สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

กรณีปราสาทพระวิหาร

ข้อมูลที่ประชาชนไทยควรทราบ เกี่ยวกับกรณีปราสาทพระวิหาร และการเจรจาเขตแดนไทย - กัมพูชา
50 ประเด็น ถาม-ตอบ กรณีปราสาทพระวิหาร
สรุปข้อมูลสถานะของคดีตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี 2505
ลำดับเหตุการณ์ที่สำคัญเกี่ยวกับปราสาทพระวิหาร

50 ประเด็น ถาม-ตอบ กรณีปราสาทพระวิหาร

กระทรวงการต่างประเทศ

หน้า 5

41.ไทยจะอธิบายอะไรต่อศาลโลกในช่วงการอธิบายทางวาจา ที่กรุงเฮก ระหว่างวันที่15-19 เม.ย.2556 ?

ตอบ:

เนื่องจากเอกสารข้อเขียนมีความยาวมาก การอธิบาย ทางวาจาต่อศาลโลกจึงเป็นโอกาสให้หยิบยกประเด็นสำคัญในเอกสารข้อเขียนของไทยเพื่อให้ศ​าลโลกตระหนัก และย้ำข้อต่อสู้หลักเพื่อให้ศาลโลกกลับไปพิจารณาประเด็นเหล่านี้ ในเอกสารข้อเขียนของไทยในการจัดทำคำตัดสิน นอกจากนี้จะมีการตอบโต้ประเด็นที่กัมพูชาหยิบยกขึ้นในระหว่างการอธิบาย ทางวาจาของกัมพูชาด้วย

42. คาดว่าศาลโลกน่าจะมีคำตัดสินเมื่อใด ?

ตอบ :

ขึ้นอยู่กับว่าศาลโลกจะกำหนดกระบวนการเพิ่มเติม หรือไม่ หากไม่มีกระบวนการเพิ่มเติม คาดว่าศาลโลกจะมีคำตัดสินในช่วงปลายปี 2556

43. คาดว่าศาลโลกจะตัดสินออกมาอย่างไร ?

ตอบ :

มีความเป็นไปได้ 4 แนวทาง คือ

(1) ศาลโลกตัดสินว่ากัมพูชาไม่มีอำนาจฟ้อง และ ศาลโลกไม่มีอำนาจพิจารณา พร้อมทั้งจำหน่ายคดี

(2) ศาลโลกรับตีความคำพิพากษา โดยกำหนดขอบเขตพื้นที่ปราสาทพระวิหารสอดคล้องกับแนวทางของไทย กล่าวคือ ขอบเขตพื้นที่ปราสาทฯ เป็นไปตามเส้นมติคณะรัฐมนตรีปี 2505

(3) ศาลโลกรับตีความคำพิพากษา โดยกำหนดขอบเขต พื้นที่ปราสาทพระวิหารสอดคล้องกับแนวทางของกัมพูชา กล่าวคือ ขอบเขตพื้นที่ปราสาทฯ เป็นไปตามเส้นแผนที่ภาคผนวก 1 (แผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ระวางดงรัก)

(4) ศาลโลกรับตีความคำพิพากษา โดยกำหนดขอบเขตพื้นที่ปราสาทพระวิหารตามแนวทางอื่นที่ศาลโลกเห็นว่าสมควร

44. คู่ความสามารถอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลโลกในคดีตีความได้หรือไม่ ?

ตอบ :

ตามข้อ 60 ของธรรมนูญศาล คำพิพากษาของศาลโลกถือเป็นที่สุด และไม่สามารถอุทธรณ์ได้

45. ถ้าศาลโลกมีคำตัดสินออกมา ไทยและกัมพูชาจะต้องปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลโลกหรือไม่ ?

ตอบ :

ไทยและกัมพูชา ในฐานะสมาชิกสหประชาชาติมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลโลก ตามข้อ 94 ของกฎบัตรสหประชาชาติ

46. ถ้าไทยหรือกัมพูชาไม่ปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลโลกศาลจะมีมาตรการบังคับอย่างไรและจะมีผลทางกฎหมายตามมาอย่างไรบ้าง ?

 

ตอบ :

ศาลโลกไม่มีอำนาจหน้าที่บังคับคดี แต่ไทยและกัมพูชาต่างสามารถขอให้คณะมนตรีความมั่นคงพิจารณาออกมาตรการใดๆ ที่เห็นสมควรและไม่ขัดกฎบัตรสหประชาชาติ เพื่อบังคับคดีได้ โดยเป็นไปตามข้อ 94 วรรค 2 ของกฎบัตรสหประชาชาติ


ภาพองค์คณะผู้พิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ณ วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2555 (ที่มา ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ)

47.ปัญหาเขตแดนในบริเวณปราสาทพระวิหารมีความเกี่ยวโยงกับการแบ่งเขตทางทะเลในอ่าวไทย​ระหว่างไทยกับกัมพูชาหรือไม่ ?

ตอบ :

ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน การกำหนดเส้นเขตแดนสำหรับพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหารเป็นไปตามอนุสัญญาสยาม -ฝรั่งเศส ค.ศ. 1904 ขณะที่เส้นเขตแดนบริเวณจังหวัดตราด อยู่ภายใต้สนธิสัญญาสยาม -ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 ซึ่งเป็น ความตกลงคนละฉบับกัน สำหรับเขตทางทะเล ไทยกับฝรั่งเศสไม่เคยมีความตกลงระหว่างกัน ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ในทางเทคนิคที่การกำหนดเส้นเขตแดนในบริเวณปราสาทพระวิหารจะกระทบกับก​ารแบ่งเขตทางทะเลในอ่าวไทย

48. ไทยสามารถอ้างอนุสัญญากรุงโตเกียวในการต่อสู้คดีได้หรือไม่ ?

ตอบ :

ไม่ได้ เนื่องจากอนุสัญญาดังกล่าวถูกยกเลิกไปแล้ว “อนุสัญญากรุงโตเกียว” หรือ อนุสัญญาสันติภาพระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส พ.ศ. 2484 (ค.ศ. 1941) ลงนามที่กรุงโตเกียวนี้ เป็นอนุสัญญาที่สืบเนื่องมาจากกรณีพิพาท อินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในปี 2484 ซึ่งญี่ปุ่นได้เข้ามาไกล่เกลี่ย ผลของอนุสัญญากรุงโตเกียวทำให้ไทยได้รับดินแดนที่เคยเสียให้ฝรั่งเศสกลับคืนมา รวมถึงปราสาทพระวิหารด้วย แต่ต่อมาในปี 2489 ได้มีการจัดทำความตกลงระหว่างไทยกับฝรั่งเศสฉบับใหม่ คือ ความตกลงระงับกรณีระหว่างไทยกับฝรั่งเศส หรือ “ความตกลงกรุงวอชิงตัน”ซึ่งได้ยกเลิกอนุสัญญากรุงโตเกียวและทำให้ไทยต้องคืนดินแดน ที่ได้คืนมาเมื่อปี 2484 ให้แก่ฝรั่งเศส

49. ประชาชนสามารถติดตามและอ่านเอกสารในคดีได้ที่ไหน ?

ตอบ :

1. เว็บไซต์ของศาลโลก :  www.icj-cij.org เว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศ : www.mfa.go.th/phraviharn  

50. นอกจากเอกสารชุดคำถามคำตอบนี้ กระทรวงการต่างประเทศจัดทำเอกสารเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารอย่างไรบ้าง ?

ตอบ :

ได้จัดแถลงข่าวเกี่ยวกับการสู้คดีในศาลโลกเป็นระยะ ๆ จัดทำหนังสือ “ข้อมูลที่ประชาชนไทยควรทราบ เกี่ยวกับกรณีปราสาทพระวิหารและการเจรจาเขตแดนไทย -กัมพูชา” ซึ่งเป็นการจัดพิมพ์ครั้งที่ 2 โดยปรับปรุงข้อมูลให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้นและให้รวมถึงพัฒนาการล่าสุดเกี่ยวกับก​ารดำเนินการในกรอบของศาลโลก จัดทำแผ่นพับ “สรุปข้อมูลสถานะของคดีตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี 2505” สรุปความคืบหน้า ของการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับคดีตีความคำพิพากษา คดีปราสาทพระวิหาร และการปฏิบัติตามคำสั่งมาตรการชั่วคราวของศาลโลก โดยมีการรวบรวมข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้อง และสื่อประชาสัมพันธ์ที่ได้ผลิตขึ้นทั้งหมดไว้ในเว็บไซต์ : นอกจากหนังสือคำถาม - คำตอบ กรณีปราสาทพระวิหารเล่มนี้ กระทรวงการต่างประเทศอยู่ระหว่างการจัดทำสื่อในรูปแบบอื่นเพิ่มเติม อาทิสารคดีโทรทัศน์และวิทยุหนังสือการ์ตูนและคลิปวีดิทัศน์ เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าใจเกี่ยวกับคดีซึ่งเป็นประเด็นที่ละเอียดและซับซ้อนได้ม​ากขึ้น

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย