ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

มิลินทปัญหา
ฉบับแปลในมหามกุฏราชวิทยาลัย

พาหิรกถา

          คำที่ได้กล่าวนั้นเป็นฉันใด   ดังได้สดับสืบ ๆ กันมาว่า ยังมีราชธานีหนึ่งชื่อว่าสาคลนคร เป็นที่ประชุมแห่งการค้าขาย, เป็นที่เปิดห่อหีบสินค้าต่าง ๆ ออกจำหน่ายของชนชาวโยนก, เป็นภูมิประเทศที่น่าสนุกยินดี, มีแม่น้ำและภูเขาประดับให้งดงาม, สมบูรณ์ด้วยสวนไม้มีผล ไม้มีดอก, ป่าละเมาะคลองน้ำและสระโบกขรณี, เป็นที่น่าสนุกด้วยแม่น้ำ ภูเขาและป่าไม้ อันพระเจ้าสุตวันต์บรมราชทรงสร้างไว้เป็นที่ป้องกันหมู่ปัจจามิตรไม่ให้เข้าไปเบียดเบียนได้; มีป้อมปราการมั่นวิจิตรอย่างต่าง ๆ, มีหอรบและประตูอันมั่นคง, มีคูลึก, มีกำแพงโบกปูนขาวล้อมรอบพระราชวัง, มีถนนหลวงและสนาม, ทางสี่แยก สามแยก, จำแนกปันเป็นระยะพอเหมาะดี; มีตลาดเต็มด้วยสิ่งของเครื่องใช้อย่างดีหลายอย่างต่าง ๆ ที่ตั้งขาย, มีโรงทานต่าง ๆ อย่างหลายร้อยหลังประดับให้งดงาม; อร่ามด้วยยอดเรือนหลายแสนหลังดังยอดแห่งเขาหิมาลัยประดับแล้ว, เกลื่อนกล่นด้วยพลช้างม้ารถและทหารเดินเท้า, มีหมู่ชายหญิงที่มีรูปงามเที่ยวเดินสลอน, เกลื่อนกล่นด้วยหมู่คน, มีชนที่เป็นชาติกษัตริย์ ชาติพราหมณ์ ชาติแพ.ศ.ย์ ชาติศูทร เป็นอันมากหลายชนิด, มีหมู่สมณพราหมณ์ต่าง ๆ เพศต่าง ๆ วงศ์เบียดเสียดกัน, เป็นที่อันคนมีวิชชาความรู้และผู้กล้าหาญ อยู่อาศัยแล้วเป็นอันมาก; สมบูรณ์ด้วยร้านขายผ้าอย่างต่าง ๆ : มีผ้าที่ทอในเมืองกาสีและผ้าที่ทอในเมืองกุฏุมพรเป็นต้น, หอมตลบด้วยกลิ่นหอม ที่ฟุ้งไปจากร้านขายดอกไม้หอมและเครื่องหอมหลายอย่างที่งดงาม และออกเป็นระยะอันดี; บริบูรณ์ด้วยรัตนะที่คนปรารถนาเป็นอันมาก, มีหมู่พ่อค้าที่มั่งคั่งซึ่งตั้งห้างขายของในประเทศใหญ่ในทิศนั้น ๆ เที่ยวอยู่สลอน, บริบูรณ์ด้วยกหาปณะเงินทองโลหะและเพชรพลอย, เป็นที่อยู่แห่งแร่ซึ่งเป็นขุมทรัพย์อันสุกใส มีธัญญาหารและเครื่องมือสำหรับที่เป็นอุปการให้เกิดทรัพย์สมบัติ เป็นอันมาก, มีคลังและฉางเต็มบริบูรณ์, มีข้าวน้ำและขัชชะโภชชาหารของควรดื่มของควรจิบควรลิ้มมากอย่าง, สมบูรณ์ด้วยธัญญาหารดุจกุรุทวีป, (ประกอบด้วยสมบัติเห็นป่านนี้) เหมือนเมืองสวรรค์ อันมีนามว่า อาฬกมันทาเทพนคร
      ควรหยุดไว้เพียงเท่านี้ แล้วกล่าวบุรพกรรมของพระเจ้ามิลินท์และพระนาคเสนก่อน, ก็เมื่อกล่าวควรแบ่งกล่าวเป็นหกภาค: คือ บุรพกรรมหนึ่ง, มิลินทปัญหาหนึ่ง, ลักขณปัญหาหนึ่ง, เมณฑกปัญหาหนึ่ง, อนุมานปัญหาหนึ่ง, โอปัมมกถาปัญหาหนึ่ง
      ในปัญหาเหล่านั้น: มิลินทปัญหามีสองอย่าง: คือ ลักขณปัญหาหนึ่ง,วิมติจเฉทนปัญหาหนึ่ง  แม้เมณฑกปัญหาก็มีสองอย่าง: คือ มหาวรรคหนึ่ง, โยคิกถาปัญหาหนึ่ง บุรพกรรมของพระเจ้ามิลินท์และพระนาคเสนนั้น ดังนี้: ดังได้สดับมา ในอดีตกาล เมื่อครั้งพระศาสนาแห่งพระกัสสปผู้มีพระภาคเจ้ายังเป็นไปอยู่, ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ได้อาศัยอยู่ในอาวาสใกล้แม่น้ำคงคาแห่งหนึ่ง ในภิกษุสงฆ์หมู่นั้น ภิกษุที่ถึงพร้อมด้วยวัตรและศีลลุกขึ้นแต่เช้าแล้ว, ถือไม้กราดไปกวาดลานอาวาสพลาง ระลึกถึงพุทธคุณพลาง กวาดหยากเยื่อรวมไว้เป็นกองแล้ว; ภิกษุรูปหนึ่งใช้สามเณรรูปหนึ่งว่า "ท่านจงมานำหยากเยื่อนี้ไปทิ้งเสีย" สามเณรรูปนั้นแกล้งทำไม่ได้ยินเดินเฉยไปเสีย, แม้ภิกษุนั้นร้องเรียกถึงสองครั้งสามครั้ง ก็แกล้งทำไม่ได้ยินเดินเฉยไปเสีย เหมือนอย่างนั้น ภิกษุนั้นขัดใจว่า "สามเณรผู้นี้ว่ายาก" จึงเอาคันกราดตีสามเณรนั้น สามเณรนั้นมีความกลัว, ร้องไห้พลางขนหยากเยื่อไปทิ้งพลาง, ได้ตั้งความปรารถนาเป็นประถมว่า "ด้วยบุญกรรมที่เราได้กระทำเพราะทิ้งหยากเยื่อนี้ ขอเรามีศักดาเดชานุภาพใหญ่ เหมือนดวงอาทิตย์ในเวลาตะวันเที่ยง ในสถานที่เราเกิดแล้ว ๆ กว่าจะบรรลุพระนิพพานเถิด" ครั้นทิ้งหยากเยื่อเสร็จแล้ว ไปอาบน้ำที่ท่าน้ำ, เห็นกระแสคลื่นในแม่น้ำคงคาไหลเชี่ยวเสียงดังดุจสูบ, จึงตั้งความปรารถนาเป็นครั้งที่สองว่า "ขอเรามีปัญญาว่องไวไม่สิ้นสุดดุจกระแสคลื่นแห่งแม่น้ำคงคานี้ ในสถานที่เราเกิดแล้ว ๆ กว่าจะบรรลุพระนิพพานเถิด"
      ฝ่ายพระภิกษุนั้น เก็บกราดไว้ในศาลาสำหรับเก็บกราดแล้ว, เมื่อไปอาบน้ำที่ท่าน้ำ, ได้ฟังความปรารถนาของสามเณรแล้ว, คิดว่า "สามเณรนั่น เราใช้แล้วยังปรารถนาถึงเพียงนี้ก่อน, ถ้าเราตั้งความปรารถนาบ้าง เหตุไฉน ความปรารถนานั้นจักไม่สำเร็จแก่เรา;" จึงตั้งความปรารถนาบ้างว่า "ขอเรามีปัญญาไม่สิ้นสุดดุจกระแสคลื่นแห่งแม่น้ำคงคานี้, ขอเราสามารถจะแก้ไขปัญหาที่สามเณรผู้นี้ถามแล้ว ๆ ทุกอย่าง, ในสถานที่เราเกิดแล้ว ๆ กว่าจะบรรลุถึงพระนิพพานเถิด"


      ภิกษุและสามเณรสองรูปนั้น ท่องเที่ยวอยู่ในเทวดาและมนุษย์สิ้นพุทธันดรหนึ่งแล้ว แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย ได้ทอดพระเนตรเห็นด้วยพระญาณ, เหมือนได้ทอดพระเนตรเห็นพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ, ได้ทรงพยากรณ์ไว้ว่า "เมื่อเราปรินิพพานล่วงไปได้ห้าร้อยปี ภิกษุสามเณรสองรูปนั้นจักเกิดขึ้นแล้ว, จักจำแนกธรรมวินัยที่เราได้แสดงให้สุขุมละเอียดแล้ว, กระทำให้เป็นศาสนธรรมอันตนสะสางไม่ให้ฟั่นเฝือแล้ว ด้วยอำนาจถามปัญหาและประกอบอุปมา"ในภิกษุสามเณรสองรูปนั้น สามเณรได้มาเกิดเป็นพระเจ้ามิลินท์ในสาคลราชธานี ในชมพูทวีป, เป็นปราชญ์เฉียบแหลม มีพระปัญญาสามารถ, ทราบเหตุผลทั้งที่ลวงไปแล้ว ทั้งที่ยังไม่มาถึง ทั้งที่เป็นอยู่ในบัดนั้น; ในกาลเป็นที่จะทรงทำราชกิจน้อยใหญ่ ได้ทรงใคร่ครวญโดยรอบคอบ, แล้วจึงได้ทรงประกอบราชกิจ ที่จะต้องประกอบ จะต้องจัด จะต้องกระทำ; และได้ทรงศึกษาตำหรับวิทยาเป็นอันมาก ถึงสิบเก้าอย่าง: คือไตรเพทคัมภีร์พราหมณ์ วิทยาในกายตัว วิทยานับ วิทยาทำใจให้เป็นสมาธิ พระราชกำหนดกฎหมาย วิทยาที่รู้ธรรมดาที่แปลกกันแห่งสภาพนั้น ๆ วิทยาทำนายร้ายและดี วิทยาดนตรีขับร้อง วิทยาแพทย์ วิทยาศาสนา ตำหรับพงศาวดาร โหราศาสตร์ วิทยาทำเล่ห์กล วิทยารู้จักกำหนดเหตุผล วิทยาคิด ตำหรับพิชัยสงคราม ตำรากาพย์ วิทยาทายลักษณะในกาย และภาษาต่าง ๆ, พอพระหฤทัยในการตรัสไล่เลียงในลัทธิต่าง ๆ ใคร ๆ จะโต้เถียงได้โดยยาก ใคร ๆ จะข่มให้แพ้ได้โดยยาก ปรากฏเป็นยอดของเหล่าเดียรถีย์เป็นอันมาก ในชมพูทวีปไม่มีใครเสมอด้วยพระเจ้ามิลินท์ ด้วยเรี่ยวแรงกาย ด้วยกำลังความคิด ด้วยความกล้าหาญ ด้วยปัญญา พระเจ้ามิลินท์นั้น ทรงมั่งคั่งบริบูรณ์ด้วยราชสมบูรณ์, มีพระราชทรัพย์และเครื่องราชูปโภคเป็นอันมากพ้นที่จะนับคณนา, มีพลพาหนะหาที่สุดมิได้
      วันหนึ่ง พระเจ้ามิลินท์เสด็จพระราชดำเนินออกนอกพระนครด้วยพระราชประสงค์จะทอดพระเนครขบวนจตุรงคินีเสนา อันมีพลพาหนะหาที่สุดมิได้ ในสนามที่ฝึกซ้อม, โปรดเกล้า ฯ ให้จัดการฝึกซ้อมหมู่เสนาที่ภายนอกพระนครเสร็จแล้ว, พระองค์พอพระหฤทัยในการตรัสสังสนทนาด้วยลัทธินั้น ๆ , ทรงนิยมในถ้อยคำของมหาชนที่เจรจากัน ซึ่งอ้างคัมภีร์โลกายตศาสตร์และวิตัณฑศาสตร์, ทอดพระเนตรดวงอาทิตย์แล้ว, ตรัสแก่หมู่อมาตย์ว่า "วันยังเหลืออยู่มาก, เดี๋ยวนี้ ถ้าเรากลับเข้าเมืองจะไปทำอะไร; มีใครที่เป็นบัณฑิตจะเป็นสมณะก็ตาม พราหมณ์ก็ตาม ที่เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะเป็นคณาจารย์ แม้ปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์ผู้รู้ชอบเอง ที่อาจสังสนทนากับเราบรรเทาความสงสัยเสียได้บ้างหรือ " เมื่อพระเจ้ามิลินท์ตรัสถามอย่างนี้แล้ว, โยนกอมาตย์ห้าร้อยได้กราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมหาราชเจ้า, มีศาสดาอยู่หกท่าน: คือ ปูรณกัสสป, มักขลิโคศาล, นิครนถนาฏบุตร, สัญชัยเวลัฏฐบุตร, อชิตเกสกัมพล, ปกุธกัจจายนะ, ได้เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ เป็นคนมีชื่อเสียงปรากฏ มีเกียรติยศว่าเป็นดิตถกร คือ ผู้สอนลัทธิแก่ประชุมชน; คนเป็นอันมากนับถือว่ามีลัทธิอันดี ขอพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปสู่สำนักของท่านทั้งหกนั้นแล้วตรัสถามปัญหาบรรเทากังขาเสียเถิด"
      ครั้นพระองค์ได้ทรงสดับอย่างนี้แล้ว จึงพร้อมด้วยโยนกอมาตย์ห้าร้อยห้อมล้อมเป็นราชบริวาร ทรงรถพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปยังสำนักปูรณกัสสป, ทรงปฏิสันถารปราศรัยกับปูรณกัสสปพอให้เกิดความยินดีแล้ว, ประทับ ณ สถานที่ส่วนข้างหนึ่งแล้ว ตรัสถามว่า "ท่านกัสสป, อะไรรักษาโลกอยู่ "
      ปูรณกัสสปทูลตอบว่า "แผ่นดินแล, มหาราชเจ้า, รักษาโลกอยู่" พระเจ้ามิลินท์จึงทรงย้อนถามว่า "ถ้าแผ่นดินรักษาโลกอยู่, เหตุไฉน สัตว์ที่ไปสู่อเวจีนรกจึงล่วงแผ่นดินไปเล่า " เมื่อพระเจ้ามิลินท์ตรัสถามอย่างนี้แล้ว; ปูรณกัสสปไม่อาจฝืนคำนั้นและไม่อาจคืนคำนั้น, นั่งก้มหน้านิ่งหงอยเหงาอยู่
      ลำดับนั้น จึงเสด็จพระราชดำเนินไปยังสำนักมักขลิโคศาลแล้ว, ตรัสถามว่า "ท่านโคศาล, กุศลกรรมและอกุศาลกรรมมีหรือ, ผลวิบากแห่งกรรมที่สัตว์ทำดีแล้วและทำชั่วแล้วมีหรือ "
      มักขลิโคศาลทูลตอบว่า "ไม่มี, มหาราชเจ้า ชนเหล่าใดเคยเป็นกษัตริย์อยู่ในโลกนี้, ชนเหล่านั้นแม้ไปสู่ปรโลกแล้วก็จักเป็นกษัตริย์อีกเทียว; ชนเหล่าใดเคยเป็นพราหมณ์, เป็นแพ.ศ.ย์, เป็นศูทร, เป็นจัณฑาล, เป็นปุกกุสะ, อยู่ในโลกนี้, ชนเหล่านั้นแม้ไปสู่ปรโลกแล้วก็จักเป็นเหมือนเช่นนั้นอีก: จะต้องการอะไรด้วยกุศลกรรมและอกุศลกรรม"
      พระเจ้ามิลินท์ทรงย้อนถามว่า "ถ้าใครเคยเป็นอะไรในโลกนี้ แม้ไปสู่ปรโลกแล้วก็จักเป็นเหมือนเช่นนั้นอีก, ไม่มีกิจที่จะต้องทำด้วยกุศลกรรมและอกุศลกรรม; ถ้าอย่างนั้น ชนเหล่าใดเป็นคนมีมือขาดก็ดี มีเท้าขาดก็ดี มีหูและจมูกขาดก็ดี ในโลกนี้, ชนเหล่านั้นแม้ไปปรโลกแล้วก็จักต้องเป็นเหมือนเช่นนั้นอีกนะซิ " เมื่อพระเจ้ามิลินท์ตรัสถามอย่างนี้แล้ว มักขลิโคศาลก็นิ่งอั้น
      ครั้งนั้น พระเจ้ามิลินท์ทรงพระราชดำริว่า "ชมพูทวีปนี้ว่างเปล่าทีเดียวหนอ, ไม่มีสมณะพราหมณ์ผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งสามารถจะเจรจากับเรา บรรเทาความสงสัยเสียได้" คืนวันหนึ่ง ตรัสถามอมาตย์ทั้งหลายว่า "คืนวันนี้เดือนหงายน่าสบายนัก, เราจะไปหาสมณะหรือพราหมณ์ผู้ไรดีหนอ เพื่อจะได้ถามปัญหา  ใครหนอสามารถจะเจรจากับเรา บรรเทาความสงสัยเสียได้ " เมื่อพระเจ้ามิลินท์ตรัสอย่างนี้แล้วอมาตย์ทั้งหลายได้ยืนนิ่งแลดูพระพักตร์อยู่
      สมัยนั้น สาคลราชธานีได้ว่างเปล่าจากสมณะพราหมณ์ และคฤหบดีที่เป็นปราชญ์ถึงสิบสองปี เพราะพระเจ้ามิลินท์ได้ทรงสดับว่าในที่ใดมีสมณะพราหมณ์หรือคฤบดีที่เป็นปราชญ์, ก็เสด็จพระราชดำเนินไป, ตรัสถามปัญหากับหมู่ปราชญ์ในที่นั้น; หมู่ปราชญ์ทั้งปวงนั้นไม่สามารถจะวิสัชนาปัญหาถวายให้ทรงยินดีได้, ต่างคนก็หลีกหนีไปในที่ใดที่หนึ่ง, ผู้ที่ไม่หลีกไปสู่ทิศอื่น ต่างคนก็อยู่นิ่ง ๆ ส่วนภิกษุทั้งหลายไปสู่ประเทศหิมพานต์เสียโดยมาก
      สมัยนั้น พระอรหันต์เจ้าร้อยโกฏิ () อาศัยอยู่ที่พื้นถ้ำรักขิตคุหา ณ เขาหิมพานต์ ในกาลนั้น พระอัสสคุตตเถรเจ้าได้สดับพระวาจาแห่งพระเจ้ามิลินท์ด้วยทิพยโสต (คือ หูที่ได้ยินเสียงไกลได้ดุจหูเทวดา) แล้ว, จึงนัดให้ภิกษุสงฆ์ประชุมกัน ณ ยอดเขายุคันธรแล้ว, ถามภิกษุทั้งหลายว่า "อาวุโส, มีภิกษุองค์ไดสามารถจะสังสนทนากับพระเจ้ามิลินท์ นำความสงสัยของเธอเสียได้บ้างหรือไม่ " เมื่อพระเถรเจ้ากล่าวถามอย่างนี้แล้ว พระอรหันต์เจ้าร้อยโกฏินั้นก็พากันนิ่งอยู่ พระเถรเจ้าถามอย่างนั้นถึงสองครั้ง สามครั้ง ต่างองค์ก็นิ่งเสียเหมือนอย่างนั้น
      พระเถรเจ้าจึงกล่าวว่า "อาวุโส, ในดาวดึงสพิภพพิมานชื่อเกตุมดีมีอยู่ข้างปราจีนทิศ (ตะวันออก) แห่งไพชยันตปราสาท, เทพบุตรชื่อมหาเสนได้อาศัยอยู่ในทิพยพิมานนั้น, เธอสามารถจะสังสนทนากับพระเจ้ามิลินท์นำความสงสัยของเธอเสียได้"
      ลำดับนั้น พระอรหันต์เจ้าร้อยโกฏินั้น จึงหายพระองค์จากเขายุคันธร ไปปรากฏขึ้นในดาวดึงสพิภพ
      ท้าวศักรินทรเทวราช ได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุทั้งหลายนั้นมาอยู่แต่ไกล, จึงเสด็จเข้าไปใกล้, ทรงถวายอภิวาทพระอัสสคุตตเถรเจ้าแล้ว, ประทับยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เป็นการแสดงความเคารพแล้ว, ตรัสถามว่า "พระภิกษุสงฆ์พากันมาถึงที่นี่เป็นหมู่ใหญ่ ข้าพเจ้าได้ถวายตัวเป็นอารามิกบุรุษ (คนกระทำกิจธุระในพระอาราม) ของพระภิกษุสงฆ์ไว้แล้ว ท่านจะประสงค์ให้ข้าพเจ้ากระทำกิจอะไรหรือ "
      พระเถรเจ้าจึงถวายพระพรว่า "ดูก่อนมหาราช, ในชมพูทวีปมีพระเจ้าแผ่นดินในสาคลราชธานีพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าพระเจ้ามิลินท์, เป็นคนช่างตรัสซักถามด้วยข้อความในลัทธินั้น ๆ, อันใคร ๆ จะโต้ตอบครอบงำให้ชำนะได้โดยยาก; เขากล่าวยกว่าเป็นยอดของเดียรถีย์เจ้าลัทธิเป็นอันมาก เธอเสด็จเข้าไปหาภิกษุสงฆ์แล้ว, ตรัสถามปัญหาด้วยวาทะปรารภทิฏฐินั้น ๆ, เบียดเบียนภิกษุสงฆ์ให้ลำบาก"
      ท้าวศักรินทรเทวราช ตรัสบอกพระเถรเจ้าว่า "ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า, พระเจ้ามิลินท์นั้นจุติไปเกิดในมนุษยโลกจากที่นี้เอง เทพบุตรชื่อมหาเสนซึ่งอยู่ในพิมานชื่อเกตุมดีนั่นแน่ สามารถจะสังสนทนากับพระเจ้ามิลินท์นั้น นำความสงสัยของเธอเสียได้ เราจงมาพากันไปอ้อนวอนขอให้เธอไปเกิดในมนุษยโลกเถิด" ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว, เสด็จตามพระภิกษุสงฆ์ไปถึงเกตุมดีพิมานแล้ว, ทรงสวมกอดมหาเสนเทพบุตรแล้ว, ตรัสว่า "แน่ะเจ้าผู้นิรทุกข์, พระภิกษุสงฆ์ท่านอ้อนวอนขอให้เจ้าลงไปเกิดในมนุษยโลก"
           มหาเสนเทพบุตรทูลว่า "ข้าพระองค์ไม่พอใจมนุษยโลกที่มีการงานมากนัก, มนุษยโลกนั้นเข้มงวดนัก ข้าพระองค์จะเกิดสืบ ๆ ไปในเทวโลกนี้เท่านั้น กว่าจะปรินิพพาน"
           ท้าวศักรินทรเทวราชตรัสอ้อนวอนถึงสองครั้ง สามครั้ง;  เธอก็มิได้ทูลรับเหมือนดังนั้น
           พระอัสสคุตตเถรเจ้าจึงกล่าวกะมหาเสนเทพบุตรว่า "ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์, เราทั้งหลายได้เลือกตรวจดูตลอดทั่วมนุษยโลก ทั้งเทวโลก; นอกจากท่านแล้วไม่เห็นใครอื่น ที่สามารถจะทำลายล้างทิฏฐิของพระเจ้ามิลินท์แล้วยกย่องพระศาสนาไว้ได้ ภิกษุสงฆ์จึงได้อ้อนวอนท่าน ขอท่านผู้สัตบุรุษ จงยอมไปเกิดในมนุษยโลกแล้ว, ยกย่องพระศาสนาของพระทศพลเจ้าไว้เถิด" เมื่อพระเถรเจ้ากล่าวอ้อนวอนอย่างนี้แล้ว; มหาเสนเทพบุตรทราบว่าเธอผู้เดียวเท่านั้น จักสามารถทำลายล้างทิฏฐิของพระเจ้ามิลินท์แล้ว, ยกย่องพระศาสนาไว้ได้; จึงมีใจยินดีชื่นบาน, ได้ถวายปฏิญาณรับว่าจะลงไปเกิดในมนุษยโลก
      ครั้นภิกษุทั้งหลายนั้น จัดกิจที่จะต้องทำนั้นในเทวโลกเสร็จแล้ว, จึงอันตรธานจากดาวดึงสพิภพ มาปรากฏ ณ พื้นถ้ำรักขิตคูหาที่เขาหิมพานต์แล้ว; พระอัสสคุตตเถรเจ้าจึงถามพระภิกษุสงฆ์ว่า "อาวุโส, ในภิกษุสงฆ์หมู่นี้ มีภิกษุองค์ใดไม่ได้มาประชุมบ้าง"
      ภิกษุองค์หนึ่งเรียนพระเถรเจ้าว่า "ภิกษุที่ไม่ได้มาประชุมมีอยู่ คือ พระโรหณะผู้มีอายุไปสู่เขาหิมพานต์ เข้านิโรธสมาบัติได้เจ็ดวันเข้าวันนี้แล้ว ขอพระเถรเจ้าจงใช้ทูตไปเรียกเธอมาเถิด"
      ขณะนั้นพระโรหณะผู้มีอายุออกจากนิโรธสมาบัติแล้ว, ทราบว่าพระสงฆ์ให้หาท่าน, จึงอันตรธานจากเขาหิมพานต์, มาปรากฏข้างหน้าแห่งพระอรหันต์เจ้าร้อยโกฏิ ณ พื้นถ้ำรักขิตคูหา
      พระอัสสคุตตเถรเจ้าจึงมีวาจาถามว่า "ดูก่อนโรหณะผู้มีอายุ, เหตุไฉน เมื่อพระพุทธศาสนาทรุดโทรมลงถึงเพียงนี้, ท่านจึงไม่ช่วยดูแลกิจที่สงฆ์จะต้องทำ "
      ท่านเรียนตอบว่า "ข้าแต่พระเถรเจ้า, ข้อนั้นเป็นเพราะข้าพเจ้าไม่ได้มนสิการทำในใจ"
      จึงพระเถรเจ้าปรับโทษว่า "ถ้าอย่างนั้น ท่านจงทำทัณฑกรรมรับปรับโทษเสียเถิด"
      ท่านเรียนถามว่า "ข้าแต่พระเถรเจ้า ข้าพเจ้าจะต้องทำทัณฑกรรมอะไร "
      พระเถรเจ้าจึงบังคับว่า "มีบ้านพราหมณ์อยู่ข้างเขาหิมพานต์แห่งหนึ่ง ชื่อกชังคลคาม มีพราหมณ์ผู้หนึ่ง ชื่อโสณุตตระอาศัยอยู่ในบ้านนั้น บุตรของโสณุตตรพราหมณ์นั้น จักเกิดขึ้นคนหนึ่ง คือ ทารกชื่อนาคเสน ท่านจงไปบิณฑบาตที่ตระกูลนั้น ให้ครบเจ็ดปีกับสิบเดือนแล้ว, จงนำเอาทารกชื่อนาคเสนนั้นมาบวช เมื่อนาคเสนนั้นบวชแล้ว ท่านจงพ้นจากทัณฑกรรม" พระโรหณะผู้มีอายุก็รับคำของพระเถรเจ้าแล้ว
           ฝ่ายมหาเสนเทพบุตร     ได้จุติจากเทวโลก,      ถือปฏิสนธิในครรภ์แห่งภริยาของโสณุตตรพราหมณ์ ขณะถือปฏิสนธินั้นได้มีอัศจรรย์ปรากฏสามประการ: คือเครื่องอาวุธทั้งหลายส่องแสงโพลงขึ้นประการหนึ่ง, ข้าวกล้าที่ยังไม่ออกรวงก็ออกรวงสุกประการหนึ่ง, มหาเมฆบันดาลเมฆให้ฝนห่าใหญ่ตกลงมาประการหนึ่ง
      ฝ่ายพระโรหณะผู้มีอายุ จำเดิมแต่มหาเสนเทพบุตรถือปฏิสนธิมาได้เข้าไปบิณฑบาตที่ตระกูลนั้นมิได้ขาด ถึงเจ็ดปีกับสิบเดือน, ก็ไม่ได้ข้าวสวยแม้สักทรพีหนึ่ง, ไม่ได้ข้าวต้มแม้สักกระบวยหนึ่ง, ไม่ได้รับใครไหว้ใครประณมมือหรือแสดงอาการเคารพอย่างอื่น แม้สักวันเดียว; กลับได้แต่คำด่าว่าเสียดสีไม่มีใครที่จะกล่าวโดยดี แม้แต่เพียงว่าโปรดสัตว์ข้างหน้าเถิดเจ้าข้า ดังนี้ ในวันหนึ่ง วันนั้นโสณุตตรพราหมณ์กลับมาจากที่ทำงานภายนอกบ้าน, พบพระเถรเจ้าเดินสวนทางมาจึงถามว่า "บรรพชิต, วันนี้ท่านได้ไปเรือนของเราแล้วหรือ "
      ท่านตอบว่า "เออ พราหมณ์, วันนี้เราได้ไปเรือนของท่านแล้ว"
      พราหมณ์ถามว่า "ท่านได้อะไร ๆ บ้างหรือเปล่า "
      ท่านตอบว่า "เออ พราหมณ์, วันนี้เราได้"
      พราหมณ์ได้ยินท่านบอกว่าได้ ดังนั้น, สำคัญว่าท่านได้อะไรไปจากเรือนของตน, มีความเสียใจ, กลับไปถึงเรือนถามว่า "วันนี้เจ้าได้ให้อะไร ๆ แก่บรรพชิตนั้นหรือ "
      คนในเรือนตอบว่า "ข้าพเจ้าไม่ได้ให้อะไรเลย" ครั้นวันรุ่งขึ้นพราหมณ์นั่งคอยอยู่ที่ประตูเรือน ด้วยหวังจะยกโทษพระเถรเจ้าด้วยมุสาวาท, พอเห็นพระเถรเจ้าไปถึง, จึงกล่าวท้วงว่า "เมื่อวานนี้ท่านไม่ได้อะไรในเรือนเราสักหน่อย พูดได้ว่าตัวได้ การพูดมุสาควรแก่ท่านหรือ "
      พระเถรเจ้าตอบว่า "ดูก่อนพราหมณ์ เราไม่ได้แม้แต่เพียงคำว่า 'โปรดสัตว์ข้างหน้าเถิดเจ้าข้า' ดังนี้ ในเรือนของท่านถึงเจ็ดปีกับสิบเดือนแล้ว พึ่งได้คำเช่นนั้นเมื่อวานนี้เอง; เช่นนี้ เราจึงได้บอกแก่ท่านว่าเราได้ ด้วยหมายเอาการกล่าวปราศรัยด้วยวาจานั้น"
      พราหมณ์นึกว่า "บรรพชิตพวกนี้ได้รับแต่เพียงการกล่าวปราศรัยด้วยวาจา ยังพูดสรรเสริญในท่ามกลางประชาชนว่าตนได้รับ, ถ้าได้ของเคี้ยวของกินอะไร ๆ อย่างอื่นอีกแล้ว, เหตุไฉนจะไม่พูดสรรเสริญ" จึงมีความเลื่อมใสสั่งคนให้แบ่งข้าวที่จัดไว้เพื่อตัว ถวายพระเถรเจ้าทรพีหนึ่ง ทั้งกับข้าวพอสมควรกันแล้ว, ได้พูดว่า "ท่านจักได้อาหารนี้เสมอเป็นนิตย์ จำเดิมแต่วันรุ่งขึ้น" เมื่อพระเถรเจ้าไปถึง; พราหมณ์ได้เห็นอาการสงบเสงี่ยมเรียบร้อยของท่านเข้า, ก็ยิ่งเลื่อมใสมากขึ้น, จึงอาราธนาพระเถรเจ้าให้ทำภัตกิจในเรือนของตนเป็นนิตย์ พระเถรเจ้ารับอาราธนาด้วยดุษณีภาพ (นิ่งอยู่) แล้ว; ตั้งแต่นั้นมา ทำภัตตกิจเสร็จแล้ว, เมื่อจะไป, ได้กล่าวพระพุทธวจนะน้อยหนึ่ง ๆ แล้วจึงไปเสมอทุกวัน ๆ

อ่านต่อ >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย