ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

พระเจ้าสิบชาติ

พระเตมีย์  ผู้ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมี
พระมหาชนก ผู้ทรงบำเพ็ญวิริยบารมี
สุวรรณสาม ผู้บำเพ็ญเมตตาบารมี
พระเนมิราช ผู้ทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมี
มโหสถบัณฑิต ผู้ทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี
พระภูริทัต ผู้ทรงบำเพ็ญศีลบารมี
พระจันทกุมาร ผู้ทรงบำเพ็ญขันติบารมี
พระมหานารทกัสสปะ ผู้ทรงบำเพ็ญอุเบกขาบารมี
วิธุรบัณฑิต ผู้บำเพ็ญสัจบารมี
พระเวสสันดร ผู้ทรงบำเพ็ญทานบารมี

มโหสถบัณฑิต ผู้ทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี

mahosod.jpg (32424 bytes)

หน้า1    หน้า2    หน้า3

               ในหมู่บ้านด้านปาจีนทิศอันมีนามว่า ปาจีนยวมัชฌคาม แห่งมิถิลานคร มีคหบดีผู้หนึ่ง เป็นเศรษฐีมีทรัพย์มหาศาล มีนามว่า สิริวัฒกเศรษฐี และนางสุมนาเทวีภรรยา พระโพธิสัตว์ จุติจากดาวดึงสพิภพ ปฏิสนธิในครรภ์นางสุมนาเทวีนั้น ในวันที่กุมารน้อยคลอด จากครรภ์มารดา ในมือยังถือแท่งโอสถ (ยา) ติดมาด้วย เศรษฐีบิดาจึงตั้งชื่อให้ว่า   " โอสถกุมาร "   ต่อมาแท่งยานั้น เป็นยาที่มีสรรพคุณยิ่งใหญ่ รักษาโรคได้ทุกชนิด เป็นที่ขึ้นชื่อลือชากันไปทั่ว กุมารน้อยจึงมีชื่อเพิ่มขึ้นว่า   "มโหสถกุมาร "
               พระเจ้าวิเทหราช ผู้เสวยราชสมบัติในนครมิถิลา ในครั้งนั้น มีนักปราชญ์ราชบัณฑิต ผู้ฉลาดสามารถ 4 คน คือ เสนกะ กามินทะ เทวินทะ และปุกกุสะ บัณฑิตทั้ง 4 นี้ เป็นผู้ถวายอนุศาสน์ อรรถธรรมแด่พระเจ้าวิเทหราช ต่อมามโหสถกุมารผู้ปราดเปรื่อง ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นบัณฑิตคนที่ 5 ของพระราชา นับเป็นบัณฑิตผู้มีอายุน้อยที่สุด และเฉลียวฉลาดสามารถที่สุด พระเจ้าวิเทหราชทรงรักใคร่เอ็นดู ประดุจดั่งพระราชบุตร
               มโหสถบัณฑิต เป็นผู้มีสติปัญญาสามารถมาตั้งแต่ยังเล็ก เมื่ออายุ 7 ขวบ ก็สามารถสร้างศาลา อันสวยงามโอ่โถงประดุจเทวสภา ชื่อสุธรรมา สร้างสระโบกขรณี อันน่ารื่นรมณ์ ดารดาษด้วยปทุมชาติ 5 ชนิด ราวกับว่าเนรมิตมาจากนันทนโบกขรณี แล้วยังสร้างอุทยานตระการตา สง่างาม เพียงดังอุทยานนันทวันในดาวดึงสพิภพ ฉะนั้น เป็นผู้สามารถตอบ แก้ปัญหาได้ทุกอย่าง แม้พระราชาวิเทหราช ก็ยังทรงทดสอบปัญญามโหสถกุมาร เป็นหลายครั้งหลายหน รวมทั้งบัณฑิตทั้ง 4 ของพระราชาก็ได้ทดสอบด้วยเช่นกัน
               มโหสถบัณฑิต ได้แสดงความเป็นผู้ปรีชาสามารถ ด้วยการวินิจฉัยปัญหาแก่ประชาชน ทูลตอบปัญหาของพระราชา และโต้ตอบคำถามทุกรูปแบบได้อย่างเชี่ยวชาญ ได้ช่วยรักษาเมืองมิถิลา ให้พ้นจากการยึดครองของปัจจามิตรได้ และช่วยพระเจ้าวิเทหราช ให้พ้นเงื้อมมือข้าศึกได้ โดยปลอดภัย จะได้นำมาแสดงเป็นเรื่องเท่านั้น

คนมีสิริกับคนกาลกรรณี
            
ครั้งนั้น มาณพชาวเมืองมิถิลาคนหนึ่ง ชื่อปิงคุตระ เป็นศิษย์คนโตในสำนักอาจารย์ ทิศาปาโมกข์ สำเร็จการศึกษา แล้วลาอาจารย์กลับบ้านเมืองตน ในสมัยนั้นมีธรรมเนียมอยู่ว่า ถ้าอาจารย์มีธิดาผู้เจริญวัยแล้ว ต้องยกธิดานั้นให้เป็นภรรยา ของศิษย์คนโตผู้เรียนจบแล้ว อาจารย์ทิศาปาโมกข์นั้น มีธิดารูปงามประดุจเทพอัปสรอยู่คนหนึ่ง จึงจำต้องยกให้ปิงคุตรมาณพนั้นไป แต่ปิงคุตระเป็นคนกาลกรรณีไม่มีบุญ ไม่ชอบนางกุมาริกานั้น รับนางไว้โดยคิดว่า จะปฏิบัติตามคำอาจารย์ เท่านั้น ไม่คิดรับนางเป็นภรรยาจริงๆ ปิงคุตระพานางกุมาริกาไปที่อยู่ของตน แต่ไม่สนใจว่านางจะเป็นอยู่อย่างไร เวลากินนางก็ต้องหากินเอง ถึงเวลานอน นางก็จะเข้าไปนอน บนเตียงกับปิงคุตระ ปิงคุตระเห็นนางมานอนเคียงข้าง ก็ลุกหนีไปนอนที่พื้นห้อง นางก็ลุกตามไปนอนด้วย ปิงคุตระเห็นนางมานอนด้วย ก็ลุกไปนอนบนเตียง คนหนึ่งหนีคนหนึ่งตาม อยู่อย่างนี้ทั้งคืน ขึ้นชื่อว่ากาลกรรณีย่อมไม่ร่วมกับสิริ เหตุการณ์ดำเนินไปอย่างนี้ถึง 7 วัน ปิงคุตระจึงลาอาจารย์พานางกุมาริกา เดินทางไปเมืองมิถิลาบ้านเกิด ถึงเขตเมืองมิถิลาแล้ว ต่างคนต่างก็ร้อนและหิว จึงเข้าไปพักผ่อนที่ใต้ต้นมะเดื่อ (ต้นอุทุมพร) ที่มีผลสุกต้นหนึ่ง ปิงคุตระปีนขึ้นต้นไม้ เก็บผลมะเดื่อมากิน นางกุมาริกาหิวก็ขอกินบ้าง ปิงคุตระกล่าวว่า  " มือเท้าของเจ้าก็มี ก็ขึ้นมาเก็บกินเองซี "   นางจึงต้องปีนขึ้นเก็บผลมะเดื่อกิน ด้วยตนเอง ฝ่ายปิงคุตระ เห็นนางขึ้นไปอยู่บนต้นมะเดื่อ ก็รีบลงข้างล่าง ทำการล้อมต้นมะเดื่อ ด้วยลวดหนามแหลม โดยคิดว่า คราวนี้เราพ้นจากหญิงกาลกรรณีแล้ว จึงหนีไป นางกุมาริกานั้นเมื่อลงไม่ได้ ก็นั่งอยู่บนต้นไม้นั่นเอง วันนั้น พระเจ้าวิเทหราชเสด็จประพาส พระราชอุทยาน ผ่านมาทางนั้นในเวลาเย็น ทอดพระเนตรเห็นนางกุมาริกานั้น มีพระหฤทัยปฏิพัทธ์นาง จึงตรัสถามความเป็นมาของนาง เมื่อทรงทราบเรื่องแล้วทรงดำริว่า ภัณฑะไม่มีเจ้าของ ก็ต้องตกเป็นของหลวง จึงทรงรับนางกลับพระราชวัง แล้วอภิเษกไว้ในตำแหน่งอัครมเหสี ผู้เป็นที่รัก พระนามว่า พระนางอุทุมพรเทวี เพราะทรงได้นางมาจากต้นอุทุมพร (ต้นมะเดื่อ)

หน้า1    หน้า2    หน้า3

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย