ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป>>

อิสราเอล

ข้อเขียนโดย ::  ดร.จรัล มะลูลีม
ประวัติศาสตร์ของชนชาติอิสราเอลมีความสำคัญสำหรับคริสต์ชนมาก เพราะพระเจ้าทรงสำแดงพระองค์เองและพระประสงค์ของพระองค์ให้มนุษย์ชาติรู้โดยผ่านทางเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับชนชาตินี้

ชนชาติที่พระเจ้าเลือกสรร

ความขัดแย้งระหว่างอาหรับ-อิสราเอล เป็นความขัดแย้ง ระหว่างชนชาติสองชนชาติ และระหว่างอุดมการณ์สองอุดมการณ์ เป็นความขัดแย้ง ระหว่างกลุ่มผู้ถือศาสนาหนึ่ง กับกลุ่มผู้ถือศาสนาอีกศาสนาหนึ่ง ซึ่งทั้งสองศาสนานั้น ค่อนข้างใกล้ชิดกัน    ศาสดาของศาสนาหนึ่ง ก็เป็นศาสดาของอีกศาสนาหนึ่งด้วย อีกทั้งบรรพบุรุษของชนชาติทั้งสองนี้ เมื่อย้อนยุคไปจนถึงที่สุดก็เป็นคนๆ เดียวกัน แต่ความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายนี้ กลับยาวนาน ยืดเยื้อไม่สิ้นสุด มาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

          เรื่องซึ่งปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์ของศาสนา ที่สำคัญสองศาสนา คือ คริสต์ศาสนา และศาสนาอิสลาม (อาจรวมถึงศาสนายิว หรือจูดายด้วยก็ได้) ก็คือ ศาสดาอับราฮัมผู้เป็นบิดาแห่งชาวยิว และเป็นศาสดาท่านหนึ่งของศาสนาอิสลามด้วย (เป็นผู้ที่ทำลายรูปเจว็ดต่างๆ ในกะอบะอ สถานสักการะในนครมักกะฮ์ เพื่อให้ชาวอาหรับเลิกนับถือเทวรูปทั้งหลาย และหันมานับถือพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว) นั้น ท่านมีภริยาสองคน เชื้อสายของท่านจากภริยาคนแรก (นางซารอฮ หรือซารา คือ ลูกหลานของอิสฮาก (หรือไอแซค) นั้นคือ ชนชาวอาหรับ ส่วนเชื้อสายจากภริยาคนที่สอง (นางฮาญัรหรืออากัร) คือ ลูกหลานของอิสราเอล (อิชมาเอลหรืออิสมาอีล) ก็คือ ชนชาวยิว ตามพระคัมภีร์ของคริสต์ศาสนา-พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงสัญญาไว้ว่า ถึงแม้ว่าอิสฮากจะเป็นทายาทที่แท้จริง ของท่านศาสดาอับราฮัม (หรืออิบรอฮีม) ก็ตาม แต่อิชมาเอลและลูกชายทั้งสิบสองคนของเขา ก็จะกลายเป็นชนชาติที่ยิ่งใหญ่ด้วย บุตรหลานของลูกชายสิบสองคนของนางฮากัร ก็คือชาวยิวสิบสองเผ่านั่นเอง พระคัมภีร์ไบเบิลกล่าวไว้ด้วยว่า พระผู้เป็นเจ้าทรงปรากฏตัวต่อหน้า อับราฮัมและทรงสัญญาว่าจะมอบดินแดนคะนาอัน (ซึ่งต่อมาก็คือ ดินแดนปาเลสไตน์) ให้แก่ลูกหลานของท่านด้วย

          อับราฮัมจึงได้ไปอยู่ที่คะนาอัน แต่เข้ากับชาวคะนาอันไม่ได้ ส่วนอิสฮากบุตรชาย ของท่านกลับเข้ากับ ชาวเมืองคะนาอันได้ดี นั่นคือ ชาวอาหรับลูกหลานของอิสฮาก อาศัยอยู่ในดินแดนคะนาอันก่อนแล้ว มีชื่อว่าชาวฟิลิสตีน (ปาเลสไตน์นั่นเอง) ต่อมาอีกนานคือ ประมาณ 1400 ปี ก่อน ค.ศ.อียิปต์ ได้เข้ามาปกครองชาวยิว โมเสส (ซึ่งเป็นศาสดาอีกท่านหนึ่งของชาวยิวและชาวมุสลิมด้วย) ได้รับคำสั่งจากพระผู้เป็นเจ้า ให้ไปช่วยชาวยิวให้หนีจาก น้ำมือชาวอียิปต์ โดยพระองค์ทรงช่วยแหวกน้ำทะเลให้ โมเสสจึงนำชาวยิวหนี จากอียิปต์เข้ามาในดินแดนคะนาอัน (หรือปาเลสไตน์) ซึ่งมีชนเผ่าต่าง ๆ อาศัยอยู่เป็นจำนวนมากแล้ว นี่คือ เรื่องราวที่ปรากฏอยู่ใน พระคัมภีร์ไบเบิลและกุรอาน

          ตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์นั้น ดินแดนปาเลสไตน์ ตั้งอยู่แถบชายฝั่งตะวันออก ของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งรวมอิสราเอลปัจจุบันนี้ กับจอร์แดนและอียิปต์ด้วย ชาวฮิบรู (หรือยิว) ซึ่งเดิมเป็นพวกเร่ร่อน อยู่ในทะเลทรายปาเลสไตน์แถบแหลมสินาย ต้องการจะพิชิตดินแดนปาเลสไตน์ จึงยกพวกข้ามดินแดนจอร์แดนมา ในดินแดนปาเลสไตน์ (คะนาอัน) ภายใต้ผู้นำซึ่งมีชื่อว่าโจชัว ได้ฆ่าและขับไล่ชาวพื้นเมืองออกไป และทำลายวัฒนธรรมคะนาอัน (ซึ่งเคยเป็นอู่อารยธรรมหนึ่งในสี่แห่งของโลกเก่า) เสีย ส่วนใหญ่ชาวฮิบรู เข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ใน หุบเขาอันสมบูรณ์ทางภาคเหนือ แล้วขยายดินแดนมารุกราน ชาวฟิลิสตีนซึ่งอยู่ตามแนวฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน พระคัมภีร์ไบเบิลได้ กล่าวคือ ความเป็นปรปักษ์ระหว่างชาวฮิบรูกับชาวฟิลิสตีน (คือชาวยิวกับปาเลสไตน์) ไว้ใน Book of Judge บทที่ 18

 

           ต่อมากษัตริย์เดวิด ได้บดขยี้ชาวฟิลิสตีน และรวบรวมดินแดนคะนาอันทั้งหมด ไว้ใต้อำนาจของพระองค์ และได้สร้างอาณาจักรฮิบรูขึ้นเป็นครั้งแรก ในที่ซึ่งเป็นประเทศจอร์แดนปัจจุบันนี้ และขยายดินแดนไปถึงแม่น้ำยูเฟรติส ในราว 1000 ปีก่อนค.ศ. ในรัชสมัยของกษัตริย์โซโลมอน โอรสของเดวิด ชาวยิวมีอำนาจสูงสุด แต่พอสิ้นชีวิตของกษัตริย์พระองค์นี้อาณาจักรฮิบรู ก็แตกแยก เพราะการทะเลาะเบาะแว้ง ในหมู่ชาวฮิบรูเอง ชนชาติอื่น จึงเข้ามาครอบครองดินแดนนั้นต่อไป ชาวฮิบรูสิ้นอำนาจ ในดินแดนปาเลสไตน์ในปี 586 ก่อน ค.ศ.

     ปาเลสไตน์ หรือคะนาอัน ถูกชนชาติอื่นปกครอง ต่อมาคือ เปอร์เซีย กรีก โรมัน ประชาชนในดินแดนนี้ ได้รับความกดขี่ จนกระทั่งศาสดาเยซู (หรืออีซา) ปรากฏขึ้น ท่านเป็นชาวฮิบรู ได้พยายามประสานความสามัคคี ระหว่างเผ่าต่างๆ ในปาเลสไตน์เข้าด้วยกัน และท้าทายอำนาจของโรมัน ท่านจึงถูกจับตรึงกางเขน นี่คือ จุดเริ่มต้นของคริสต์ศาสนาซึ่งแพร่หลายไปแทนที่ศาสนาจูดาย ชาวฮิบรูได้กลายเป็นชนส่วนน้อย ในดินแดนนั้น และยอมรับนับถือคริสต์ศาสนา นอกนั้นอยู่กระจัดกระจายตามแถบ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน คือ ในบาบิโลเนีย (อิรัก) อียิปต์ ซีเรีย เอเชียน้อย กรีซและโรม ในปี ค.ศ.300 ชาวยิวจำนวนมาก อพยพไปจากปาเลสไตน์ เพราะถูกชาวโรมันรังควาน

          ตามประวัติศาสตร์ ที่กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่า ชาวยิว ตั้งอาณาจักรอยู่ใน ดินแดนปาเลสไตน์ ได้เป็นระยะเวลา สั้นๆ เท่านั้น และพวกเขาเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ของชนเผ่าอื่นๆ ซึ่งอยู่ในดินแดนนั้น ส่วนชาวปาเลสไตน์นั้น อยู่ในดินแดนนั้นมาเป็นเวลานับพันๆ ปีมาแล้ว ชาวยิวในปาเลสไตน์ ที่นับถือศาสนาจูดาย มีอยู่เป็นจำนวนน้อย พวกนี้แหละที่มีสิทธิจะเรียกตัวเองว่าเป็นเชื้อสายของ ศาสดาอับราฮัม และเป็นชาวปาเลสไตน์จริงๆ ดังนั้น การที่จะอ้างว่าชาวยิวทุกคนต้องมีสิทธิ์ ในดินแดนปาเลสไตน์นั้น จึงฟังไม่ขึ้น แต่กระนั้นก็ดี หลักการที่พวกเขายึดถือก็คือ ความเชื่อของชาวยิวที่ว่า พระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญาว่าจะมอบดินแดนนี้ ให้แก่พวกเขา อีกประการหนึ่ง การที่ชาวยิวต้องกระจัดกระจายไปอยู่ในประเทศต่างๆ โดยอาศัยอยู่ในชุมชนยิวที่อัดแอ ไม่สะดวก ก็ยิ่งทำให้พวกเขากระตือรือร้นที่จะกลับมายัง ดินแดนนี้มากขึ้น ต่อมาความเชื่อนี้ ได้กลายเป็นขบวนการทางการเมือง และอุดมการณ์ ซึ่งมีชื่อว่า ไซออนนิสม์ (ไซออน เป็นชื่อภูเขาลูกหนึ่ง ในดินแดนปาเลสไตน์)

          ดินแดนปาเลสไตน์นั้น ตั้งอยู่ในภูมิภาคซึ่งปัจจุบันนี้ เรียกว่า ตะวันออกกลาง หรือ เอเชียตะวันตก เมื่อศาสนาอิสลามเกิดขึ้น ในแหลมอารเบีย ในคริสต์ศตวรรษที่ 7 และต่อมาได้ขยายไปทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง ประชากรในภูมิภาคนั้น ต่างก็รับนับถือศาสนาอิสลาม (ซึ่งเรียกว่ามุสลิม=ผู้นับถือศาสนาอิสลาม) ชาวปาเลสไตน์ ก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น และศาสนาอิสลามยึดหลักความเป็นพี่น้องกัน ระหว่างชาวมุสลิม ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใด หากพี่น้องมุสลิม ณ ที่หนึ่งที่ใดได้รับความเจ็บปวด มุสลิมซึ่งอยู่ที่อื่น ก็ย่อมเจ็บปวดไปด้วย ชาวปาเลสไตน์นั้นเป็นชาวอาหรับมาตั้งแต่ต้น เดิมรับนับถือศาสนาคริสต์ แต่ได้รับการกดขี่จากชาวโรมัน จึงหันมารับนับถือศาสนาอิสลาม สังคมของชาวปาเลสไตน์ จึงมีลักษณะแบบอาหรับและมุสลิม นับเป็นครั้งแรก ที่มีชุมชนอาหรับที่แท้จริงเกิดขึ้น ในปาเลสไตน์ มีการปกครองของตนเอง แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของโลกอิสลาม ในด้านการเมืองและศาสนา

     ต่อมาอาหรับ ได้เข้ามาปกครองปาเลสไตน์ ใน ค.ศ.640 โดยเคาะลีฟะฮอุมัรที่ 1 ต่อมา ปีค.ศ.847 ตุรกีเข้ามายึดอำนาจปกครองดินแดนนี้ จนถึงศตวรรษที่ 18 แต่ในศตวรรษที่ 18 อาณาจักรตุรกี (ออตโตมาน) เริ่มเสื่อมโทรม ประเทศมหาอำนาจต่างๆ ในยุโรปหมายจะเข้ามามีอำนาจแทนที่ตุรกี เช่น กษัตริย์นโปเลียนของฝรั่งเศส แต่ก็ตีปาเลสไตน์ไม่สำเร็จ กล่าวกันว่า ตอนที่นโปเลียนจะยาตราทัพเข้าซีเรีย (ซึ่งรวมกับปาเลสไตน์) นั้น พระองค์ได้เชื้อเชิญชาวยิว ทั้งในทวีปเอเชียและแอฟริกามาอยู่ใต้การปกครอง ของพระองค์ เพื่อจะสร้างปาเลสไตน์ ให้เป็นอาณาจักรยิว แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง

อ่านต่อ >>>

บรรพชนต้นตระกูลอิสราเอล
การอพยพ
อิสราเอล 12 เผ่า
กษัตริย์องค์แรกๆ ของอิสราเอล
สองราชอาณาจักร
สมัยจักรวรรดิอัสซีเรียเรืองอำนาจ
สมัยจักรวรรดิบาบิโลนเรืองอำนาจ
สมัยจักรวรรดิเปอร์เซียเรืองอำนาจ
สมัยจักรวรรดิกรีกเรืองอำนาจ
สมัยจักรวรรดิโรมันเรืองอำนาจ

"พระเจ้าทรงเป็นองค์บริสุทธิ์ของอิสราเอล" มีความหมายไม่เหมือนกับที่ชนชาติอื่นเข้าใจ อิสราเอลเป็นชนชาติที่พระเจ้าทรงเลือกสรรเป็นพิเศษ เพื่อจะทรงสำแดงให้ชนชาติอื่นได้รู้จักพระองค์ สิ่งที่อิสยาห์ประณามอิสราเอลก็มีความหมายพิเศษ เพราะท่านประณามพวกเขาในฐานะที่เป็นผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกสรรให้รับผิดชอบหน้าที่พิเศษนี้ แต่พวกเขากลับทอดทิ้งพระองค์ แผนการของพระเจ้าที่จะช่วยชนชาติทั้งปวงต้องตกอยู่ในอันตรายเพราะความไม่เชื่อฟังของพวกอิสราเอล

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย