ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>

ศึกษาความหมายและความเป็นมาของวิชาปรัชญา

ธรรมชาติของจิต มโน หรือวิญญาณ

เรื่องธรรมชาติของจิต มโน หรือวิญญาณ เป็นเรื่องที่ซับซ้อน และปัญหาเกี่ยวกับจิตของมนุษย์นี้ ก็ถือว่าเป็นปัญหาสำคัญที่นักปรัชญาจะต้องหาคำตอบ เพราะเป็นเรื่องที่ลึกลับ สลับซับซ้อนมากกว่าปัญหาอื่น ๆ ในเรื่องของจิตนี้ นักปรัชญาพยายามหาคำตอบที่ว่า จิตคืออะไร หรือธรรมชาติของจิตเป็นอย่างไร จิตกับร่างกายมีความสัมพันธ์กันอย่างไร จิตมีสภาพเป็นอย่างไรเมื่อร่างกายแตกดับไป เหล่านี้เป็นต้น

พระพุทธศาสนาถือว่า จิต มโน วิญญาณ เป็นอย่างเดียวกันในด้านสภาวะ แต่ชื่อใช้เรียกเท่านั้นที่ต่างกัน ดังพระพุทธดำรัสว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลธรรมชาติใดที่เรียกว่าจิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง ธรรมชาตินั้น ขณะที่ดวงเก่ากำลังดับ ดวงใหม่ก็กำลังเกิดขึ้น เป็นอย่างนี้เรื่อยไปตลอดวันและคืน” (สํ.นิ. 16/231/115)

จากพระพุทธพจน์บทนี้ จะเห็นว่า

  1. คำว่า จิต มโน วิญญาณ เป็นธรรมชาติอย่างเดียวกัน
  2. คำว่า จิต มโน วิญญาณ เกิดดับอยู่เสมอ ตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน
  3. การเกิดดับของจิต มโน วิญญาณ เป็นไปในลักษณะสืบต่อ กล่าวคือเมื่อดวงเก่ากำลังจะดับ ดวงใหม่ก็อาศัยพลังงานจากดวงเก่าเกิดขึ้น

คำว่า “จิต มโน หรือวิญญาณ” พระพุทธองค์ทรงใช้คำเหล่านี้ในหลาย ๆ แห่ง ซึ่งหมายถึงธรรมชาติของจิตตามทัศนะของพระพุทธศาสนานั่นเอง ดังปรากฏเป็นหลักฐานดังนี้

  1. พระพุทธองค์ทรงใช้คำว่า วิญญาณ อันหมายถึงธรรมชาติที่เป็นวิญญาณโดยตรง ในปฏิจจสมุปบาท โดยตรัสคำว่า “วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ ซึ่งแปลว่า นามรูป ย่อมมีเพราะอาศัยวิญญาณเป็นปัจจัย”
  2. พระพุทธองค์ตรัสถึงการเกิดใหม่ของสัตว์ว่า วิญฺาณพีชํ แปลว่า สัตว์ไปเกิดได้ เพราะมีวิญญาณเป็นเสมือนเมล็ดพืช
  3. พระพุทธองค์ตรัสเรียกว่า มโน เช่น มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺา มโนมยา มนสา เจ ปทุฏฺเน ภาสติ วา กโรติ วา ฯ
    - มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา แปลว่า ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า
    - มโนเสฏฺา แปลว่า มีใจประเสริฐที่สุด
    - มโนมยา แปลว่า สำเร็จแล้วด้วยใจ
    - มโนกรรม หมายถึงการกระทำทางใจ กล่าวคือการคิด
  4. ในคาถาพระธรรมบท พระพุทธองค์ได้ตรัสลักษณะของจิตไว้ว่า
    - ทูรงฺคมํ แปลว่า รับอารมณ์แม้อยู่ในที่ไกล
    - เอกจรํ แปลว่า เที่ยวไปดวงเดียว
    - อสรีรํ แปลว่า ไม่มีร่างกาย
    - คุหาสยํ แปลว่า มีถ้ำคือร่างกายเป็นที่อยู่

พระเมธีธรรมาภรณ์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) ได้กล่าวเปรียบเทียบเรื่องจิตไว้ว่า

“เมื่อจิตคิดถึงสิ่งใดก็ตาม จะประกาศเปิดเผยสิ่งนั้นให้ปรากฏในโลก ถ้าโลกนี้ไม่มีจิต สิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่ก็ไม่ถูกรับรู้ สิ่งเหล่านั้นมีก็เหมือนไม่มี เช่น ทุ่งหญ้า ไม่รู้ว่าตัวเองอยู่บนแผ่นดิน แผ่นดินก็ไม่รู้ว่ามีภูเขา ภูเขาก็ไม่รู้ว่ามีลำธารอยู่ข้าง ๆ ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในความลับดำมืด เพราะไม่มีการรับรู้ซึ่งกันและกัน แต่เพราะโลกนี้มีจิต ความมีอยู่ของสิ่งต่าง ๆ จึงถูกประกาศเปิดเผยออกมา จิตจึงเหมือนกับแสงไฟซึ่งส่องสว่างโลกนี้” (พระเมธีธรรมาภรณ์, 2533: 33)

ดังนั้นเมื่อพูดถึงลักษณะของจิตตามหลักพระพุทธศาสนาแล้ว ก็แบ่งได้เป็น 2 อย่างคือ

1. สามัญญลักษณะ หมายถึงลักษณะที่ทั่วไปของจิตที่เป็นไปตามธรรมชาติ เช่นเดียวกับสภาวธรรมอื่น ๆ คือลักษณะที่ถูกครอบงำด้วยไตรลักษณ์ อันได้แก่

  1. อนิจจัง ไม่เที่ยง ไม่มั่นคง ไม่ยั่งยืน ตั้งอยู่ไม่ได้ตลอดกาล ภาวะที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมสลายไป
  2. ทุกขัง ไม่สามารถทนอยู่ได้ตลอดไป เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน มีอาการเกิดดับอยู่ตลอดเวลา หรือเป็นภาวะที่ถูกบีบคั้นด้วยการเกิดขึ้นและสลายตัว ภาวะที่กดดัน ฝืนและขัดแย้งอยู่ในตัว
  3. อนัตตา เป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนเป็นสิ่งที่บังคับบัญชาให้ยั่งยืน หรือให้คงทนอยู่ไม่ได้ บังคับให้เกิดและดับไม่ได้ เพราะความไม่มีตัวตน

2. วิเสสลักษณะ หมายถึงลักษณะเฉพาะตัวที่ทำให้เกิดเป็นจิต 4 ประเภทคือ

  1. ลักษณะ คือลักษณะธรรมชาติของจิตได้แก่ การรู้แจ้งในอารมณ์
  2. รสะ คือหน้าที่ที่ดำเนินไปตามลักษณะเฉพาะตัวของมัน ได้แก่เป็นประธานในการรู้ทั้งปวง (โดยอาศัยอายตนะทั้ง 6)
  3. ปัจจุปัฏฐาน คืออาการที่ปรากฏอันเกิดจากการทำงานของจิตได้แก่ การดับขึ้นต่อเนื่องไม่ขาดสาย
  4. ปัฏฐาน คือเหตุใกล้ที่ทำให้เกิดของจิต เช่นวัตถุรูป อายตนะ และมนสิการ การกระทบกันของเหตุใกล้ทั้ง 3 นี้ ทำให้เกิดการทำงานของจิตที่ต่อเนื่องไม่ขาดสาย

แต่เมื่อกล่าวถึงลักษณะทั่วไปของจิตที่เป็นไปบุคคลทั่วไป หรือเกิดขึ้นแก่ปุถุชน อาจมีลักษณะที่พอสรุปได้ดังนี้

  1. ผนฺทนํ ดิ้นรน คือดิ้นรนออกไปรับอารมณ์ที่มากระทบตามทวารต่าง ๆ
  2. จปลํ กวัดแกว่ง คือขาดความมั่นคง เมื่อมีอารมณ์มากระทบเข้าก็อดที่จะหวั่นไหวไปตามอารมณ์นั้นไม่ได้
  3. ทุรกฺขํ รักษาได้ยาก คือการที่จะระวังรักษาจิตให้คิดอยู่แต่ในสิ่งที่ดีตลอดเวลานั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก
  4. ทุนฺนิวารยํ ห้ามไว้ได้ยาก คือพยายามระวังจิตไม่ให้คิดในสิ่งที่ไม่ดีนั้น ก็ทำได้ยาก
  5. ทุนฺนิคฺคหํ ข่มได้ยาก คือเมื่อจิตคิดแต่สิ่งที่เป็นความชั่วแล้ว การที่จะบีบบังคับให้จิตถอยห่างจากความชั่ว ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก
  6. กามนิปาตนํ มักตกไปสู่กามารมณ์เสมอ
  7. สุณิปุนํ เป็นสภาวะที่ละเอียดอ่อน
  8. ลหุ เกิดและดับเร็ว

คำว่า จิต มโน หรือวิญญาณ มีรูปวิเคราะห์ดังนี้

  1. คำว่า “จิต” วิเคราะห์ว่า จินฺเตตีติ จิตฺตํ แปลว่า ที่ชื่อว่า จิต เพราะมีความหมายว่า ย่อมคิด ย่อมนึกถึงอารมณ์ (อีกอย่างหนึ่ง ธรรมชาติใด ย่อมคิด ธรรมชาตินั้นชื่อว่า จิต)
  2. คำว่า “มโน” วิเคราะห์ว่า มุนเต พุชฺฌตีติ มโน แปลว่า ที่ชื่อว่า มโน เพราะมีความว่า รู้ (อีกอย่างหนึ่ง ธรรมชาติใดย่อมน้อมไปหาอารมณ์ ธรรมชาตินั้นชื่อว่า มโน)
  3. คำว่า “วิญญาณ” วิเคราะห์ว่า วิชานาตีติ วิญฺาณํ แปลว่า ที่ชื่อว่าวิญญาณ เพราะมีความหมายว่า รู้แจ้ง รู้วิเศษ รู้ต่าง ๆ (อีกอย่างหนึ่ง ธรรมชาติใดที่รู้แจ้งอารมณ์ ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า วิญญาณ)

เมื่อพิจารณาถึงปัญหาเกี่ยวกับธรรมชาติของจิต มโน หรือวิญญาณแล้ว ในทัศนะปรัชญาตะวันตกมีคำตอบอยู่ 5 กลุ่ม33ดังต่อไปนี้

1. สสารนิยม (Materialism) นักปรัชญากลุ่มสสารนิยม ซึ่งมีความเชื่อพื้นฐานที่ว่า ความแท้จริงของสรรพสิ่งมีเพียงสสารอย่างเดียวเท่านั้น จิตเป็นรูปแบบการทำงานของสสาร สสารที่มีโครงสร้างซับซ้อนสามารถทำงานได้มากกว่าสสารที่มีโครงสร้างง่าย ๆ โดยเฉพาะร่างกายมนุษย์มีระบบประสาทซึ่งเป็นสสารเชื่อมโยงกับสมองซึ่งก็เป็นสสารเช่นกัน

ระบบประสาทและสมองทำงานร่วมกันจนสามารถคิดหรือมีปฏิกิริยาโต้ตอบต่อสิ่งเร้าได้ เหตุการณ์ทางจิตและเหตุการณ์ทางกายมีลักษณะอย่างเดียวกัน คือเกิดจากประสานสัมพันธ์ของมวลสารที่เคลื่อนไหว การเคลื่อนไหวทางกายภาพที่เกิดขึ้นในสมองเรียกว่า การคิด และนี่เป็นผลของเหตุการณ์อื่นในโลกของสสารไม่ว่าในร่างกายเราหรือนอกร่างกายเรา

ดังนั้น การเกิดการเคลื่อนไหวทางกายภาพในตัวเราและนอกตัวเรา ความรู้สึกทุกอย่าง ไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากกระบวนการทางภายภาพในระบบประสาทและสมองของเรา เมื่อจิตคือการทำงานของระบบประสาทและสมอง เมื่อร่างกายแตกสลาย จิตก็ดับสูญไปด้วย

ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ นักสสารนิยมจึงตอบคำถามว่า “จิตคือสสาร” (Mind is Matter)

2. จิตนิยม (Idealism) นักปรัชญากลุ่มจิตนิยม ซึ่งมีความเชื่อพื้นฐานที่ว่า ความแท้จริงของสรรพสิ่งมีเพียงจิตดวงเดียว เป็นอสสาร แบ่งแยกไม่ได้ และเป็นอมตะ ดังนั้น นักจิตนิยมจึงให้ตอบว่า “จิตคือสาระ” (Mind is Substance) คำว่า สาระ หมายถึง แก่นแท้ หรือความเป็นจริงเบื้องหลัง หรือสิ่งที่ทำให้คุณภาพต่าง ๆ มีอยู่ได้ ไม่สามารถมองเห็นหรือจับต้องไม่ได้

3. จิตคือตัวการจัดระเบียบ เป็นศูนย์กลางของการจัดระบบความรู้ เป็นแนวความคิดของค้านท์ (Immanuel Kant) โดยถือว่าจิตเป็นตัวการกระทำ หรือตัวจัดการที่จัดการสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามาสู่ตัวเราทางประสาทสัมผัสให้เป็นระบบความรู้ เป็นตัวการหรือกลไกในการรับรู้สิ่งต่าง ๆ นั่นแสดงให้เห็นว่า เราจะรู้ว่าสิ่งต่าง ๆ เป็นอย่างไรก็ต้องผ่านการจัดการของจิต จิตมีกลไกการถ่ายแบบสิ่งภายนอกให้เราเข้าใจได้ จิตไม่ใช่สิ่งหรือสาระที่เป็นเอกเทศต่างหาก แต่เป็นการจัดระบบและจัดเอกภาพของประสบการณ์ของมนุษย์ให้เป็นความรู้

4. จิตคือผลรวมทั้งหมดของประสบการณ์ เกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นแนวความคิดของฮิวม์ (David Hume) โดยกล่าวคัดค้านแนวความคิดของกลุ่มจิตนิยมที่บอกว่า จิตคือสาระ แยกต่างหากจากร่างกาย ฮิวม์ถือว่า ความรู้ทุกอย่างมาจากประสบการณ์และสิ่งที่มีในจิตหรือความคิดคือภาพพิมพ์ใจ (Impression) และมโนคติ (Idea)

ภาพพิมพ์ใจ หรือรอยประทับ คือสิ่งที่เรารับรู้ขณะมีประสบการณ์ ส่วนมโนคติคือภาพที่เลือนลางในความทรงจำหลังจากประสบการณ์นั้นผ่านพ้นไปแล้ว เมื่อเราสำรวจดูความคิดของเรา เราจะพบแต่ประสบการณ์ที่ผ่านไปแต่ละครั้ง และภาพในความทรงจำของประสบการณ์ สิ่งเหล่านี้ไม่คงที่และเราไม่พบหลักฐานอะไรที่จะเรียกว่าสาระที่คงที่ตลอดไป

เมื่อเป็นเช่นนี้ จิตรวมทั้งสมรรถนะ และคุณลักษณะของความเป็นจริงไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากการประสมประสานหรือผลรวมของการรับรู้ทางประสาทสัมผัส

5. จิตคือรูปแบบของพฤติกรรม กลุ่มนักปรัชญากลุ่มนี้โดยการนำ จอห์น ดิวอี้ (John Dewey) นักปรัชญาชาวอเมริกัน ตัวแทนกลุ่มปฏิบัตินิยม (Pragmatism) ซึ่งถือว่าจิตและการคิดเป็นลักษณะของการทำงานหรือการมีปฏิกิริยาต่อกันของเหตุการณ์ในธรรมชาติ จิตเป็นกิจกรรมแก้ปัญหา เมื่อเราเผชิญกับปัญหา เราก็กำหนดลักษณะของปัญหานั้นและคิดว่าจะแก้ไขอย่างไร

ดังนั้น จิตคือพฤติกรรมที่มีการปรับปรุงตัวเมื่อเผชิญกับสิ่งเร้าในธรรมชาติ หรือปัญหาข้อขัดแย้งเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ จิตจึงเป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์เพื่อประโยชน์ในการดำรงชีพ

ความหมายของปรัชญา
การนิยามความหมายของนักปรัชญา
ระบบปรัชญา
สาขาปรัชญา
อภิปรัชญาคืออะไร
ความหมายของอภิปรัชญา
ความเป็นมาของอภิปรัชญา
ความสัมพันธ์กับศาสตร์อื่นๆ
บ่อเกิดแนวความคิดทางอภิปรัชญา
หน้าที่ของอภิปรัชญา
ลักษณะและขอบเขตของอภิปรัชญา
ทฤษฎีทางอภิปรัชญา
ทฤษฎีสสารนิยม
ทฤษฎีจิตนิยม
ทฤษฎีเอกนิยม
ทฤษฎีทวินิยม
ทฤษฎีพหุนิยม
อภิปรัชญาว่าด้วยเอกภพ หรือธรรมชาติ
ทัศนะฝ่ายจิตนิยม
วิวัฒนาการของจิตนิยม
ทฤษฎีเอกนิยมฝ่ายจิตนิยม
ทฤษฎีพหุนิยมฝ่ายจิตนิยม
จิตนิยมทัศนะอภิปรัชญาตะวันตก
จิตนิยมทัศนะอภิปรัชญาตะวันออก
จิตนิยมในปรัชญาอินเดีย
ทัศนะฝ่ายสสารนิยม
ทฤษฎีพหุนิยมฝ่ายสสาร
สสารนิยมทัศนะอภิปรัชญาตะวันตก
สสารนิยมทัศนะอภิปรัชญาตะวันออก
ทัศนะฝ่ายธรรมชาตินิยม
ลักษณะและธรรมชาติของชีวิต
อภิปรัชญาว่าด้วยจิต หรือวิญญาณ
ความหมายของจิต มโน หรือวิญญาณ
การนิยามความหมายของฝ่ายตะวันตก
การนิยามความหมายของฝ่ายตะวันออก
ธรรมชาติของจิต มโน หรือวิญญาณ
วิญญาณเป็นพลังงาน
เจตจำนงเสรี (Free Will)
ความสัมพันธ์ระหว่างกายกับจิต
อมฤตภาพของวิญญาณ
ลัทธิเพลโต้ในทางอภิปรัชญา
ทัศนะของอริสโตเติ้ล (Aristotle)
ทัศนะของเบริ์คเล่ย์ (Berkeley)
อภิปรัชญาว่าด้วยพระเจ้า หรือสิ่งสัมบูรณ์
พระเจ้าคืออะไร
ความคิดรวบยอดเกี่ยวกับพระเจ้า
เทววิทยา
พิสูจน์ความมีอยู่ของพระเจ้า
เหตุผลทางจักรวาลวิทยา
เหตุผลทางเจตจำนง หรือวัตถุประสงค์
เหตุผลทางภววิทยา
เหตุผลทางจริยธรรม
นักปรัชญาฝ่ายอเทวนิยม (Atheism)
ทฤษฎีการสร้างโลก
จักรวาลวิทยา
ทัศนะของนักปรัชญาเกี่ยวกับพระเจ้า
บรรณานุกรม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย