วรรณกรรม สุภาษิต ข้อคิด คำคม สำนวน โวหาร งานเขียน >>

ศัพท์ทางการเมือง

โดย ภัสรา เทพบุญ

คำศัพท์ที่เกี่ยวกับอาวุธ
คำศัพท์ที่เกี่ยวกับการแข่งขัน หรือกีฬา
คำศัพท์ที่เกี่ยวกับการตกแต่ง การแต่งกาย
คำศัพท์ที่เกี่ยวกับโสเภณี
ภาคผนวก

คำศัพท์ที่เกี่ยวกับการแข่งขัน หรือกีฬา

จะมีความหมายที่ให้ให้ภาพลักษณ์ของการแบ่งพรรคแบ่งพวก เป็นฝ่ายเดียวกัน ฝ่ายตรงข้าม มีการแข่งขันกัน เหมือนเกมส์กีฬา คือจะต้องมีผู้แพ้ ผู้ชนะ มีกฏเกณฑ์กติกาต่าง ๆ ทั้งที่ความจริงแล้ว การเมืองไม่ควรเป็นเรื่องของการแข่งขัน ดังนั้นจึงไม่ควรมีผู้แพ้ ผู้ชนะ เพราะทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันสร้างสรรค์นโยบายในการพัฒนาประเทศเพื่อให้เกิดประโยชน์กับคนหมู่มาก แต่สภาพการเมืองไทยจะเป็นในลักษณะของการแข่งขันกัน เพื่อให้ฝ่ายตนมีสิทธิในการเป็นผู้จัดสรรทรัพยากร เมื่อใช้ในบริบททางการเมือง จึงทำให้เห็นภาพการเมืองเป็นการชิงดีชิงเด่น การต่อสู้ ที่มีการโกง การทำผิดกติกา และระเบียบข้อบังคับ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพียงเพื่อประโยชน์ที่ตนจะได้รับเท่านั้น

ตัวอย่างที่ 1 คืนสนาม
ตามปกติคำว่า “คืนสนาม” จะใช้ในความหมายของการกลับเข้ามาเล่น (กีฬา)ใหม่อีกครั้งหลังจากที่หยุดไป แต่ในการใช้เป็นศัพท์เกี่ยวกับการเมืองนี้จะหมายถึง การกลับเข้ามาลงสมัคร ส.ส. อีกครั้ง หลังจากที่หยุดไปหลายสมัย ซึ่งจะเป็นการเปรียบเทียบว่า การกลับมาสมัคร ส.ส.อีกครั้ง เปรียบเหมือนกับการกลับเข้ามาเล่นกีฬาที่จะต้องเตรียมตัวมาให้ดีที่สุดเพื่อแข่งขันกับ ฝ่ายคู่ต่อสู้นั่นเอง

ตัวอย่างที่ 2 ชักใบแดง
ตามปกติ “ใบแดง” เป็นสัญลักษณ์ของการเล่นผิดกติกา ซึ่งจะได้รับเมื่อผู้เล่นฟุตบอลทำผิดและกรรมการตัดสินให้ออกจากสนาม เมื่อนำมาใช้เป็นศัพท์ทางการเมือง หมายถึง การถูกคณะกรรมการเลือกตั้งระบุว่าทำผิดกฏหมาย การเลือกตั้ง คำศัพท์นี้แสดงให้เห็นว่า “ใบแดง” ในภาษาการเมืองนั้นเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจสิทธิขาดของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะบ่งชี้ลงไปว่าใครบ้างที่ทำผิดและไม่มีสิทธิลงสมัครเลือกตั้ง



ตัวอย่างที่ 3 แพ้ฟาวล์
ความหมายเดิม จะหมายถึง การถูกจับแพ้เนื่องจากเล่น (กีฬา) ผิดกติการ แต่เมื่อนำมาใช้ในการเมือง จะหมายถึง การไม่มีสิทธิลงสมัคร ส.ส. เพราะทำผิดกฏหมายการเลือกตั้ง ซึ่งจะมีลักษณะที่คล้ายกันคือ กฏเกณฑ์ในการสมัครเลือกตั้ง จะเหมือนกับกฏกติกาในการเล่นกีฬา

ตัวอย่างที่ 4 เตะเข้าโกล
ในกรณีนี้ หมายถึง การซื้อเสียงหน้าหน่วยเลือกตั้งในวันเลือกตั้งจริง ๆ

ตัวอย่างที่ 5 เข้ามุม
ในความหมายเดิมมักใช้กับกีฬาประเภทมวย เมื่อหยุดพักจะมีการกลับเข้ามุมของตนเมื่อนำมาใช้ในความหมายทางการเมือง จะหมายถึง การตั้งหลักรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจ

ตัวอย่างที่ 6 สอบซ่อม
ในความหมายเดิมอาจไม่เกี่ยวข้องกับการกีฬา แต่จะเป็นลักษณะของการแข่งขันโดยมีเกณฑ์มาตรฐานตั้งไว้ ถ้าทำการทดสอบแล้วไม่ผ่านมาตรฐานก็ต้องมีการทดสอบอีกครั้งเพื่อให้ผ่านเกณฑ์ซึ่งเรียกว่าสอบซ่อม เมื่อนำมาใช้ในความหมายทางการเมืองจะหมายถึง การใช้เงินหรือสิ่งของช่วยเรียกคะแนนเสียงที่ยังขาดอยู่ บางครั้งอาจมีการสัญญาไว้ว่าจะสร้างสาธารณูปโภคให้ เมื่อตนชนะการเลือกตั้ง

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย