับเป็นงานใหญ่
บางทีอาจารย์วัดนั้นไม่สามารถที่จะกล่าวเวนทานให้ละเอียดได้ก็จะไปเชิญอาจารย์จากที่อื่นมากล่าวเวนทาน
อาจารย์ที่ได้เชิญมาเช่นนี้เรียกว่าเป็นอาจารย์พิเศษมีการแต่งการเวนทานให้เหมือนกัณฑ์เทศน์ของพระ
ประชาชนให้การเคารพนับถือมาก จะมากล่าวเวนทานสิ่งที่ฉลองนั้นเป็นร่าย
พรรณนาคำสอนก่อนเป็นเบื้องแรก กล่าวประวัติวัดมาพอสังเขป
แล้วกล่าวถึงสิ่งปลูกสร้างตั้งแต่เริ่มต้นมา จนมีงานฉลองมีความจริงเป็นอย่างไร
ก็นำมากล่าวเวนทานหมดเป็นที่พออกพอใจแก่ศรัทธามาก
เมื่ออาจารย์กล่าวคำเวนทานจบแล้ว ก็จะถวายสิ่งของแก่พระสงฆ์
พระสงฆ์อนุโมทนาแล้วกรวดน้ำเป็นเสร็จพิธีตอนเช้าวันนี้ก่อนจะเวนทานหลังจากการตักบาตรแล้ว
บางวัดก็เลี้ยงข้าวกันที่วัดโดยลูกหลานที่บ้านนำมาส่ง
บางวัดก็จะกลับไปรับประทานที่บ้าน เวลาประมาณ 09.00 น. ถึงจะเริ่มกล่าวเวนทาน
หมายเหตุ ประเพณีปอยหลวงที่เล่ามานี้
เป็นแบบแผนที่ปฏิบัติอยู่ในจังหวัดลำพูน จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนจังหวัดอื่น ๆ
ในภาคเหนือมีผิดแผกแตกต่างกันไปบ้าง เช่นจังหวัดเชียงรายบางอำเภอ
ครัวทานของศรัทธาวัดนั้นแห่เข้าก่อนหมด ต่อจากนั้นจึงเป็นครัวทานของหัววัดต่อมา
เขาจะแห่ครัวทานเข้าถึงตอนกลางคืน
ทางวัดที่มีงานต้องเลี้ยงข้าวเย็นเช้าค่ำแก่ศรัทธาวัดทั้งหลายที่นำครัวทานเข้าในค่ำวันนั้นจนทั่วถึง