ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

มิลินทปัญหา
ฉบับแปลในมหามกุฏราชวิทยาลัย


เมณฑกปัญหา

วรรคที่หนึ่ง

4 มหาภูมิจาลนปาตุภาวปัญหา

พระเจ้ามิลินท์ ตรัสว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ตรัสแล้วว่า 'ภิกษุทั้งหลาย เหตุเพื่อความปรากฏของความไหวแห่งแผ่นดินใหญ่เหล่านี้แปดอย่าง ปัจจัยเพื่อความปรากฏของความไหวแห่งแผ่นดินใหญ่แปดอย่าง' ดังนี้ พระพุทธพจน์นี้ กล่าวเหตุปัจจัยหาส่วนเหลือมิได้ พระพุทธพจน์นี้ กล่าวเหตุปัจจัยไม่มีส่วนเหลือ, พระพุทธพจน์นี้ กล่าวเหตุปัจจัยโดยตรง ไม่มีปริยาย, เหตุเพื่อความปรากฏของความไหวแห่งแผ่นดินใหญ่เป็นที่เก้าอันอื่นไม่มี; พระผู้เป็นเจ้า นาคเสน ถ้าเหตุเพื่อความปรากฏของความไหวแห่งแผ่นดินใหญ่ที่เก้า อันอื่นยังมีไซร้, พระผู้มีพระภาคเจ้าพึงตรัสเหตุแม้นั้น, ก็เหตุเพื่อความปรากฏของความไหวแห่งแผ่นดินใหญ่ที่เก้า อันอื่นย่อมไม่มี เพราะเหตุใดแล, เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ตรัสเหตุนั้นแล้ว ก็แต่ว่า เหตุเพื่อความปรากฏของความไหวของแผ่นดินใหญ่ที่เก้านี้ ยังปรากฏอยู่, พระเวสสันดรมหากษัตริย์ทรงบริจาคมหาทาน แผ่นดินใหญ่นี้ไหวแล้วเจ็ดครั้งด้วยเหตุไรเล่า พระผู้เป็นเจ้า นาคเสน ถ้าเหตุเพื่อความปรากฏของความไหวแห่งแผ่นดินใหญ่แปดอย่างเท่านั้น ปัจจัยเพื่อความปรากฏของความไหวแห่งแผ่นดินใหญ่แปดอย่างเท่านั้นไซร้, ถ้าอย่างนั้น คำอันใดที่ว่า 'เมื่อพระเวสสันดรมหากษัตริย์ทรงบริจาคมหาทาน แผ่นดินใหญ่นี้ ไหวเจ็ดครั้ง' คำแม้นั้นผิด ถ้าเมื่อพระเวสสันดรมหากษัตริย์ทรงบริจาคมหาทาน แผ่นดินใหญ่นี้ไหวเจ็ดครั้งแล้วไซร้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'เหตุเพื่อความปรากฏของความไหวแห่งแผ่นดินแปดอย่างเท่านั้น ปัจจัยเพื่อความปรากฏของความไหวแห่งแผ่นดินแปดอย่างเท่านั้น'แม้คำนั้นก็ผิด ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน เป็นปัญหาละเอียด ใคร ๆ แก้ยาก ทำบุคคลให้มืดมนธ์ดังบุคคลตาบอดด้วย ลึกด้วย, ปัญหานั้นมาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว, ปัญหานั้น ผู้อื่นที่มีปัญญาน้อย นอกจากบุคคลผู้มีความรู้เช่นพระผู้เป็นเจ้า ไม่อาจเพื่อจะวิสัชนาได้"
      พระเถรเจ้าถวายพระพรว่า "ขอถวายพระพร พระพุทธพจน์นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ได้ตรัสแล้วว่า 'ภิกษุทั้งหลาย เหตุปัจจัยทั้งหลายเพื่อความปรากฏของความไหวแห่งแผ่นดินใหญ่เหล่านี้ แปดอย่าง ๆ' ดังนี้ แม้เมื่อพระเวสสันดรมหากษัตริย์ทรงบริจาคมหาทานอยู่ แผ่นในใหญ่นี้ ไหวแล้วเจ็ดครั้ง ก็แลการที่แผ่นดินใหญ่ไหวนั้นไม่เป็นไปดินกาลทุกเมื่อ มีความเกิดขึ้นในกาลบางคราว, พ้นแล้วจากเหตุทั้งหลายแปดอย่าง, เพราะเหตุนั้น ท่านจึงไม่นับแล้วโดยเหตุทั้งหลายแปด
      ขอถวายพระพร เมฆทั้งหลายสามอย่าง คือ: เมฆชื่อวัสสิกะหนึ่ง เมฆชื่อเหมันติกะหนึ่ง เมฆชื่อปาวุสสกะหนึ่ง เท่านั้น ท่านย่อมนับว่าเมฆ, ถ้าเมฆอื่นพ้นจากเมฆทั้งหลายที่สมมติแล้ว, เมฆนั้น ย่อมถงซึ่งความนับว่าอกาลเมฆเท่านั้น ฉันใด; สมัยเมื่อพระเวสสันดรมหากษัตริย์ทรงบริจาคมหาทานอยู่ แผ่นดินใหญ่นี้ไหวแล้วเจ็ดครั้ง ด้วยเหตุอันใดเหตุนั้น ไม่มีในกาลทุกเมื่อ มีความเกิดขึ้นในกาลบางคราว, พ้นจากเหตุทั้งหลายแปดอย่าง, เหตุนั้น ท่านจึงไม่นับโดยเหตุทั้งหลายแปดอย่าง ฉันนั้นนั่นเทียว
      ขอถวายพระพร อีกนัยหนึ่ง เหมือนแม่น้ำห้าร้อย ไหลมาแต่ภูเขาชื่อหิมวันต, แม่น้ำห้าร้อยเหล่านั้น แม่น้ำทั้งสิบเท่านั้น ท่านย่อมนับโดยอันนับว่าแม่น้ำ, แม่น้ำทั้งสิบนี้อย่างไร แม่น้ำทั้งสิบนี้ คือ แม่น้ำคงคาหนึ่ง แม่น้ำยมุนาหนึ่ง แม่น้ำอจิรวดีหนึ่ง แม่น้ำสรภูหนึ่ง แม่น้ำมหีหนึ่ง แม่น้ำสินธุหนึ่ง แม่น้ำสรัสสดีหนึ่ง แม่น้ำเวตรวดีหนึ่ง แม่น้ำวีตังสาหนึ่ง แม่น้ำจันทภาคาหนึ่ง แม่น้ำทั้งสิบเหล่านี้ ท่านนับว่าแม่น้ำแท้, แม่น้ำทั้งหลายเศษนอกนั้น ท่านไม่นับโดยอันนับในแม่น้ำ, ความนับนั้นมีอะไรเป็นเหตุ แม่น้ำทั้งหลายเท่านั้น ไม่เป็นแดนเกิดแห่งน้ำ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงนับโดยอันนับรวมลงในแม่น้ำใหญ่ แม้ฉันใด สมัยเมื่อพระเวสสันดรมหากษัตริย์ทรงบำเพ็ญมหาทานอยู่ แผ่นดินใหญ่นี้ไหวแล้วเจ็ดครั้ง ด้วยเหตุใด เหตุนั้น ท่านไม่นับโดยเหตุทั้งหลายแปดอย่าง ฉันนั้น
      ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เหมือนอมาตย์ทั้งหลายของมหากษัตริย์มีอยู่ ร้อยหนึ่งบ้าง สองร้อยบ้าง, อมาตย์ทั้งหลายเหล่านั้นชนทั้งหลายหกคน ท่านย่อมนับโดยอันนับว่าอมาตย์, ชนทั้งหลายหกคนนี้ อย่างไร ชนทั้งหลายหกคนนี้ คือ เสนาบดีหนึ่ง ปุโรหิตหนึ่ง อักขทัสสะ ผู้พิพากษาหนึ่ง ภัณฑาคาริกะชาวพระคลังหนึ่ง ฉัตตคาหกะผู้เชิญพระกลดหนึ่ง ขัคคคาหกะผู้เชิญพระแสงหนึ่ง ชนหกคนเหล่านี้เท่านั้นท่านนับโดยอันนับว่าอมาตย์แท้, ข้อซึ่งนับมีอะไรเป็นเหตุเล่า  ข้อซึ่งนับนั้น เพราะความที่ชนทั้งหกนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยคุณต่อพระมหากษัตริย์, ชนทั้งหลายเหลือนั้น ท่านมิได้นับแล้ว, ชนทั้งหลายเหล่านั้นย่อมถึงซึ่งความกล่าวรวมลงว่าอมาตย์ทั้งสิ้นนั่นเทียว ฉันใด, เมื่อพระเวสสันดรมหากษัตริย์ทรงบำเพ็ญมหาทานอยู่ แผ่นดินใหญ่นี้ ไหวแล้วเจ็ดครั้ง ด้วยเหตุใด เหตุนั้น ไม่มีมีในกาลทุกเมื่อ มีความเกิดขึ้นในกาลบางคราว, พ้นจากเหตุทั้งหลายแปดอย่าง, เหตุนั้น ท่านจึงไม่นับโดยเหตุแปดอย่าง ฉันนั้นนั่นแหละ
           ขอถวายพระพร กรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเสวยสุขในทิฏฐธรรมเป็นเหตุยิ่งอันบุคคลกระทำแล้วในศาสนา แห่งพระพุทธเจ้าผู้ชนะมารทั้งปวงแล้ว ณ กาลนี้, อนึ่ง เกียรติศัพท์ความสรรเสริญคุณของบุคคลทั้งหลายเหล่าไร ฟุ้งทั่วไปในเทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย, บรมบพิตรได้ทรงฟังบ้างหรือไม่ ขอถวายพระพร"
      ร "พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าได้ยินอยู่ กรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเสวยสุขในทิฏฐธรรม เป็นเหตุยิ่งอันบุคคลกระทำแล้วในชินศาสนา ณ กาลนี้, ทั้งเกียรติศัพท์ความสรรเสริญคุณของบุคคลทั้งหลายเหล่าไรฟุ้งทั่วไปในเทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย, บุคคลทั้งหลายเหล่านั้นเจ็ดคนข้าพเจ้าเคยได้ยินมา"
      ถ "ใครบ้าง ใครบ้าง ขอถวายพระพร"
      ร "พระผู้เป็นเจ้า บุคคลทั้งเจ็ด คือ นายมาลาการชื่อสุมนะหนึ่ง พราหมณ์ชื่อเอกสาฎก หนึ่ง ลูกจ้างชื่อปุณณะ หนึ่ง เทวีชื่อ มัลลิกา หนึ่ง เทวีโคปาลมารดา หนึ่ง อุบาสิกาชื่อ สุปปิยา หนึ่ง นางทาสีชื่อ ปุณณา หนึ่ง ชนเหล่านี้เป็นผู้ที่มีกุศลเป็นที่ตั้งแห่งความเสวยสุขในทิฏฐธรรม, อนึ่ง เกียรติความสรรเสริญคุณของชนทั้งหลายเหล่านี้ ฟุ้งทั่วไปในเทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย"
      ถ "ขอถวายพระพร ชนทั้งหลายแม้อื่นอีก บรมบพิตรได้ทรงฟังหรือไม่ว่า ในกาลล่วงแล้ว ชนทั้งหลายไปสู่พิภพชื่อตรีทศทั้งสรีรกายเป็นของแห่งมนุษย์นั่นเทียว"
      ร "ข้าพเจ้าได้ยินอยู่"
      ถ "ใครบ้าง ใครบ้าง ไปสู่พิภพชื่อตรีทศทั้งสรีรกายเป็นของแห่งมนุษย์ ขอถวายพระพร"
      ร "ชนทั้งหลายสี่ คือ คนธรรพราชนามว่าคุตติลาหนึ่ง พระมหากษัตริย์ทรงพระนามว่า สาธีนราช หนึ่ง พระมหากษัตริย์ทรงพระนามว่านิมิราชหนึ่ง พระมหากษัตริย์ทรงพระนามว่ามันธาตุราชหนึ่ง เหล่านี้ข้าพเจ้าได้ยินมาว่า 'ไปสู่พิภพชื่อตรีทศแล้ว ทั้งสรีรกายเป็นของแห่งมนุษย์นั้นนั่นเทียว,' พระผู้เป็นเจ้า กรรมอันบุคคลนั้นกระทำแล้ว ข้าพเจ้าได้ฟังมาแม้สิ้นกาลนมนานว่า 'เป็นกรรมดี ไม่ใช่กรรมชั่ว"
      ถ "ขอถวายพระพร ก็บรมบพิตรเคยได้ทรงฟังแล้วหรือว่า 'ในกาลยืดยาวที่ล่วงแล้ว หรือในกาลซึ่งเป็นไปอยู่ ณ บัดนี้ ครั้นเมื่อทานของบุคคลผู้มีชื่ออย่างนี้ อันบุคคลนั้นให้อยู่ แผ่นดินใหญ่ไหวแล้วคราวหนึ่งบ้าง สองคราวบ้าง สามคราวบ้าง"
      ร "ข้าพเจ้าไม่เคยได้ฟังเลย พระผู้เป็นเจ้า"
      ถ "ขอถวายพระพร นิกายเป็นที่มา และมรรคผล ปริยัตติ และการฟัง และกำลังแห่งความศึกษา และความปรารถนาจะฟัง และปริปุจฉา และความเข้าไปนั่งใกล้อาจารย์ของอาตมภาพมีอยู่, แม้อาตมภาพไม่เคยได้ฟังว่า 'ครั้นเมื่อทานของบุคีคลผู้มีชื่ออย่างนี้ อันบุคคลนั้นให้อยู่ แผ่นดินใหญ่ไหวแล้ว คราวหนึ่งบ้าง สองคราวบ้าง สามคราวบ้าง' ดังนี้, ยกเว้นทานอันประเสริฐของพระเวสสันดรบรมกษัตริย์เสีย
      ขอถวายพระพร โกฏิแห่งปีทั้งหลายเป็นไปล่วงแล้วซึ่งคลองแห่งการนับ ล่วงไปแล้วในระหว่างแห่งพระพุทธเจ้าสองพระองค์ คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าสักยมุนีหนึ่ง การได้ฟังของอาตมภาพในโกฏิแห่งปีทั้งหลายนั้นไม่มีว่า 'ครั้นเมื่อทานของบุคคลผู้มีชื่ออย่างนี้ อันบุคคลนั้นให้อยู่ แผ่นดินใหญ่ไหวแล้ว คราวหนึ่งบ้าง สองคราวบ้าง สามคราวบ้าง' แผ่นดินใหญ่ซึ่งจะหวั่นไหว ด้วยความเพียรประมาณเท่านั้น ด้วยความบากบั่นประมาณเท่านั้น หามิได้
           ขอถวายพระพร แผ่นดินใหญ่เต็มแล้วด้วยภาระ คือ คุณแห่งความกระทำซึ่งความเป็นผู้สะอาดโดยอาการทั้งปวง ไม่อาจเพื่อจะทรงคุณนั้นไว้ได้ ย่อมเขยื้อนสะเทือนหวั่นไหว อุปมาเหมือนเกวียนที่เต็มด้วยภาระหนักเกิน ดุมและกงทั้งหลายของเกวียนนั้นย่อมแยกเพลาของเกวียนนั้นย่อมแตก ฉันใด, แผ่นดินใหญ่เต็มแล้วด้วย ภาระ คือ คุณแห่งความกระทำซึ่งความเป็นผู้สะอาดโดยทั้งปวง เมื่อไม่อาจเพื่อจะทรงภาระ คือ คุณนั้นไว้ได้ ย่อมเขยื้อนสะเทือนหวั่นไหวมีอุปไมยฉันนั้นนั่นเทียวแล
      ขอถวายพระพร อีกนัยหนึ่ง อากาศดาดไปด้วยเรี่ยวแรงแห่งลมและน้ำ เต็มแล้วด้วยภาระ คือ น้ำหนาขึ้นแล้ว ย่อมบันลือลั่นกระทำเสียงครืนครัน เพราะความที่อากาศนั้นเป็นของอันลมกล้าถูกต้องแล้วฉันใด, แผ่นดินใหญ่เต็มไปแล้วด้วยภาระอันหนาขึ้น ไพบูลย์คือกำลังแห่งทานของพระมหากษัตริย์ทรงพระนามว่าเวสสันดร ไม่อาจเพื่อจะทรงภาระนั้นไว้ได้ ย่อมเขยื้อนสะเทือนหวั่นไหว ฉันนั้นนั่นเทียวแล ก็จิตของพระมหากษัตริย์ทรงพระนามว่า เวสสันดร ย่อมไม่เป็นไปด้วยอำนาจแห่ง ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส และวิตกย่อมไม่เป็นไปด้วยอำนาจแห่ง อรติ, จิตนั้นย่อมเป็นไปโดยอำนาจแห่งทานโดยแท้แล; จิตนั้นเป็นไปโดยอำนาจแห่งทานว่ากะไร  พระมหากษัตริย์ทรงพระนามว่าเวสสันดรนั้น ทรงตั้งพระหฤทัยไว้ให้เป็นเจ้าแห่งทานเนือง ๆ เป็นไปในกาลทุกเมื่อว่า 'ยาจกทั้งหลายที่ยังไม่มาแล้ว พึงมาในสำนักของเรา ส่วนยากจกทั้งหลายที่มาแล้ว พึงได้ตามความปรารถนา แล้วมีใจยินดีเต็มไปด้วยปีติ, ดังนี้ พระมหากษัตริย์ทรงพระนามว่าเวสสันดร ทรงตั้งพระหฤทัยไว้เนือง ๆ เป็นไปในกาลทุกเมื่อในที่ทั้งหลายสิบ คือ: ในความทรมานหนึ่ง ในความระงับหนึ่ง ในความทนหนึ่ง ในความระวังหนึ่ง ในความสำรวมหนึ่ง ในความสำรวมโดยไม่เหลือหนึ่ง ในความไม่โกรธหนึ่ง ในความไม่เบียดเบียนหนึ่ง ในสัจจะหนึ่ง ในโสเจยยะความเป็นผู้สะอาดหนึ่ง ความแสวงหากามอันพระเวสสันดรมหากษัตริย์ละแล้ว, ความแสวงหาภพของพระองค์สงบรามแล้ว, พระองค์ถึงแล้วซึ่งความขวนขวายในการแสวงหาพรหมจรรย์ถ่ายเดียว พระองค์ละความรักษาตน ถึงแล้วซึ่งความขวนขวายเพื่อความรักษาผู้อื่น; พระองค์ถึงซึ่งความขวนขวาย เพื่อความรักษาผู้อื่น ว่ากระไร ความขวนขวายในพระหฤทัยของพระองค์ว่า 'สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ พึงเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน เป็นผู้ไม่มีโรค เป็นผู้เป็นไปด้วยทรัพย์ เป็นผู้มีอายุยืนเถิด' ดังนี้ ย่อมเป็นไปมากถ่ายเดียว พระเวสสันดรมหากษัตริย์ ก็เมื่อทรงบริจาคทานนั้น บริจาคเพราะปรารถนาภวสมบัติก็หาไม่, จะบริจาคเพราะเหตุปรารถนาจะให้เขาให้ตนบ้าง และปรารถนาจะให้ตอบแก่เขา และปรารถนาจะเกลี้ยกล่อมเขาก็หาไม่, จะบริจาคเพราะเหตุปรารถนาอายุ พรรณ สุข กำลัง ยศ และบุตรและธิดาละอย่าง ๆ ก็หาไม่, พระองค์ได้ให้แล้วซึ่งทานน่าเลือกสรรทั้งหลายไม่มีทานอื่นเสมอ และเป็นทานไพบูลย์ ไม่มีทานอื่นยิ่งกว่าเห็นปานฉะนี้ เพราะเหตุแห่งสัพพัญญุตญาณ คือ เพราะเหตุแห่งรัตนะ คือ สัพพัญญุตญาณ ครั้นพระองค์บรรลุความเป็นพระสัพพัญญูแล้ว ได้ทรงภาสิตพระคาถานี้ มีเนื้อความว่า "เราเมื่อสละบุตรชื่อชาลี และธิดา ชื่อ กัณหาชินา และเทวีชื่อ มัทรี มีความประพฤติดีในภัสดา มิได้เสียดายแล้ว, เราคิดแต่เหตุแห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้ถ่ายเดียว" ดังนี้ พระเวสสันดร มหากษัตริย์ทรงชนะบุคคลผู้โกรธ ด้วยความไม่โกรธ, ชนะบุคคลผู้ไม่ยังประโยชน์ให้สำเร็จ ด้วยการกระทำประโยชน์ให้สำเร็จ, ชนะบุคคลผู้ตระหนี่ ด้วยทานการบริจาค, ชนะบุคคลกล่าวคำเหลาะแหละ ด้วยคำจริง, ชนะอกุศลทั้งปวง ด้วยกุศล, เมื่อพระเวสสันดร นั้นบริจาคอยู่อย่างนั้นไปตามธรรมแล้ว มีธรรมเป็นประธานด้วยนิสสันทผลแห่งทาน และความเพียรมีกำลัง และวิหารธรรมเครื่องอยู่ไพบูลย์ของพระองค์, ลมใหญ่ทั้งหลายในภายใต้แผ่นดิน ย่อมเขยื้อนกระจาย ๆ พัดไปน้อย ๆ คราวหนึ่ง ๆ น้อมลงฟูขึ้น น้อมไปต่าง ๆ, ต้นไม้ทั้งหลายมีใบสลดแล้วล้มไป, วลาหกทั้งหลายเป็นกลุ่ม ๆ  แล่นไปในอากาศ, ลมทั้งหลายเจือด้วยธุลีเป็นของหยาบ, อากาศอันลมทั้งหลายเบียดเสียดแล้ว, ลมทั้งหลายย่อมพัดเป่าไป ๆ, เสียงน่ากลัวใหญ่เปล่งออก, ครั้นเมื่อลมทั้งหลายเหล่านั้นกำเริบแล้ว น้ำกระเพื่อมน้อย ๆ, ครั้นเมื่อน้ำกระเพื่อมแล้ว ปลาและเต่าทั้งหลายย่อมกำเริบ, คลื่นทั้งหลายเป็นคู่ ๆ กันเกิดขึ้น, สัตว์ทั้งหลายที่สัญจรในน้ำย่อมสะดุ้ง, ละลอกแห่งน้ำเนื่องเป็นคู่กันไป, เสียงบันลือแห่งละลอกย่อมเป็นไป, ต่อมน้ำทั้งหลายอันหยาบตั้งขึ้น, ระเบียบแห่งฟองทั้งหลายย่อมแล่นไป, มหาสมุทรย่อมขึ้น, น้ำย่อมไหลไปสู่ทิศและทิศเฉียง, ธารแห่งน้ำทั้งหลายมีหน้าเฉพาะทวนกระแสไหลไป, อสูร ครุฑ นาค ยักษ์ทั้งหลายสะดุ้งหวาดด้วยคิดว่า 'สาครพลิกหรืออย่างไรหนอแล' มีจิตกลัวแล้วแสวงหาทางไป, ครั้นเมื่อธารแห่งน้ำกำเริบขุ่นมัวแล้ว แผ่นดินทั้งภูเขาทั้งสาครหวั่นไหว, ภูเขาสิเนรุมียอดและชะง่อนเป็นวิการแห่งศิลาเป็นของน้อมไปต่าง ๆ, ครั้นเมื่อแผ่นดินใหญ่หวั่นไหวอยู่ งูและพังพอนและแมวและสุนัขจิ้งจอก สุกร มฤค และนกทั้งหลายย่อมตกใจ, เหล่ายักษ์ที่มีศักดาน้อยร้องไห้, ยักษ์ทั้งหลายที่มีศักดาใหญ่ ย่อมหัวเราะ มีอุปมาว่า เมื่อกะทะใหญ่ตั้งอยู่บนเตาแล้ว เต็มแล้วด้วยน้ำ มีข้าวสารอันบุคคลรวบรวมลงแล้ว ไฟโพลงอยู่ข้างใต้ คราวแรกกระทำกะทะให้ร้อนก่อน, กะทะร้อนแล้วกระทำน้ำให้ร้อน, น้ำร้อนแล้วกระทำข้าวสารให้ร้อน, ข้าวสารร้อนแล้วผุดขึ้นและจมลง, มีต่อมเกิดขึ้นแล้ว, ระเบียบแห่งฟองผุดขึ้น ฉันใด; พระมหากษัตริย์ทรงพระนามว่าเวสสันดร สิ่งใดที่บุคคลสละโดยยากในโลก ทรงสละสิ่งนั้น, ครั้นเมื่อพระองค์ทรงสละของพระองค์นั้น ลมใหญ่ทั้งหลายในภายใต้ ไม่อาจเพื่อจะทรงคุณ คือ ความสละนั้นไว้ได้ กำเริบแล้ว, ครั้นเมื่อลมใหญ่ทั้งหลายกำเริบแล้ว น้ำก็ไหว, ครั้นเมื่อน้ำไหวแล้ว แผ่นดินใหญ่ก็ไหว ฉันนั้น นั่นเทียวแล ของสามอย่าง คือ ลมใหญ่ด้วย น้ำด้วย แผ่นดินด้วยเหล่านี้ เป็นของดุจมีใจเป็นอันเดียวกัน แม้ในกาลนั้น ด้วยประการ ฉะนี้, อานุภาพแห่งทานของบุคคลอื่นซึ่งจะเหมือนอานุภาพแห่งมหาทานของพระเวสสันดรมหากษัตริย์ โดยนิสสันทผลแห่งมหาทาน โดยความเพียรมีกำลังไพบูลย์เช่นนี้ ไม่มี
      อนึ่ง แก้วทั้งหลายมากอย่างซึ่งมีในแผ่นดิน, แก้วมากอย่างนี้อย่างไร แก้วมากอย่างนี้ คือ แก้วอินทนิล แล้วมหานิล แก้วโชติรส แก้วไพฑูรย์ แก้วดอกผักตบ แก้วสีดอกไม้ซึก แก้วมโนหร แก้วสุริยกานต แก้วจันทรกานต แก้ววิเชียร แก้วกโชปักกมกะ แก้วปุสราค แก้วทับทิม แก้วลาย, แก้วจักรวัตติ อันโลกย่อมกล่าวว่าเป็นยอด ก้าวล่วงเสียซึ่งแก้วทั้งปวงเหล่านี้, แก้วจักรวัตติ ยังที่ให้สว่างลงตลอดโยชน์หนึ่งโดยรอบ ฉันใด; ทานอันใดอันหนึ่ง แม้อสทิสทานเป็นอย่างยิ่ง มีอยู่ในแผ่นดิน, มหาทานของพระเวสสันดรมหากษัตริย์ บัณฑิตย่อมกล่าวว่าเป็นยอดทาน ก้าวล่วงทานทั้งปวงนั้นเสีย ฉันนั้นนั่นเทียวแล ครั้นเมื่อมหาทานของพระเวสสันดรมหากษัตริย์ อันพระองค์บริจาคอยู่ แผ่นดินใหญ่ไหวแล้วเจดครั้ง"
      ร "พระผู้เป็นเจ้า พระตถาคตเมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์ เป็นผู้มีขันติความอดทนอย่างนี้ มีจิตอย่างนี้ มีความน้อมไปเพื่อคุณอันยิ่งอย่างนี้ มีความประสงค์อย่างนี้ ไม่มีใครเสมอทั้งโลกด้วยเหตุใด, เหตุนั้น ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายน่าอัศจรรย์ เหตุนั้น ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายน่าพิศวง ไม่เคยเป็นมาเป็นแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ความพยายามก้าวไปสู่คุณยิ่งของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย พระผู้เป็นเจ้าให้ข้าพเจ้าเห็นแล้ว, อนึ่ง พระบารมีของพระพุทธเจ้าผู้ชนะแล้ว พระผู้เป็นเจ้าให้สว่างลงโดยยิ่งแล้ว, ความที่พระตถาคต แม้เมื่อประพฤติจริยาเท่านั้น ยังเป็นผู้ประเสริฐสุดในโลกกับทั้งเทพดา พระผู้เป็นเจ้ามาแสดง โดยลำดับแล้ว; ดีละ พระผู้เป็นเจ้า ศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้ชนะแล้ว พระผู้เป็นเจ้าชมแล้ว, พระบารมีของพระพุทธเจ้าผู้ชนะแล้ว พระผู้เป็นเจ้าให้รุ่งเรืองแล้ว, ขอดแห่งวาทะของเดียรถีย์ทั้งหลาย พระผู้เป็นเจ้าตัดเสียแล้ว, หม้อแห่งปรัปปวาทความติเตียนทั้งหลาย พระผู้เป็นเจ้าต่อยเสียแล้ว, ปัญหาลึก พระผู้เป็นเจ้ามากระทำให้ตื้นได้แล้ว, ชัฏรกพระผู้เป็นเจ้ามากระทำไม่ให้เป็นชัฏได้แล้ว, คำเครื่องขยายออกอันพระชินบุตรทั้งหลายได้แล้วโดยชอบ, พระผู้เป็นเจ้าผู้ประเสริฐกว่าคณาจารย์ที่ประเสริฐ ข้อวิสัชนาของพระผู้เป็นเจ้านั้น สมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับอย่างนั้น"

 


วรรคที่ 1
วัชฌาวัชฌปัญหา
สัพพัญญูภาวปัญหา
เทวทัตตปัพพาชิตปัญหา
มหาภูมิจาลนปาตุภาวปัญหา
สิวิราชจักขุทานปัญหา
คัพภาวัคกันติปัญหา
สัทธัมมอันตรธานปัญหา
สัพพัญญุตปัตตปัญหา
ตถาคตอุตตริกรณียาภาวปัญหา
อิทธิปาทพลทัสสนปัญหา
วรรคที่ 2
วรรคที่ 3
วรรคที่ 4
วรรคที่ 5
วรรคที่ 6
วรรคที่ 7
วรรคที่ 8
วรรคที่ 9
 

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย