ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

พุทธจริยศาสตร์เพื่อมหาชน

มหายานกับอุดมการณ์พระโพธิสัตว์
ปรัชญาปารมิตา : อภิปรัชญาของมหายาน
พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ในมหายาน
การตั้งโพธิจิต : หัวใจของอุดมการณ์พระโพธิสัตว์
อุดมการณ์พระโพธิสัตว์เป็นจริยธรรมเชิงบวก
บารมี 6 : จริยศาสตร์ภาคปฏิบัติการของพระโพธิสัตว์
บรรณานุกรม

อุดมการณ์พระโพธิสัตว์เป็นจริยธรรมเชิงบวก

จากหลัก “โพธิจิต” ของมหายาน แสดงว่า “ปัญญา”(ปรัชญา) และ “กรุณา” จะเป็นคุณสมบัติควบคู่กันเสมอของพระโพธิสัตว์ ดังที่ ซูซูกิ กล่าวว่า

สิ่งที่ทำให้มหายานยืนบน 2 ขาได้อย่างมั่นคงคือ “ปรัชญา” และ “กรุณา” หรือความรู้ที่มุ่งสู่โลกุตตรภาพ และความรักที่มีต่อสรรพสิ่ง ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต (Suzuki, 1973 : 292)

การตรัสรู้ (ปัญญา) ย่อมหมายถึงต้องการให้ผู้อื่นหรือสัตว์อื่นพ้นทุกข์ (กรุณา) คู่กัน พระโพธิสัตว์จึงเป็นบุคคลอุดมคติที่ควรยึดถือเป็นแบบอย่าง หากประสงค์จะหลุดพ้นจากทุกข์ การเน้นความกรุณา นับเป็นมิติใหม่ของพระพุทธศาสนาในสมัยนั้น เป็นการสอนว่าชาวพุทธไม่ควรมุ่งแต่ความหลุดพ้นส่วนตัว แต่ต้องอุทิศตนเองเพื่อผู้อื่นด้วย คำสอนเช่นนี้ทำให้เกิดจิตสำนึกและค่านิยมใหม่ว่า การหลุดพ้นเฉพาะตัวไม่มีประโยชน์อะไรหากไม่ช่วยผู้อื่นให้หลุดพ้นตาม ที่จริงเถรวาทก็ใช่ว่าจะสอนให้คนเห็นแก่ตัว เพียงแต่ว่าการจะช่วยเหลือผู้อื่นได้นั้น คน ๆ นั้นต้องช่วยเหลือตนเองได้ก่อน เช่นเดียวกับการสอนคนให้ว่ายน้ำ ผู้สอนต้องว่ายน้ำเป็นก่อน จึงจะสอนผู้อื่นได้ ดังพระพุทธพจน์ในคาถาพระธรรมบท ดังนี้

บุคคลพึงยังตนนั้นแลให้ตั้งอยู่ในคุณอันสมควรเสียก่อน พึงพร่ำสอนผู้อื่นในภายหลัง บัณฑิตพึงไม่เศร้าหมอง (พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับสังคายนา, เล่มที่ 25, 2530 : 52)

สำหรับมหายานแล้ว แนวคิดเรื่องพระโพธิสัตว์ แสดงให้เห็นว่า การช่วยเหลือผู้อื่นต้องมาอันดับแรกจนถึงกับกล่าวว่า พระโพธิสัตว์แม้จะต้องรับทุกข์ รับโทษทัณฑ์หรือกระทั่งยอมตกนรกเพื่อประโยชน์สุขของสรรพสัตว์ก็ต้องทำ

 

การเน้นจริยธรรมเชิงบวกเช่นนี้ เป็นลักษณะเด่นของมหายาน แนวคิดนี้มาจากโลกทัศน์ที่มีต่อความสัมพันธ์ระหว่าง “จิต” กับ “วัตถุ” ของมหายาน แตกต่างจากเถรวาท เถรวาทได้แยก 2 สิ่งนี้ออกจากกันอย่างชัดเจน เพราะเห็นว่าวัตถุเป็นสาเหตุแห่งความเศร้าหมองของจิต เมื่อจิตถูกครอบงำด้วยวัตถุย่อมเป็นที่แน่ใจได้ว่า คน ๆ นั้นย่อมไม่ก้าวหน้าในจริยธรรม แต่ละคนต้องควบคุมจิตใจของตนไม่ให้มีอุปาทานติดยึดในวัตถุให้มากที่สุด ฉะนั้น จริยธรรมของเถรวาทจึงเป็นแบบปฏิเสธ เช่น ไม่พูดปด ไม่ลักทรัพย์ ไม่มอง ไม่ฟัง และไม่ปล่อยใจไปตามอำนาจของตัณหา เป็นต้น แต่มหายานเห็นว่า วัตถุมาจากจิต โลกเป็นผลิตผลของจิต อกุศลกรรมหรือการกระทำที่เป็นอกุศลก็ย่อมมาจากจิตเช่นกัน จริยธรรมเชิงลบแบบเถรวาทไม่เพียงพอสำหรับถอนรากอกุศลจิต แต่ต้องเผชิญกับโลกหรือวัตถุอย่างซึ่ง ๆ หน้า จึงจะสามารถกำจัดความทุกข์ในสังสารวัฏได้ มหายานเชื่อใน “ตถาคตครรภ์” หรือพุทธภาวะว่าเป็นธาตุพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตทั้งหมด แต่เนื่องจากถูกห่อหุ้มด้วยกิเลส จึงหลงผิดไม่เข้าใจในพุทธภาวะนี้ เมื่อตระหนักในพุทธภาวะและทำลายสังสารวัฏเสียได้ ภาวะนิพพานจึงบังเกิดขึ้น นิพพานกับสังสารวัฏจึงสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด จนกล่าวได้ว่านิพพานพบได้ในสังสารวัฏนั่นเอง สมดังที่ นาคารชุนกล่าวไว้ในมูลมาธยามการิกา ของท่านดังนี้

สังสารวัฏไม่ใช่สิ่งอื่นใดที่อยู่นอกเหนือไปจากนิพพาน และนิพพานก็ไม่ใช่สิ่งอื่นใดที่อยู่นอกเหนือไปจากสังสารวัฏ (M³lamadhyamak±rik±, 1999 : XXV.19)

ฉะนั้น หากนิพพานคือความว่างเปล่า (non-emptiness) สังสารวัฏก็คือความเต็ม (emptiness) ความว่างเปล่าจะมีได้ก็เพราะมีความเต็มก่อน หากไม่มีความเต็มก่อน ภาวะว่างเปล่าจะมีได้อย่างไร ความว่างเปล่าและความเต็มจึงอยู่ด้วยกัน เหมือนสองด้านของเหรียญเดียวกัน มหายานเชื่อว่า อาศัยจริยธรรมเชิงบวกเช่นนี้ จะทำให้จิตใจเข้มแข็ง จนสามารถต่อกรกับโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย