วรรณกรรม สุภาษิต ข้อคิด คำคม สำนวน โวหาร งานเขียน >>

กวีนิพนธ์

(ร่าย กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์)

กลอน

กลอน เป็นคำประพันธ์หรือคำร้อยกรองประเภทหนึ่ง ซึ่งมีฉันทลักษณ์ บังคับการสัมผัส และเสียงต่ำสูงและสามัญ แต่ไม่บังคับวรรณยุกต์และครุลหุ เป็นคำประพันที่ใช้กันมาก เพราะมีเสียงเพราะพริ้งและฟังเข้าใจง่ายกว่าคำประพันธ์ประเภทอื่น น่าจะกล่าวได้ว่าเป็นคำประพันธ์ของไทยแท้ การแต่งก็ไม่ยากเหมือนคำประพันธ์ประเภทอื่น ว่าโดยหลัก ๆ แยกเป็น ๓ ชนิด คือ

ทั้ง ๓ ชนิดนี้ มีฉันทลักษณ์ไม่แตกต่างกันมากนัก จะยกมาชี้เป็นอย่าง ๆ ในภายหลัง ในชั้นต้นนี้ จะกล่าวเป็นเพียงลักษณะที่รวมก่อน

กลอนทั้ง ๓ ชนิด ฉันทลักษณ์ที่พอกล่าวรวมกันได้คือ กลอนทุกชนิด บทหนึ่ง มี ๒ บาท บาทหนึ่งมี ๒ วรรค รวม ๔ วรรค ซึ่งเรียกว่า บาทคี่ บาทคู่ หรือบาทเอก บาทโท ส่วนจำนวนคำแตกต่างกัน โดยจะนำกล่าวในกลอนนั้น ๆ

วรรคแรกของบาทคี่ เรียกว่า กลอนสดับ เป็นคำที่เริ่มต้นของกลอนนั้น ๆ ใช้คำสุดท้ายส่งสัมผัสไปยังวรรคที่ ๒ ของบาทเดียวกัน

วรรคที่ ๒ ของบาทคี่ เรียกว่า กลอนรับ ใช้รับสัมผัสจากคำสุดท้ายของวรรคแรกในบาทเดียวกัน และคำสุดท้ายรับสัมผัสจากกลอนบทอื่นที่ส่งมา และส่งสัมผัสไปยังคำสุดท้ายของวรรคแรกแห่งบาทคู่ กล่าวคือกลอนรอง

วรรคแรกของบาทคู่ เรียกว่า กลอนรอง ใช้คำสุดท้ายรับสัมผัสจากกลอนรับและส่งสัมผัสไปยังต้นวรรคที่ ๒ แห่งบาทเดียวกัน

วรรคสุดท้ายของบาทคู่ เรียกว่า กลอนส่ง ใช้คำที่ ๓ รับสัมผัสจากคำสุดท้ายของกลอนรอง และใช้คำสุดท้ายส่งสัมผัสไปยังบทที่จะแต่งต่อไป

เสียงคำสุดท้ายของกลอนสดับ นิยมใช้คำที่เป็นเสียงเอก โท ตรี จัตวา ห้ามใช้เสียงสามัญ

เสียงคำสุดท้ายของกลอนรับ นิยมใช้คำที่เป็นเสียงจัตวา แต่จะใช้คำที่เป็นเสียง เอก โท ตรี ก็ได้ ห้ามใช้เสียงสามัญ เว้นแต่ลีลาหรือรสพิโรธวาทัง มีใช้เสียงเอก โท ตรี หรือใช้แม่กก กบ กด บ้าง

เสียงคำสุดท้ายของกลอนรอง ให้ใช้เสียงสามัญ ห้ามเสียงเอก โท ตรี จัตวา แต่ลีลาหรือรสพิโรธวาทัง มีใช้เสียงเอก โท ตรี หรือใช้แม่ กก กบ กด บ้าง

สัมผัส ถ้อยคำที่มีเสียงคล้องจองกันส่งต่อกันนั้น เรียกว่า สัมผัส และสัมผัสนั้นมี ๒ ชนิด สัมผัสที่บังคับตายตัว ซึ่งเรียกว่า สัมผัสนอก ต้องเป็นไปตามฉันทลักษณ์ ๑ สัมผัสที่ไม่บังคับตายตัว ซึ่งเรียกว่า สัมผัสใน ๑ และแยกตามลักษณะเสียงที่ส่งมี ๒ คือ สัมผัสสระ ๑ สัมผัสพยัญชนะ ๑

สัมผัสสระ คือคำที่ปรุงจากสระเสียงเดียวกัน และคำที่ปรุงจากมาตราหรือแม่ทั้ง ๘ แม่ใดแม่หนึ่งเป็นตัวสะกดที่เป็นเสียงเดียวกัน ที่ส่งไปยังวรรคอีกหนึ่ง หรือไปยังคำหนึ่งในวรรคเดียวกัน

สัมผัสพยัญชนะ คืออักษรที่จะนำสระหรือแม่ใดแม่หนึ่งมาปรุงตรงกัน เช่นตัวหนึ่ง กด ตัวหนึ่งกราบ ใช้พยัญชนะหลักตัวเดียวหรือตัวที่มีเสียงคล้ายกันเช่น ข กับ ค, ส กับ ช ใช้เฉพาะสัมผัสในอย่างเดียว

สัมผัสสระ ใช้ได้ทั้งสัมผัสนอกและสัมผัสใน เฉพาะสัมผัสตรง ถ้าสัมผัสคล้ายหรือสัมผัสเคียง ใช้เฉพาะสัมผัสใน

สัมผัสนั้น มีหลากหลายคือ สัมผัสตรง สัมผัสเคียง สัมผัสคู่ สัมผัสข้าม ตัวอย่าง

  • สัมผัสตรง เช่นอาจหาญชาญกล้าปัญญาดี

  • สัมผัสเคียง เช่นไฉนหมายปองเป็นรองฉัน

  • สัมผัสคู่ เช่นเห็นใครใครเขาเล่าจะมี

  • สัมผัสข้าม เช่นตวงตักน้ำรักพิทักษ์ผอง

ข้อห้ามใช้สัมผัส คำท้ายกลอนส่งในบทแรก คำท้ายกลอนรับในบทรับ คำสุดท้ายกลอนรอง และคำที่ ๓ กลอนส่ง ห้ามใช้คำเดียวกัน ข้อนี้ต้องระวังให้มาก

การแต่งกลอน ต้องแต่งให้ครบทั้งสองบาท อย่าแต่เพียงบาทเดียว จะแต่งกี่บทก็ได้ ต้องส่งสัมผัสต่อกันไปตามลำดับ

ฉันทลักษณ์กลอน

ผู้ประสงค์จะแต่งกลอนต้องศึกษาฉันทลักษณ์คือข้อบังคับแต่ละกลอนให้เข้าใจ โดยจะยกมาแต่ละชนิดให้ฉันทลักษณ์และแต่งกลอนไว้ พอให้เป็นตัวอย่างตามลำดับ

กลอนสุภาพ
กลอนลำนำ
กลอนตลาด

โวหาร
ประเภทกวีนิพนธ์
ฉันทลักษณ์
สระ
พยัญชนะ
เครื่องประกอบอื่น
การอ่านคำประพันธ์
ร่าย
กาพย์
กลอน
โคลง
ฉันท์

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย