ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

กรรมกับอนัตตาในพระพุทธศาสนา

โดย พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร (พรรณา) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

       แนวคิดเรื่อง อัตตา หรือ อาตมัน เป็นแนวความคิดกระแสหลักที่สำนักปรัชญาอินเดียโบราณเกือบทุกสำนักยอมรับมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะสำนักปรัชญาที่ยอมรับคัมภีร์พระเวท เหตุผลอาจจะเนื่องมาจากว่าแนวคิดนี้สามารถตอบปัญหาข้อสงสัยหลัก ๆ ของมนุษย์ได้ เช่น ปัญหาเรื่องชีวิตหลังความตาย การเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ หรือผู้ทำกรรมและผู้รับผลกรรม นักคิดอินเดียโบราณมีความเห็นร่วมกันอย่างหนึ่งว่าชีวิตร่างกายของเราเป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอน มีความเปลี่ยนแปลงอยู่อย่างต่อเนื่องและจะต้องแตกสลายไปในที่สุด แต่ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนี้ มีบางสิ่งที่เที่ยงแท้ถาวรอยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์นั้น บางสิ่งที่ว่านี้นักคิดแต่ละสำนักมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป เช่น “อัตตา” “อาตมัน” “ชีวาตมัน” “สัตว์” “บุคคล” หรือ “ชีวะ” คำเรียกเหล่านี้บ่งถึงแก่นแท้อันเป็นศูนย์กลางชีวิตที่อยู่เบื้องหลังการทำ กรรมดีกรรมชั่วของบุคคล เป็นผู้ที่คอยรับผลกรรมดีกรรมชั่วทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เป็นผู้ที่ท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ แม้การที่จะเข้าถึงอุดมคติสูงสุดของชีวิต ก็เป็นหน้าที่ของสิ่งนี้เองที่จะต้องพัฒนาตนเองจนสามารถกำจัดอวิทยาได้หมดไปแล้วบรรลุถึงอุดมคตินั้น ในทัศนะของนักคิดเหล่านี้ ระบบปรัชญาใดก็ตามที่เสนอแนวคิดทางจริยศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องความดี/ความชั่ว การเวียนว่ายตายเกิด หรือชีวิตในอุดมคติ เป็นต้น โดยไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานของการยอมรับความจริงทางอภิปรัชญาเกี่ยวกับอัตตา ต้องถือว่าเป็นระบบจริยศาสตร์ที่ตั้งอยู่บนความว่างเปล่าหรือไม่มีความจริงเป็นฐานรองรับนั่นเอง

พุทธปรัชญามีแนวคิดบางอย่างร่วมกันกับปรัชญาอินเดียสำนักอื่น ๆ เช่น แนวคิดเรื่องกรรม เรื่องความทุกข์ และความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของชีวิตที่ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏ แต่แนวคิดที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนที่ทำให้พุทธปรัชญาแตกต่างจากปรัชญาอินเดียสำนักอื่น คือ ไม่เชื่อว่ามีอัตตาหรือตัวตนอันเป็นแก่นแท้ของชีวิตที่อยู่เบื้องหลังความเปลี่ยนแปลง คำว่า อัตตา เป็นบัญญัติหรือ มโนทัศน์ (Concept) ที่มนุษย์สมมติกันขึ้นมาเท่านั้น นี้คือแนวคิดแปลกใหม่ที่เดินสวนกระแสแนวคิดแบบจารีตประเพณีอย่างสิ้นเชิง และขัดแย้งกับสามัญสำนึกของคนทั่วไปเกินกว่าที่จะยอมรับได้ ทันทีที่แนวคิดนี้ถูกเสนอขึ้นมา ทั้งคำถามและข้อสงสัยต่าง ๆ ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนถึงปัจจุบัน เช่น กรรมกับอนัตตาขัดแย้งกันเองหรือไม่ ถ้าไม่ยอมรับเรื่องอัตตาจะตอบปัญหาเรื่องกรรมและการเวียนว่ายตายเกิดได้อย่างไร ถ้าไม่มีอัตตาเสียแล้วใครเป็นผู้กระทำกรรมและใครเป็นผู้รับผลแห่งกรรม หรือใครเป็นผู้ปฏิบัติธรรมและใครเป็นผู้บรรลุธรรม หรือเป็นไปได้อย่างไรที่ยอมรับหลักกรรมแต่ปฏิเสธตัวผู้ทำกรรม ในพระไตรปิฎก มีข้อความหลายแห่งที่สะท้อนให้เห็นความรู้สึกขัดแย้งในสามัญสำนึกของผู้ที่เข้ามาถามปัญหาพระพุทธเจ้า เช่น คำถามของภิกษุรูปหนึ่งที่ว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่ารูปเป็นอนัตตา เวทนาเป็นอนัตตา สัญญาเป็นอนัตตา สังขารเป็นอนัตตา วิญญาณเป็นอนัตตา เพราะเหตุนั้น กรรมทั้งหลายที่อนัตตาทำจักถูกต้องอัตตาได้อย่างไร” นี้อาจจะเป็นโจทย์ข้อสำคัญที่สุดที่ทำให้ชาวพุทธยุคหลังพุทธกาลพยายามหาทางตอบมาตลอดประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา

 

นักวิชาการหลายท่านมองว่า วรรณกรรมสายพระอภิธรรมที่เสนอคำสอนแบบสุขุมลุ่มลึกในเชิงวิชาการจะเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะหาทางออกให้กับปัญหาดังกล่าวนี้ นอกจากนั้น ความพยายามที่จะตอบปัญหานี้น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้วงการคณะสงฆ์ในสมัยหลังพุทธกาลแตกออกเป็นนิกายต่าง ๆ ดังจะเห็นได้ว่า ในคัมภีร์กถาวัตถุ พระโมคคัลลีบุตรได้ให้ความสำคัญกับปัญหาเรื่องอัตตา/อนัตตาจนถึงขนาดต้องจัดหัวข้อเรื่อง “ปุคฺคลกถา” ไว้เป็นลำดับที่หนึ่ง ในกถานี้ได้กล่าวถึงคณะสงฆ์กลุ่มหนึ่งชื่อว่าปุคคลวาท ว่าเป็นนิกายที่ยอมรับความมีอยู่บุคคล (individuality) กลุ่มนิกายนี้ยอมรับว่าขันธ์ 5 มีความเปลี่ยนแปลง แต่ในท่ามกลางความเปลี่ยนนั้นมีนสิ่งที่เรียกว่า “บุคคล” เป็นฐานรองรับอยู่ บุคคลนี้ไม่ใช่ขันธ์ 5 ในขณะเดียวกันก็ไม่เป็นอื่นจากขันธ์ 5 และบุคคลนี้เองที่จะไปเกิดใหม่เมื่อละโลกนี้ไปแล้วอีกนิกายหนึ่งได้แก่นิกายสัพพัตถิกวาท แม้จะมีแนวคิดร่วมกับคณะสงฆ์นิกายอื่น ๆ ที่ยอมรับว่าสิ่งทั้งปวงมีความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง แต่ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนี้มีบางสิ่งคงอยู่ตลอดทั้งสามคือ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต สิ่งที่คงอยู่นี้คือ ความเป็นรูป (รูปภาวะ) ความเป็นเวทนา (เวทนาภาวะ) ความเป็นสัญญา (สัญญาภาวะ) ความเป็นสังขาร (สังขารภาวะ) และ ความเป็นวิญญาณ (วิญญาณภาวะ) ถามว่า นิกายปุคคลวาทจึงยอมรับแนวคิดบุคคล และทำไมนิกายสัพพัตถิกวาทจึงยอมรับความคงอยู่ตลอดกาลทั้งสามของสิ่งทั้งปวง เป็นไปได้หรือไม่ว่านิกายเหล่านี้ไม่พอใจเหตุผลสนับสนุนการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างกรรมกับอนัตตาเท่าที่ยอมรับกันในยุคนั้น จึงได้เสนอเหตุผลใหม่โดยยกเอาสิ่งที่เรียกว่า “บุคคล” หรือ “ภาวะ” ที่อยู่เบื้องหลังความเปลี่ยนแปลงของขันธ์ 5 มาเป็นฐานในการตอบปัญหาเรื่องกรรมกับอนัตตา

มิลินทปัญหาเป็นวรรณกรรมที่เกิดหลังพุทธกาลประมาณ พ.ศ. 500 เนื้อหาของวรรณกรรมชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาเรื่องกรรมกับอนัตตายังคงเป็นปัญหาที่สังคมยุคนั้นให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ ของปัญหาทั้งหลาย วรรณกรรมชิ้นนี้ได้ยกเอาปัญหานี้ขึ้นมาอยู่ในลำดับแรกเช่นเดียวกับคัมภีร์กถาวัตถุ ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่าความพยายามในการตอบปัญหาเรื่องกรรมกับอนัตตาเท่าที่ทำมาตลอด 500 ปีนั้น ยังไม่เป็นที่น่าพอใจและไม่สามรถแก้ข้อสงสัยของผู้คนในสังคมได้ทุกประเด็น พระเจ้ามิลินท์คือตัวแทนของคนยุคนั้นที่ยังมีข้อสงสัยในแนวคิดเรื่องอนัตตาของพระพุทธศาสนา ในขณะที่พระนาคเสนคือตัวแทนของคณะสงฆ์ในยุคหลังพุทธกาล ที่พยายามหาคำอธิบายหรือเหตุผลสนับสนุนความสอดคล้องกันระหว่างแนวคิดเรื่อง “กรรม” กับ “อนัตตา” ของพระพุทธศาสนา

ในงานเขียนชิ้นนี้ ผู้เขียนจะจำกัดขอบเขตการอภิปรายเฉพาะประเด็นปัญหาเรื่องกรรมกับอนัตตาในมิลินทปัญหาเท่านั้น เพื่อที่จะตอบปัญหาว่า พระเจ้ามิลินท์ใช้เหตุผลอะไรในการโต้แย้ง (Arguments) แนวคิดเรื่อง “กรรม” กับ “อนัตตา” ของพระพุทธศาสนา และพระนาคเสนได้ใช้เหตุผลอะไรในการแก้ข้อโต้แย้งดังกล่าวนั้น

ปัญหาเรื่องบัญญัติ กับความจริง
อนัตตามีปัญหาอย่างไร
วิธีพิสูจน์ความมีอยู่ของอัตตา
การตอบปัญหาของพระนาคเสน
ทฤษฎีความสืบเนื่อง

บรรณานุกรม

  • มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาบาลี ฉบับมหาจุฬาเตปิฏกํ 2500. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2535.
  • --------------. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2538.
  • --------------. มิลินฺทปญฺหปกรณํ. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์วิญญาณ, 2540.
  • ปุ้ย แสงฉาย, มิลินทปัญหา ฉบับพร้อมด้วยอรรถกถา ฎีกา. กรุงเทพมหานคร : สำนักงานลูก ส.ธรรมภักดี, 2528.
  • สมภาร พรมทา. คือความว่างเปล่า. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์พุทธชาด, 2539.

    ภาษาอังกฤษ
  • Caygill, Howard. A Kant Dictionary Cambridge: Blackwell Publishers Ltd., 1996.
  • Davids, Rhys T.W. The Question of King Milinda. Delhi: Motilal Banarsidass Publishers, 1975.
  • Dutt, Nalinaksha. Buddhist Sects in India (Delhi: Montilal Banarasidass, 1989.

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย