ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>
ปรัชญาและอุดมการณ์ในการพัฒนาตนเอง
ความหมายของปรัชญาและอุดมการณ์
แนวคิดเกี่ยวกับปรัชญาและอุดมการณ์ในการพัฒนาตนเอง
การกำหนดปรัชญาและอุดมการณ์ในการพัฒนาตนเอง
ปรัชญาแห่งความสำเร็จ
ประโยชน์ของการกำหนดปรัชญาและอุดมการณ์ในการพัฒนาตนเอง
แนวทางการกำหนดปรัชญาและอุดมการณ์ในการพัฒนาตนเอง
การส่งเสริมปรัชญาและอุดมการณ์ในการพัฒนาตนเอง
ปรัชญาแห่งความสำเร็จ
ความสำเร็จเป็นส่วนหนึ่งของปรัชญาชีวิต มนุษย์ทุกคนล้วนต้องการความสำเร็จในชีวิต
บางคนก็ประสบความสำเร็จอย่างสูง บางคนก็ประสบความสำเร็จเพียงบางส่วน
บางคนก็ไม่เคยประสบความสำเร็จในทางใดเลย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปรัชญาที่แต่ละคนยึดถือ
หรือไม่มีปรัชญาอะไร จะยึดถือเป็นหลักเลย
ความสำเร็จในชีวิตเปรียบได้กับการเดินทางไปสู่ที่ใดที่หนึ่ง การเดินทางนั้น
จะต้องมีจุดเริ่มต้น จุดมุ่งหมายปลายทาง และวิธีการจะเดินทางไปให้ถึงจุดหมายฉันใด
ปรัชญาแห่งความสำเร็จก็ฉันนั้น กล่าวคือ ต้องมีหลักการ วิธีการ และจุดมุ่งหมาย
ในทีนี้จะกล่าวถึงจุดหมายก่อน จุดหมายแห่งความสำเร็จ
ที่ทุกคนต้องการนั้น พอจะสรุปได้ดังนี้
- ความร่ำรวย คนส่วนมากถือว่าความร่ำรวยเป็นความสำเร็จในชีวิตประการหนึ่ง
ไม่ใช่เกิดจากโชคชะตา หรือความบังเอิญ
แต่ความร่ำรวยที่จัดเป็นความสำเร็จนั้นจะต้องเกิดจากการกระทำ
- อำนาจ อำนาจนั้นเกิดจากพื้นฐานหลายอย่าง เช่น เกิดจากความร่ำรวย
เกิดจากการมีตำแหน่งสูง ในทางการเมือง ในราชการ หรือในองค์การ และหน่วยงานอื่น ๆ
เกิดจากการเอาชนะตัวเองได้จนมีอำนาจทางจิต เป็นต้น
- ความมีชื่อเสียง ซึ่งอาจเกิดจากการกระทำความดี เป็นเลิศ และมีความงามเป็นเลิศ
- ความสุข ในที่นี้ หมายถึงความสุขทางใจ เพราะความสุขทางกาย
แสวงหาได้จากความร่ำรวย ส่วนความสุขทางใจนั้นอาจเกิดจากความพอใจ เกิดจากความสงบ
หรือการทำงานที่ตนพอใจ
- ความรู้ หรือการค้นพบสิ่งแปลกใหม่ เช่น การศึกษาถึงขั้นสูงสุด การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ หรือการสร้างระบบปรัชญา เป็นต้น
การตั้งจุดหมายนั้น จะต้องตั้งถึงจุดหมายสูงสุด และตั้งจุดหมายรองเป็นขั้น ๆ ลงมาตามลำดับ เพราะถ้าตั้งจุดหมายไว้ต่ำเกินไป เมื่อบรรลุถึงจุดหมายนั้นแล้ว ก็จะเป็นอันสิ้นสุด หรือมิฉะนั้น ก็ต้องตั้งจุดหมายใหม่ ซึ่งอาจจะเบี่ยงเบนออกไปจากจุดหมายเดิมก็ได้ ถ้าตั้งจุดหมายสูงสุดไว้เพียงอย่างเดียว เมื่อทำไม่สำเร็จตามจุดหมายนั้น ก็จะประสบความล้มเหลว ในทางปรัชญา ถือว่าการตั้งจุดหมายสูงสุดในสิ่งที่จะเป็นไปได้ และในขณะเดียวกันก็ต้องตั้งจุดหมายรองลงมาด้วย แม้จะทำได้ไม่ถึงจุดหมายสูงสุด ก็จะต้องถึงจุดหมายรองอันใดอันหนึ่งอย่างแน่นอน ถ้าปฏิบัติตามหลักปรัชญาแล้ว จะไม่ประสบความผิดหวัง หรือความล้มเหลวเลย มีแต่จะประสบความสำเร็จเป็นขั้น ๆ เท่านั้น
ผู้ต้องการความสำเร็จ จะต้องจุดหมายสูงสุดในทางใดก็ย่อมมีเสรีภาพที่จะตั้งได้ และต้องตั้งด้วยตัวของตัวเอง ไม่ใช่ให้คนอื่นตั้งให้ แต่ในการตั้งจุดหมายนั้น ต้องคำนึงถึงหลักการดังจะกล่าวต่อไปนี้
- เลือกจุดหมายแห่งความสำเร็จที่ตนเองพอใจ
มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะบรรลุถึงจุดหมายนั้น และใช้เหตุผลควบคุมความพอใจ
และความปรารถนานั้นอย่างรอบคอบ กล่าวโดยสรุป
ก็คือการใช้พลังจิตทั้งหมดตั้งอุดมการณ์ของตนเอง และยึดมั่นในอุดมการณ์ของตนเอง
และยึดมั่นในอุดมการณ์นั้นไม่เสื่อมคลาย
- รู้จักตนเอง ทั้งในด้านกายภาพ และในด้านจิตภาพ
การรู้จักตนเองในด้านกายภาพคือการรู้จักความสามารถทางกาย เช่น รูปร่าง ท่าทาง เสียง
สุขภาพ เป็นต้น การรู้จักตนเองในด้านจิตภาพ คือการรู้จักความสามารถของตนในทางจิต
อันได้แก่สติปัญญา ความถนัด ความสน และความเข้มแข็งในทางจิต
- การรู้จักกาละ เทศะ และสังคม ความสำเร็จอย่างนี้ขึ้นอยู่กับกาลเทศะและสังคม
จึงต้องรู้จักสภาพการเหล่านี้ให้ละเอียดถี่ถ้วน
- การรู้จักวิธีการที่จะให้บรรลุถึงจุดหมาย และสามารถใช้วิธีการนั้นได้เป็นอย่างดี กล่าวโดยสรุป หลักการในการตั้งจุดหมายตามหลักพุทธปรัชญา ได้แก่ สัปปุริสธรรม ประการ คือ การรู้จักเหตุ การรู้จักผล การรู้จักตน การรู้จักประมาณ การรู้จักกาล การรู้จักชุมชน และ การรู้จักบุคคล
ส่วนวิธีการที่จะให้บรรลุถึงความสำเร็จมีดังต่อไปนี้
- ยึดมั่นในอุดมการณ์ คือมีความตั้งใจมั่น มุ่งต่อความสำเร็จที่เลือกไว้อย่างดีแล้ว
- งดเว้นอบายมุข หรือทางแห่งความเสื่อมทุกประการ
- รักษาสุขภาพ พลานามัยให้สมบูรณ์
- รู้จักสังเกต และจดจำสิ่งแวดล้อม เหตุการณ์ และตัวอย่างต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จของตน
- ศึกษาค้นคว้า อยู่เสมอให้มีความรอบรู้ในกิจการของตน
- ปรับปรุงบุคลิกภาพ กิริยามารยาท ตลอดจนการพูดให้เหมาะสม
- สร้างคุณธรรมต่าง ๆ ให้มีขึ้นในตน เช่น ความพากเพียร ความอดทน ความซื่อสัตย์ ความไม่ประมาท ความเสียสละ และความมีอารมณ์ขัน
- ฝึกกำลังใจให้มีความเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่ท้อถอย ไม่หวาดกลัว มีขวัญ สามารถต่อสู้ฝ่าฟันกับอุปสรรคที่เผชิญหน้า
- มีหลักยุทธวิธี หรือศิลปะในการทำงาน หาวิธีทำงานที่ดีกว่าเดิม
- ฝึกจิตให้เข้มแข็ง ให้เป็นสมาธิ จนรวมพลังจิตสูง และมีความเฉียบแหลมแห่งความคิด
กล่าวโดยสรุป วิธีการเพื่อบรรลุความสำเร็จตามพุทธปรัชญาคือ อิทธิบาท 4 ได้แก่
- ฉันทะ ความพอใจในสิ่งที่ทำ หรือเลือกความสำเร็จอันเป็นที่พอใจ
- วิริยะ ความขยันหมั่นเพียรในงานที่ทำ
- จิตตะ ความเอาใจใส่จดจ่อต่อการงานที่ทำ หรือการฝึกจิตให้เข้มแข็ง
- วิมังสา ใช้ปัญญาหาทางที่จะทำงานให้ดีขึ้น