ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>

ปรัชญาและอุดมการณ์ในการพัฒนาตนเอง

ความหมายของปรัชญาและอุดมการณ์
แนวคิดเกี่ยวกับปรัชญาและอุดมการณ์ในการพัฒนาตนเอง
การกำหนดปรัชญาและอุดมการณ์ในการพัฒนาตนเอง
ปรัชญาแห่งความสำเร็จ
ประโยชน์ของการกำหนดปรัชญาและอุดมการณ์ในการพัฒนาตนเอง
แนวทางการกำหนดปรัชญาและอุดมการณ์ในการพัฒนาตนเอง
การส่งเสริมปรัชญาและอุดมการณ์ในการพัฒนาตนเอง

ความหมายของปรัชญาและอุดมการณ์

นักวิชาการหลายท่านได้กล่าวถึงความหมายของคำว่า “ปรัชญาและอุดมการณ์” ไว้ดังต่อไปนี้

ความหมายของคำว่า “ปรัชญา”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 (2546, หน้า 668) กล่าวถึงความหมายคำว่าปรัชญา หมายถึง วิชาว่าด้วยหลักแห่งความรู้และความจริง

พจนานุกรมคอลไลเออร์ (Collier, s Dictionary, 2006) กล่าวว่า ปรัชญามีความหมายนัยแรก เป็นการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ความจริงขั้นรากฐานของธรรมชาติ ภารกิจหน้าที่ และเป้าประสงค์ของมนุษย์ จักรวาลและชีวิต อีกความหมายหนึ่ง ปรัชญา เป็นระบบที่นำวิถีชีวิตและการประพฤติปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปรัชญาเป็นหลักการและความเชื่อของบุคคลแต่ละคน

สุจิตรา อ่อนค้อม (2545, หน้า 1) กล่าวว่าปรัชญา เป็นศัพท์ที่พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ทรงบัญญัติขึ้นจากคำภาษาอังกฤษว่า ฟิโลโซฟี (philosophy) มาจากรากศัพท์ภาษากรีกโบราณว่า ฟิโลโซเฟีย (philosophia) ซึ่งคำคำนี้เมื่อนำมาแยกศัพท์จะได้สองคำคือ ฟิโล (philo) มีความหมายว่า เลิฟ (love) กับ โซเฟีย (sophia) มีความหมายว่า วิสดอม(wisdom) ดังนั้น ฟิโลโซเฟีย (philosophia) จึงมีความหมายว่า รักความรู้ รักที่จะมีความรู้ หรือความรักในปรีชาญาณ (love of wisdom)

สุรชาติ ณ หนองคาย (2545, หน้า 8-9) กล่าวว่าปรัชญา เป็นการใช้ปัญญาหรือญาณวิทยา (epistemology) ไปเป็นฐานในการตั้งคำถามทางปัญญา เพื่อจะได้กำหนดวิธีการที่เป็นวิธีการทางปัญญาในการตอบคำถามนั้น คำตอบที่ได้จะทำให้ญาณวิทยามีเพิ่มมากขึ้นจนสามารถตั้งคำถามทางปัญญาที่ลึกซึ้งขึ้นในรอบต่อไปได้ ซึ่งสามารถแบ่งปรัชญาเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือปรัชญาที่เป็นแนวคิด และปรัชญาปฏิบัติ

  1. ปรัชญาแนวคิด หมายถึง ฐานเชื่อที่มีอิทธิพลต่อการสรุปหรือตีความหมายจากการรับ สัมผัสของบุคคลและนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินถูกหรือผิด ดีหรือไม่ดี “คนโกหกไม่ทำบาปย่อมไม่มี” ถือเป็นเกณฑ์ตัดสินถูกหรือผิดของบุคคล
  2. ปรัชญาปฏิบัติ หมายถึง ฐานคิดที่มีอิทธิพลต่อการนำไปใช้ในการกำหนดวิธีการปฏิบัติ ของบุคคล เช่น “มีความพยายามอยู่ที่ใดมีความสำเร็จอยู่ที่นั่น” “ความรู้คู่คุณธรรมนำสู่ความสำเร็จ” ดังนั้น การนำฐานคิดนี้ไปใช้ก็เพื่อที่จะให้เกิดประสิทธิผล ฐานคิดดังกล่าวจึงถือเป็นปรัชญาปฏิบัติ เพราะความมุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดผลตามเป้าหมายที่วางไว้จะเป็นตัวกำหนดวิธีการทำงานของบุคคล มิใช่เกณฑ์ตัดสินถูกหรือผิดเหมือนปรัชญาแนวคิด ดังนั้นการเพิ่มพูนปัญญาให้เกิดขึ้นจึงพึงคำนึงถึงทั้งปรัชญาปฏิบัติและปรัชญาแนวคิด

จากความหมายที่กล่าวข้างต้นจะเห็นว่าเป็นการให้ความหมายตามอักษร แต่บางครั้งคำว่าปรัชญานั้นมีความหมายตามการใช้ด้วย ตัวอย่างเช่น

  • ปรัชญาความรัก “รักพี่จงหนีพ่อ รักน้องจริงอย่าทิ้งน้อง”
  • ปรัชญาขี้เมา “เมียตายไม่เสียดายเท่าเหล้าหก”
  • ปรัชญารถเมล์ “เมียหึง อย่าดึงเบาะ”

การให้คำจำกัดความของปรัชญานั้นยังไม่สามารถนิยามอย่างแจ่มแจ้งชัดเจน ทั้งนี้เพราะปรัชญาเป็นศาสตร์ที่มีขอบเขตกว้างขวางมากและไม่เฉพาะเจาะจงในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จึงไม่มีคำนิยามใดที่จะให้ความหมายของคำว่าปรัชญาได้อย่างสมบูรณ์และแน่นอนตายตัว ดังนั้นปรัชญาที่ใช้กันในความหมายข้างต้น จึงหมายถึง “แนวคิด คติ ความเชื่อ หรือข้อคิดที่พบเสมอในภาษาที่ใช้ประจำวัน”

ความหมายของคำว่า “อุดมการณ์”

ส่วนความหมายของคำว่าอุดมการณ์ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 (2546, หน้า 1,381) กล่าวว่าอุดมการณ์ (ideology) เป็นหลักการที่วางระเบียบไว้เป็นแนวปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้

ติน ปรัชญพฤทธิ์ (2548, หน้า 379) กล่าวว่า อุดมการณ์ นั้นเป็นคตินิยม แบบอย่าง แนวโน้มหรือวิธีการคิดของกลุ่มคนซึ่งมีความแกร่งและความยืนนานมากกว่าคตินิยม

พจนานุกรมคอลไลเออร์ (Collier, s Dictionary, 2006) กล่าวว่าอุดมการณ์ เป็นลักษณะผสมทั้งหมดของความเชื่อ (beliefs) เจตคติ (attitudes) และความคิดหลัก (concepts) มีอิทธิพลเป็นตัวชักนำและกำหนดทิศทางของความคิดของบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้กับคณะบุคคลที่เป็นสมาชิกของสังคมเดียวกัน กลุ่มเดียวกัน เช่น อยู่ในพรรคการเมืองเดียวกัน จะยึดอุดมการณ์เดียวกัน

วิทย์ วิศทเวทย์ (2544, หน้า 2) กล่าวว่า อุดมการณ์ เป็นสิ่งหรือสภาวะที่มีค่าที่สุด ดีที่สุด น่าพึงปรารถนาที่สุด เป็นจุดหมายปลายทาง กิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง เป็นเป้าหมายที่น่าพึงบรรลุมากกว่าเป้าหมายอื่น ๆ

จากความหมายของคำว่า อุดมการณ์ พอจำแนกคุณลักษณะที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่

1. หลักการ แนวคิด หรือความเชื่อ
2. เป้าหมายที่ต้องการ
3. วิธีปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ

ดังนั้น ความหมายของคำว่า อุดมการณ์ จึงหมายถึง จินตนาการ ที่ถือว่าเป็นมาตรฐานแห่งความดีงาม และความจริง ซึ่งถือว่าเป็นเป้าหมายแห่งชีวิตอันสูงส่งที่จูงใจ ให้มนุษย์พยายามบรรลุถึงความหมายของการพัฒนาตนเอง

สำหรับความหมายของคำว่าการพัฒนาตนเองนั้นก็เช่นกันมีผู้ให้ความหมายไว้หลายท่าน ดังต่อไปนี้

กรมปศุสัตว์ (2549) ได้กล่าวว่า การพัฒนาตนเอง หมายถึง การสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าจนเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นให้แก่ตนเอง ซึ่งมีองค์ประกอบของการพัฒนาตนเองมี 2 ลักษณะ คือ

  • ด้านพฤติกรรมภายใน หมายถึง การพัฒนาจิตใจ เพื่อให้บุคคลมีความเจริญด้วย ศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งจะได้นำปัญญาไปใช้ในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมด้านอื่น ๆ ต่อไป อย่างถูกต้อง เหมาะสม และเป็นธรรม
  • ด้านสิ่งแวดล้อมภายนอก หมายถึง การพัฒนาด้านทักษะความสัมพันธ์กับภายนอก เช่น การทำงานเป็นทีม ภาวะผู้นำ การประสานงาน การมีมนุษยสัมพันธ์ หรือแรงจูงใจ เป็นต้น

พนิดา ยิ้มแฉ่ง (2549) กล่าวว่า การพัฒนาตนเอง หมายถึง การที่คนเราต้องกระทำตัวให้เก่งขึ้น ซึ่งถ้าจะเก่งต้องประกอบด้วย 3 เก่ง คือ

1. เก่งตน (self ability)
หมายถึง เป็นผู้ที่ชอบศึกษาหาความรู้อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ทันโลก ทันคน โดยเริ่มจากการพัฒนาตนเองก่อน การพัฒนาตนเองนั้นพัฒนาได้ 3 ทางคือ

  • ทางกาย องค์ประกอบที่สำคัญ คือ รูปร่าง พัฒนาให้ดีขึ้นโดยใช้การแต่งกายช่วยลดจุดด้อยหรือเสริมจุดเด่น หน้าตาสดชื่นแจ่มใส สะอาดหมดจด อากัปกิริยา การแสดงออก เข้มแข็งแต่ไม่แข็งกระด้าง อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ การยืน การเดิน การนั่ง ต้องมั่นคง เรียบร้อย การแต่งกายต้องสะอาดเหมาะสมกับกาลเทศะ เหมาะสมกับรูปร่างและผิวพรรณ
  • ทางวาจา การพูดดีต้องมีองค์ประกอบ 4 ประการคือ พูดดี มีประโยชน์ ผู้ฟังชอบ และทุกคนปลอดภัย ก่อนพูดทุกครั้งต้องคิดก่อนพูด คนที่พูดดี มีปิยะวาจา เป็นลมปากที่หวานหูไม่รู้หาย เป็นที่รักใคร่ชอบพอแก่ทุก ๆ ฝ่ายที่ได้ยินได้ฟัง
  • ทางใจ การพัฒนาทางใจก็มีองค์ประกอบหลายประการ เช่น ความมั่นใจ ถ้ามี ความมั่นใจในตนเอง จะทำอะไรก็สำเร็จ ความจริงใจ คือ เป็นคนปากกับใจตรงกัน ความกระตือรือร้น กระฉับกระเฉง แจ่มใส มีชีวิตชีวา ความมานะพยายามไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค ความซื่อสัตย์สุจริต ความสุขใจ ความอดกลั้น ความมีเหตุผล การมีสมรรถภาพในการจำและมีความคิดสร้างสรรค์

2. เก่งคน (human ability)
หมายถึง เป็นผู้มีความสามารถที่จะทำตัวให้เข้าไหนเข้าได้เป็นที่ รักใคร่ชอบพอแก่ทุกฝ่าย มีมนุษยสัมพันธ์ในครอบครัว พ่อแม่ควรรู้หลักจิตวิทยาในการปกครองลูก ให้ความรัก ความอบอุ่นแก่ลูก ลูกก็ไม่ทำตนให้เป็นปัญหาให้พ่อแม่ และมีมนุษยสัมพันธ์ในการทำงาน สามารถทำตนให้เข้ากับคนได้กับทุกคน หากมีผู้บังคับบัญชา ผู้บังคับบัญชาก็รัก หากมีลูกน้อง ลูกน้องก็รัก เพื่อนร่วมงานก็รัก บุคคลภายนอกหรือลูกค้าก็รัก ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์กับตนเองและธุรกิจเป็นอย่างยิ่ง

3. เก่งงาน (task ability)
หมายถึง เป็นผู้ที่รักงาน ขยันทำงาน และรู้วิธีทำงาน มีความขยันหมั่นเพียร มานะ อดทน ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค

วิวัฒน์ วิริยะกิจจา (2544, หน้า 24-25) กล่าวว่า การพัฒนาตนเอง หมายถึง การพัฒนา ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของผู้บริหารและบุคลากรด้วยตนเอง สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน มีความมั่นใจและสามารถพึ่งตนเองได้ ไม่ต้องรอรับการตรวจสอบจากบุคคลอื่น

สมใจ ลักษณะ (2547, หน้า 81 ) กล่าวว่า การพัฒนาตนเอง หมายถึง การเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง แก้ไข สรรค์สร้าง เกี่ยวกับตนเอง เพื่อนำไปสู่ความดี ความงาม ความเจริญในตนเอง โดยมีความมุ่งหมายสูงสุด คือ การมีชีวิตที่มีคุณภาพ มีความสำเร็จในการปฏิบัติหน้าที่การงาน และมีความสุข

อัญญา ศรีสมพร (2548) กล่าวว่า การพัฒนาตนเอง หมายถึง การเสริมสร้างตนเองให้บรรลุมุ่งหมายแห่งชีวิต โดยไม่เบียดเบียนสิทธิของคนอื่น เป็นการสร้างสรรค์พัฒนาชีวิต และการงานของตนให้สูงเด่น มีคุณประโยชน์และมีความสุข การพัฒนาตนเองให้เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานและมีสภาพของชีวิตที่ดีขึ้นเป็นสิ่งที่ทุกคนมุ่งมาดปรารถนา สำหรับจุดมุ่งหมายแห่งชีวิตของบุคคลแต่ละบุคคลจะมีความแตกต่างกันไปอาจมีดังต่อไปนี้

  1. การพึ่งตนเองและเลี้ยงตนเองได้ หมายถึง ตนเองจะต้องสร้างตนเองให้สามารถ ประกอบอาชีพอย่างเป็นหลักฐานมั่นคง โดยมีรายได้สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้อย่างเหมาะสมและมีเกียรติ ไม่ใช่ต้องคอยรับความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นโดยตลอดหรือไม่สามารถช่วยตนเองได้
  2. การประสบความสำเร็จในชีวิตการงาน หมายถึง การประกอบอาชีพการงานนั้น จะต้องมีความเจริญก้าวหน้าในอาชีพอย่างเหมาะสมและพึงพอใจ โดยได้รับการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งหรือความดีความชอบอย่างต่อเนื่องทัดเทียมหรือดีกว่าบุคคลอื่นในหน่วยงานเดียวกัน การที่บุคคลจะประสบความสำเร็จในชีวิตการงานนั้น บุคคลนั้นจะต้องมีความรู้ ความสามารถ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีความรับผิดชอบและมีความตั้งใจจริงในการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งจะต้องมีความประพฤติและนิสัยดีสามารถทำงานร่วมกับบุคคลอื่นได้เป็นอย่างดี
  3. การทำประโยชน์แก่สังคม หมายถึง การที่บุคคลในสังคมใดสังคมหนึ่งควรจะต้องมี ความรับผิดชอบสังคมนั้น โดยหาทางช่วยเหลือ สนับสนุนให้สังคมของตนเจริญก้าวหน้าเป็นปึกแผ่น เพื่อให้การอยู่ร่วมกันของบุคคลในสังคมเป็นไปอย่างราบรื่นและมีความสุข บุคคลจะมีชีวิตอย่างเป็นสุขได้จะต้องไม่เห็นแก่ตัวจนเกินไป จะต้องมีการเผื่อแผ่และช่วยเหลือบุคคลอื่นด้วยเพราะไม่มีใครสามารถอยู่คนเดียวในโลกได้จำเป็นต้องมี พ่อ แม่ ญาติ พี่น้อง เพื่อนฝูง และหมู่คณะ ฉะนั้นการทำประโยชน์และการช่วยเหลือสังคม เช่น การสร้างสาธารณะสถาน การร่วมกันบำเพ็ญประโยชน์เพื่อหมู่คณะ การสอนหรืออบรมบุคคลอื่นให้มีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพ เป็นต้น จะเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมการอยู่ร่วมกันของบุคคลอย่างสันติสุข

ดังนั้น การพัฒนาตนเอง จึงมีความหมายโดยสรุปว่า เป็นการสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าจนเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นให้แก่ตนเอง โดยการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง แก้ไข สรรค์สร้าง เกี่ยวกับตนเอง เพื่อนำไปสู่ความดี ความเจริญในตนเอง และความมุ่งหมายสูงสุด กล่าวคือ การมีชีวิตที่มีคุณภาพ มีความสำเร็จในการปฏิบัติหน้าที่การงาน และมีความสุข อย่างไรก็ตาม การพัฒนาตนเองต้องเป็นการเสริมสร้างตนเองให้บรรลุมุ่งหมายแห่งชีวิต โดยไม่เบียดเบียนสิทธิของคนอื่น จากความหมายของคำต่าง ๆ ที่กล่าวมา พอจะสรุปได้ว่า ปรัชญาและอุดมการณ์ในการพัฒนาตนเอง น่าจะมีความหมายรวมกันอย่างกว้าง ๆ คือ “หลักการที่บุคคลยึดถือไว้เพื่อการปฏิบัติสำหรับการพัฒนาตนเอง”

ความจำเป็นในการพัฒนาตนเอง การที่บุคคลแต่ละบุคคลเล็งเห็นการพัฒนาตนเองจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นในการอยู่ ร่วมกันในสังคมใดสังคมหนึ่งเสมอ ในฐานะปัจเจกบุคคลและหมู่คณะ ด้วยเหตุนี้จากการศึกษาความจำเป็นในการพัฒนาตนเองจึงควรมีประเด็นดังต่อไปนี้

1. การพัฒนาตนเองเป็นจิตสำนึก
ความเชื่อในความเป็นมนุษย์ที่พัฒนาได้ หรือเชื่อใน ความเป็นมนุษย์ว่าเป็นสัตว์ที่พัฒนาได้ จะทำให้เกิดจิตสำนึกที่จะต้องฝึกฝนพัฒนาตน ซึ่งแสดงอาการออกมาเป็นความอ่อนน้อมถ่อมตน อันชี้บ่งถึงความเป็นผู้พร้อมที่จะฝึกฝนพัฒนาตนนั้นขึ้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตสำนึกในการศึกษาหรือฝึกฝนพัฒนาตน จะทำให้บุคคลมีท่าทีต่อประสบการณ์ทั้งหลายอย่างที่เรียกว่า “มองทุกอย่างเป็นการเรียนรู้หรือรับรู้ประสบการณ์ต่าง ๆ ที่จะเอามาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาตน”

2. การพัฒนาตนเองเป็นสัจการแห่งตน
มนุษย์ทุกคนสามารถพัฒนาไปสู่ระดับการมีสัจการแห่งตน (self actualization) ซึ่งหมายถึง การเป็นตัวของตัวเองอย่างสมบูรณ์ มีความเป็นอิสระสามารถคิดและกระทำการใด ๆ ตามมโนธรรมและอุดมการณ์อย่างแท้จริง ซึ่งมาสโลว์ (Maslow) ได้ระบุคุณลักษณะ 16 ประการของคนที่บรรลุถึงขั้นการมีสัจการแห่งตน คือ

  1. สามารถรับรู้สิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริงอย่างถูกต้อง
  2. มีความพร้อมที่จะยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
  3. มีความรู้สึกนึกคิดเป็นไปตามธรรมชาติ
  4. สามารถแยกสนใจในปัญหาออกจากตนเอง
  5. มีความต้องการเป็นส่วนตัว
  6. มีความเป็นอิสระและพอเพียงแห่งตน
  7. มองสิ่งต่าง ๆ บุคคล และเหตุการณ์ให้เข้าถึงแก่นแท้สาระสำคัญตามจริงในขณะนั้น ปราศจากอคติหรือคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า
  8. มีประสบการณ์ที่จะเข้าถึงสัจธรรมหรือความจริงแท้ ของสิ่งต่าง ๆ ก้าวพ้นจากข้อจำกัดที่มีอยู่
  9. ดำรงตนตามพันธะทางสังคมกับผู้อื่นและสนองความเป็นมนุษย์ชาติ
  10. อาจมีเพื่อนน้อยหรือมาก แต่มีเพื่อนจำนวนหนึ่งที่มีความสนิทสนมอย่างลึกซึ้ง
  11. มีทัศนะเชิงประชาธิปไตยมุ่งมั่นเทิดทูนความเสมอภาคเท่าเทียมกันของมนุษย์
  12. มีค่านิยมที่ดีงามประจำใจ แยกแยะได้ระหว่างจุดหมาย กับวิถีทางไปสู่จุดหมาย
  13. มีอารมณ์ขันอย่างกว้างขวาง
  14. สามารถมองสิ่งต่าง ๆ ในมุมมองใหม่ ๆ คิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้
  15. สามารถต่อต้านแรงกดดันให้คล้อยตามสังคม
  16. สามารถนำสิ่งที่ขัดแย้งตรงข้ามกัน นำมาประสานเป็นประโยชน์ร่วมกันได้

จากความคิดที่กล่าวถึงมนุษย์ ว่ามนุษย์ทุกคนสามารถพัฒนาไปสู่ระดับการมีสัจการแห่งตนนี้ได้สะท้อนคุณลักษณะของการเป็นคนที่สมบูรณ์ที่เกี่ยวข้องกับความสามารถและเจตคติ ค่านิยมที่เหมาะสมหลายประการ

ในด้านความสามารถที่ทุกคนควรจะมีเป็นพื้นฐานประจำตนเอง ได้แก่ ความสามารถ ด้านการรับรู้ตามความเป็นจริง ความสามารถในการวิเคราะห์ปัญหาต่าง ๆ ตามความเป็นจริง โดยไม่นำอารมณ์ความรู้สึกของตนไปเกี่ยวข้อง เป็นการรับรู้เรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนอื่น ๆ หรือสิ่งต่าง ๆ อย่างตรงไปตรงมาที่เรียกว่าแบบวัตถุวิสัย (objective) ที่ปราศจากอคติความลำเอียงคาดการณ์ตามความรู้สึกที่เรียกว่า อัตวิสัย (subjective) มีความสามารถที่จะคิดในแง่มุมมองใหม่ ๆ หรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ และมีความสามารถทางด้านติดต่อสัมพันธ์กับบุคคลอื่นในส่วนของการประสานประโยชน์ ไม่มีความขัดแย้ง รวมถึงความสามารถในการยืนหยัดต่อต้านต่อแรงกดดันให้คล้อยตามในสิ่งที่ไม่เหมาะสม

ในด้านเจตคติค่านิยมที่สะท้อนลักษณะจิตใจและลักษณะนิสัยที่ดีงามของคนที่สมบูรณ์ เช่น มีความเป็นอิสระ นำตนเอง เชื่อมั่นในตนเอง พอใจจะดำเนินชีวิตแบบพอเพียง กับสภาพของตน เชื่อมั่นในคุณค่าของมนุษย์ที่เสมอภาค มีความสำคัญทัดเทียมกันตามวิถีของประชาธิปไตย มีความรักปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ มีค่านิยมที่ดีงามประจำใจ และพอใจกับชีวิตความเป็นอยู่อย่างมีเหตุผล ไม่เครียด และมีลักษณะนิสัยที่มีอารมณ์ขัน

แนวความคิดการพัฒนาตนเองเป็นสัจการแห่งตนนี้มีประโยชน์ต่อการให้บุคคลพิจารณามองตนเอง ค้นหาสิ่งที่ดีงามที่ควร ธำรงรักษาไว้ และค้นหาสิ่งที่ควรปรับปรุงสร้างเสริมให้สอดคล้องกับแบบแผนของการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์



3. การพัฒนาตนเองเป็นสิ่งที่มนุษย์จำเป็นต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต
เพื่อพัฒนาตนเองไปสู่การมีชีวิตที่มีคุณภาพ ชีวิตที่มีคุณภาพ คือ การดำรงชีวิตที่มีความสมบูรณ์ทุกด้าน ปราศจากปัญหา และมีความสงบสุข ซึ่งมนุษย์มีชีวิตที่สำคัญ 4 ด้าน ได้แก่

  1. ชีวิตส่วนตัว คุณภาพชีวิตขึ้นกับการเจริญพัฒนาการครบส่วน ความสมบูรณ์ทาง ร่างกาย สุขภาพร่างกาย สุขภาพจิต สติปัญญา อารมณ์ ความรู้ ความสามารถ ทักษะ เจตคติ ค่านิยม และบุคลิกภาพต่าง ๆ
  2. ชีวิตครอบครัว คุณภาพชีวิตขึ้นกับการมีครอบครัวที่มีความรัก ความอบอุ่น ความ สะดวกสบายของบ้าน เครื่องอำนวยความสะดวก ความเป็นอยู่ที่ไม่ขาดแคลน สมาชิกในครอบครัวมีบทบาทปฏิสัมพันธ์ต่อกัน เอื้ออาทรส่งเสริมซึ่งกันและกัน และสนองความต้องการซึ่งกันและกัน
  3. ชีวิตการทำงาน คุณภาพชีวิตขึ้นกับการมีงานที่มีรายได้มั่นคง ได้ทำงานประกอบ อาชีพที่ตรงกับความรู้ความสามารถและความสนใจ มีความเจริญก้าวหน้าในการประกอบอาชีพ ได้รับการยอมรับจากผู้ร่วมงานในฐานะที่เป็นสมาชิกในการทำหน้าที่มีประสิทธิภาพในการทำงานเป็นคนเก่ง และคนดีในสายตาของผู้ร่วมงาน
  4. ชีวิตสังคม คุณภาพชีวิตขึ้นกับการมีเพื่อนสนิทที่รักใคร่ต่อกันอย่างมาก การเป็น สมาชิกในสังคมทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เป็นผู้ที่สังคมยอมรับในการมีบทบาทมีส่วนร่วมกิจกรรมของสังคมเสมอ ๆ เสียสละความสุขความสะดวกสบายส่วนตนเพื่อประโยชน์ของสังคมส่วนรวม การมีชีวิตมีคุณภาพทั้ง 4 ด้านนี้จำเป็นจะต้องมีการศึกษา มีการเรียนรู้เพื่อให้มีความรู้ ความคิด ลักษณะนิสัย และการปฏิบัติที่เหมาะสม ถูกต้องดีงาม สิ่งที่สำคัญ คือ โลกและสังคม เปลี่ยนแปลงรวดเร็วทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงในการประกอบอาชีพ รวมถึงปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น การใช้เทคโนโลยีในระบบการผลิต ปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจ ปัญหาสภาพคล่องทางการเงินการคลัง หรือปัญหาอาชญากรรมยาเสพติด เป็นต้น บุคคลจึงต้องพร้อมต่อการปรับเปลี่ยนให้อยู่รอดและรักษาความสงบสุขมั่นคงในชีวิต การเรียนรู้ตลอดจนชีวิต เพื่อการพัฒนาตนจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เป็นการเรียนรู้จากทุกสิ่งในสภาพแวดล้อม ทั้งจากสื่อนานาชนิด และจากบุคคล เป็นการเรียนรู้ที่ตนเองต้องขวนขวายแสวงหาและสร้างโอกาสแทนที่จะรอโอกาส

4. การพัฒนาตนเป็นที่พึ่งแห่งตน
สัจธรรมสำคัญที่เป็นที่ประจักษ์ชัดและยอมรับกันทั่วไป คือ บุคคลจะต้องพึ่งพาตนเอง (self – reliance) เป็นสำคัญ บุคคลตั้งแต่เกิด อาจพึ่งพาพ่อ แม่ ญาติพี่น้องให้การอุปการะเลี้ยงดูอบรมบ่มนิสัย เมื่อได้รับการศึกษาก็พึ่งครูอาจารย์ และพึ่งพาองค์การที่เข้าประกอบอาชีพการทำงาน พึ่งพากันในครอบครัว รวมถึงการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน อาจช่วยเหลือเกื้อกูลทางทรัพย์สิน ช่วยให้คำแนะนำการแก้ปัญหา รวมถึงการปลอบขวัญให้กำลังใจ แต่การพึ่งพาเช่นนี้จะเกิดขึ้นในเพียงบางช่วงบางเวลา ไม่เป็นที่พึ่งได้ทุกเวลา และอาจช่วยเป็นที่พึ่งได้ในบางเรื่อง แต่ไม่เป็นที่พึ่งได้ทุกเรื่องในทุกสิ่งที่บุคคลเผชิญทั้งความทุกข์ ความสุข เศร้าโศกเสียใจ ดีใจพอใจมีปัญหารุมเร้าทางกายภาพหรือทางจิตใจ รวมถึงการคิดตัดสินใจที่สำคัญเกี่ยวกับชีวิต ครอบครัว กิจการงาน เป็นเรื่องที่บุคคลต้องรับผิดชอบทั้งสิ้น ดังคำกล่าวว่า “ตัวใครตัวมัน” ดังนั้นการขวนขวายเพียรพยายามพัฒนาตนเอง ให้มีศักยภาพความสามารถเป็นที่พึ่งดูแลตนเองได้ตลอดเวลานำตนเองได้ ตัดสินใจเรื่องของตนเองได้อย่างฉลาด จึงเป็นความจำเป็นที่สำคัญ

5. การพัฒนาตนเองเพื่อชีวิตตั้งต้นใหม่ได้เสมอ
การดำเนินชีวิตของบุคคลจะพบผ่านประสบการณ์นานาชนิด อาจมีหลายครั้งที่สถานการณ์บังคับหรือชักนำให้คิด รู้สึก และกระทำการอะไรบางอย่างที่เมื่อวันเวลาผ่านไป การตัดสินใจเช่นนั้นอาจไม่เหมาะสมหรือไม่ถูกต้องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปทุกวัน บุคคลจะได้ข้อมูลใหม่ ๆ เสมอจากแหล่งต่าง ๆที่ช่วยชี้แนะความคิด ความรู้สึก และวิธีปฏิบัติตนใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น รวมถึงความคิดที่เกิดจากตนเองที่อยากจะปรับเปลี่ยนตนเอง ปรับตน ปรับความคิด ปรับวิถีการดำรงชีวิต และปรับลักษณะนิสัยของตนเอง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาเหมือนกับการตั้งต้นใหม่ ไม่มีสิ่งใดที่สายเกินไปและไม่มีสิ่งใดที่ปรับปรุงแก้ไขไม่ได้ ขอเพียงให้ตนเองอยากจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเท่านั้น การพัฒนาตนเองจึงเกิดใหม่ได้ตลอดเวลา

เหตุผลข้างต้นทำให้เห็นว่าการพัฒนาตนเองนั้นมีความจำเป็นต่อบุคคลมากมายหลายประการ ทั้งนี้เพื่อนำมาเพื่อให้บุคคลนั้น ๆ มีความสุข ความพึงพอใจในสิ่งที่ตนได้พึงมี พึงปฏิบัติ พึงปรารถนาดังที่บุคคลนั้น ๆ ประสงค์ และสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข และทำให้พอสรุปได้ว่าขอบข่ายของการพัฒนาตนเองจะเกี่ยวข้องกับสิ่งต่อไปนี้

  1. ตระหนักในความจำเป็นของการพัฒนาตนเอง
  2. มีปรัชญาและอุดมการณ์ในการพัฒนาตนเอง
  3. มีเป้าประสงค์หรือจุดหมายของชีวิต
  4. สำรวจตนเองรู้จักตนเอง หากลวิธีปรับปรุงพัฒนาในส่วนที่ควรพัฒนา เช่น บุคลิกภาพ ค่านิยม การแก้ปัญหาและอุปสรรค หรือการสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง เป็นต้น
  5. ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสรรค์สร้างการพัฒนาตนเองไปสู่เป้าประสงค์
  6. ประเมินผลการพัฒนาตนเองสร้างความภาคภูมิใจ และเห็นคุณค่าในตนเองที่มี การพัฒนา

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย