ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อารยธรรม >>
พัฒนาการของความขัดแย้ง
สถานการณ์ในปัจจุบันพบว่า สังคมมีความวุ่นวาย สับสน และยังไร้ทิศทาง
ซึ่งปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นล้วนแต่เกิดจากคนทั้งนั้น เกิดจากกิเลสของคน
ความโลภ ปรารถนาในทรัพย์สินและอำนาจที่ไม่สิ้นสุดของมนุษย์
ในขณะที่ทรัพยากรที่มีจำกัดบนโลกใบนี้ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของทุกคนได้
ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ความขัดแย้ง (Conflict)
ความขัดแย้งนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในทุกระดับ
ไม่ว่าจะเป็นในระดับปัจเจกบุคคล ครอบครัว สังคม รัฐ ไปจนถึงระดับโลก
และถ้าไม่ได้รับการแก้ไขที่ถูกทางแล้ว สิ่งที่จะตามมาคือความรุนแรง
และนำไปสู่ความเสียหายหรือสูญเสียในที่สุด
ดังนั้นการทำความเข้าใจสภาพของความขัดแย้งจึงเป็นสิ่งที่อาจช่วยยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นได้
เนื่องจากยังคงมีความขัดแย้งบางประเภทที่หาทางออกไม่ได้จนกลายไปเป็นข้อพิพาท
และความรุนแรงในที่สุด ซึ่งความรุนแรงนั้นสามารถแสดงออกได้ตั้งแต่ การใช้คำพูด
ภาษาท่าทาง จนถึงการลงมือทำร้ายกัน ซึ่งจะมีความสูญเสียตามมา ทั้งทรัพย์สิน เวลา
ความรู้สึก จนกระทั่งการสูญเสียอำนาจอธิปไตย
ถ้าเป็นความขัดแย้งในกรอบใหญ่คือระหว่างรัฐกับรัฐ เป็นต้น
ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ (2547) กล่าวเกี่ยวกับพัฒนาการของความขัดแย้งว่ามี 3
ระยะ ได้แก่
- ความขัดแย้งแฝง (Latent Conflicts)
- ความขัดแย้งกำลังเกิด (Emerging Conflicts)
- ความขัดแย้งที่ปรากฏออกมาแล้ว (Manifest Conflicts)
ส่วนรูปแบบของความขัดแย้งนั้น ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ ก็ได้แบ่งออกเป็น 5 ชนิด ด้วยกัน กล่าวคือ (วันชัย วัฒนศัพท์, 2547)
- ความขัดแย้งด้านข้อมูล (Data Conflict)
- ความขัดแย้งจากผลประโยชน์ (Interests Conflict)
- ความขัดแย้งด้านโครงสร้าง (Structural Conflict)
- ความขัดแย้งด้านความสัมพันธ์ (Relationship Conflict)
- ความขัดแย้งด้านค่านิยม (Values Conflict)
ปัจจุบันความขัดแย้งทางสังคมและวัฒนธรรมในแต่ละภูมิภาคของโลกนั้นส่วนใหญ่จะมีความเกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะ ทั้งนี้เนื่องจากความพยายามในการที่จะพัฒนารัฐ ให้มีความเจริญให้มีความทันสมัย (Modernization) ทำให้ส่งผลกระทบกลับมายังสังคม สิ่งแวดล้อม ประชากร จนเกิดความขัดแย้งขึ้น ดังนั้นความขัดแย้งในนโยบายสารธารณะจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งมีสาเหตุมาจากสิ่งต่อไปนี้
- ความสลับซับซ้อนในการพัฒนา :
การเพิ่มขึ้นของประชากรส่งผลให้ความต้องการทรัพยากรต่าง ๆ ทั้งตามธรรมชาติ
และสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นในปริมาณที่มากตาม ความซับซ้อนในการพัฒนาจึงมากขึ้น
ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาต่าง ๆ
จึงมีความขัดแย้งกับผู้ที่พัฒนาหรือออกนโยบาย
- การบริหารจัดการรูปแบบเดิมที่ขาดการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ :
แนวความคิดในการบริหารงาน หรือบริหารประเทศ
ทั่วไปในปัจจุบันมักจะกระทำในรูปแบบเดิม ที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง
โดยมีลักษณะที่ผู้มีอำนาจในการสั่งการเป็นผู้ที่พัฒนากระบวนการในการตัดสินใจ
แล้วสั่งการลงไปยังผู้ปฏิบัติ ซึ่งมีลักษณะเป็นการกำหนดจากบนล่าง
ทำให้เกิดความคิดเห็นที่ขัดแย้ง
- ข้อมูลข่าวสารที่มากมายและรวดเร็ว:
ในยุคสารสนเทศที่การบริการและการเข้าถึงอย่างมากมายและรวดเร็วทำให้ผู้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงสารสนเทศได้อย่างหลากหลาย
และใช้ข้อมูลเชิงลึกในการตัดสินใจมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งตามมา
- กระบวนทัศน์ของประชาธิปไตยที่เปลี่ยนแปลง:
นวัตกรรมทางเทคโนโลยีส่งผลให้เกิดกระแสโลกาภิวัฒน์ที่ทำให้การสื่อสารในสังคมเป็นไปด้วยความง่าย
สะดวก และรวดเร็ว รวมถึงระบอบการเมือง
โดยเฉพาะการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy)
ได้เปลี่ยนแปลงมาเป็น ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Democracy)
ซึ่งแต่เดิมนั้นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน
จะเป็นระบอบการปกครองที่เน้นหรือมีวัตถุประสงค์ที่เน้นในเสียงส่วนใหญ่
(Majority Rule) ที่เลือกสมาชิกของสังคมขึ้นเป็นตัวแทน
แล้วให้ตัวแทนเหล่านั้นตัดสินใจแทน
แต่ในปัจจุบันเจตนารมณ์ของการปกครองระบอบประชาธิปไตย
ที่แปรเปลี่ยนไปตามกระแสการเปลี่ยนแปลง
ทำให้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยได้ให้ความสำคัญกับสิทธิของคนส่วนน้อย
(Minority Rights)
โดยสิ่งใดก็ตามที่มีผลกระทบต่อคนส่วนน้อยรัฐในฐานะผู้ที่ใช้อำนาจจะต้องระมัดระวัง
และสร้างผลกระทบให้น้อยที่สุดด้วยการสร้างการมีส่วนร่วม ด้วยเหตุเช่นนี้เอง
ความขัดแย้งจึงเป็นสิ่งที่เกิดตามมา เพราะความไม่ลงตัวของกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม
-
การใช้แนวความคิดในเรื่องของการสื่อสารการตลาดแบบครบวงจรและการจัดการลูกค้าสัมพันธ์:
ในแนวความคิดของการสื่อสารการตลาดแบบครบวงจร (Integrated Communication
Marketing: IMC)
นั้นเป็นแนวความคิดของการตลาดใหม่ที่เน้นการโฆษณาผ่านสื่อทุกประเภทโดยมีความสอดคล้องกัน
ทำให้ผู้บริโภคเกิดความคล้อยตาม และผู้ขายจะเน้นแต่ด้านบวกของผลิตภัณฑ์ตนเอง
ประกอบการการเน้นในเรื่องของการจัดการลูกค้าสัมพันธ์ (Customer Relationship
Management: CRM) ทำให้ลูกค้ามีสิทธิ์มีเสียงในการต่อรองกับผู้ขายและผู้ผลิต
ผลที่ตามมาคือ เมื่อลูกค้าเจอสินค้าและบริการในด้านลบ หรือ
สินค้าและบริการนั้นไม่เป็นไปตามที่โฆษณาแล้วก็จะเกิดการร้องเรียน
อันจะนำมาซึ่งความขัดแย้ง
- การบังคับใช้กฎหมาย: ปัญหาช่องว่างในสังคม และการฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือที่ปัจจุบันเรานิยมเรียกว่าคอร์รัปชั่น นั้นส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายไม่มีมาตรฐานเดียวกัน มีการเลือกปฏิบัติ ดังนั้นความขัดแย้งจึงเกิดขึ้นในสังคม
จากสาเหตุที่กล่าวมาข้างต้นนั้นส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันและนำมาซึ่งความขัดแย้งอย่างรุนแรง
เพราะเป็น ความขัดแย้งด้านโครงสร้าง (Structural Conflict) กล่าวคือ
เป็นเรื่องของช่องว่างระหว่างสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นหรือศักยภาพของมนุษย์
(Potentiality) และสิ่งที่เกิดขึ้นจริง (Actuality)
ซึ่งยิ่งห่างก็จะยิ่งเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างมากขึ้นเท่านั้น
ปัจจุบันสถานการณ์บ้านเมืองมีความร้อนแรง
จนสามารถกล่าวได้ว่าสังคมกำลังมีความขัดแย้ง
ซึ่งความขัดแย้งนี้สามารถนำไปสู่การพิพาท
ที่จะนำมาซึ่งความแตกแยกในสังคมอย่างรุนแรง
โดยมีความขัดแย้งสองประเภทหลักผสมผสานกันคือ
ความขัดแย้งด้านโครงสร้างและความขัดแย้งจากผลประโยชน์ การดำเนินการต่าง ๆ
ของผู้แสดงแต่ละท่าน (Actor)
ที่เกี่ยวข้องล้วนแต่มีส่วนทำให้สถานการณ์คลี่คลายหรือแตกหัก
การเผชิญหน้าระหว่างชนชั้นกลางและรากหญ้าเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ
เพราะถ้าเกิดความรุนแรงขึ้นเมื่อใด
ประเทศไทยจะได้ผลกระทบและเป็นรอยร้าวในสังคมที่ต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนานในการสมานฉันท์
ให้กลับมาเป็นดังเดิม
ความเสียสละของผู้แสดงแต่ละท่านล้วนแต่จะนำมาซึ่งความสงบสุขในสังคม
แต่ถ้าผู้แสดงแต่ละท่านไม่ยอมลดราวาศอกให้กันแล้ว สถานการณ์ต่าง ๆ
จะเป็นตัวขับเคลื่อนที่นำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมอย่างรุนแรง
» สังคมโลก
» สถานการณ์ความขัดแย้งทางสังคมและวัฒนธรรมระดับโลกในยุคโลกาภิวัตน์
» สถานการณ์ความขัดแย้งทางสังคมและวัฒนธรรมต่างๆที่เกิดขึ้นในโลกตามการจัดแบ่งมูลเหตุแห่งความขัดแย้ง
» ความขัดแย้งทางสังคมและวัฒนธรรม ระดับโลกในยุคโลกาภิวัตน์