ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>

ศึกษาความหมายและความเป็นมาของวิชาปรัชญา

ความหมายของอภิปรัชญา

(Meanings of Metaphysics)

คำว่า “อภิปรัชญา” เป็นศัพท์ที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ (พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร) ทรงบัญญัติขึ้นเพื่อใช้คู่กับคำภาษาอังกฤษว่า “Metaphysics” เป็นคำมาจากรากศัพท์ภาษาสันสกฤต 3 คำคือ
1. อภิ : ยิ่ง
2. ปฺร : ประเสริฐ
3. ชฺญา : ความรู้, รู้, เข้าใจ

เมื่อรวมกันแล้ว เป็น “อภิปฺรชฺญา” (อภิปรัชญา) แปลว่า ความรู้อันประเสริฐที่ยิ่งใหญ่ เป็นวิชาที่ว่าด้วยความแท้จริงของสรรพสิ่ง

คำว่า “อภิปรัชญา” ตรงกับคำภาษาบาลีว่า “ปรมัตถ์” ซึ่งมีรากศัพท์มาจาก ปรม (อย่างยิ่ง, ลึกซึ้ง) + อัตถ (เนื้อความ) เมื่อรวมกันแล้ว แปลว่า ความรู้ที่มีเนื้อความที่ลึกซึ้ง

ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้นิยามความหมายของคำว่า “อภิปรัชญา” เอาไว้ว่า “สาขาหนึ่งของปรัชญา ว่าด้วยความแท้จริง ซึ่งเป็นเนื้อหาสำคัญของปรัชญา”

อภิปรัชญา เป็นปรัชญาบริสุทธิ์สาขาหนึ่ง มีลักษณะเป็นการศึกษาค้นหาความจริงที่สิ้นสุด เดิมทีเรียกว่า “ปฐมปรัชญา” (First Philosophy) หรือปรัชญาเริ่มแรก (Primary Philosophy) ซึ่งเป็นชื่อเรียกผลงานของ อริสโตเติ้ล (Aristotle) อีกอย่างหนึ่ง เหตุที่เรียกวิชาอภิปรัชญานี้ว่า First Philosophy เนื่องจากว่าเป็นวิชาที่เกี่ยวเนื่องด้วยหลักพื้นฐานที่แท้จริงของจักรวาลและเป็นวิชาที่ควรศึกษาเป็นอันดับแรก ส่วนวิชาการต่าง ๆ ในสมัยแรก ๆ นั้น ก็รวมอยู่ในปฐมปรัชญาทั้งนั้น เพราะหลักการของปฐมปรัชญาสามารถใช้อธิบายวิชาอื่น ๆ ได้ทุกวิชา จึงเป็นศาสตร์ต้นตอแห่งศาสตร์ทั้งปวง หรือเป็นศาสตร์ที่ทำให้เกิดศาสตร์ต่าง ๆ

ดังนั้น อภิปรัชญา เป็นวิชาที่เกี่ยวกับพื้นฐานที่แท้จริงของจักรวาล เป็นศาสตร์เบื้องต้นแห่งศาสตร์ทั้งปวง เพราะศาสตร์หรือวิชาการต่าง ๆ ได้รวมอยู่ในปฐมปรัชญาหรืออภิปรัชญานี้ทั้งนั้น เราจึงสามารถนำหลักการของปฐมปรัชญาไปอธิบายสาขาของปรัชญาได้ทุกสาขา

อภิปรัชญา (Metaphysics) เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ภววิทยา (Ontology หรือ Theory of Being) คำว่า “ภววิทยา” มีความหมายว่า วิชาที่ว่าด้วยความมีอยู่, ความเป็นอยู่ มาจากภาษาสันสกฤต 2 คำคือ

1. ภว : มี, เป็น
2. วิทยา : วิชา, ศาสตร์

คำว่า “Ontology” มาจากรากศัพท์ภาษากรีก 2 คำคือ

1. Onto : Being
2. Logos : Science

คำว่า “Ontology” เป็นคำที่นักปรัชญาสมัยโบราณใช้มาก่อนคำว่า “Metaphysics” เพราะคำว่า Metaphysics เพิ่งจะเริ่มใช้กันเมื่อประมาณศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสต์ศักราชตามที่ สเตช (W.T. Stace) ได้ชี้แจงไว้ คือเมื่อแอนโดรนิคัส (Andronicus) จัดพิมพ์งานของ อริสโตเติ้ล (Aristotle) เข้าเป็นรูปเล่มสมบูรณ์ ในการจัดพิมพ์ครั้งนี้ได้นำเอาตำราปฐมปรัชญาไปพิมพ์ไว้หลังฟิสิกส์ คำว่า “Metaphysics” (เมตาฟิสิกส์) จึงมีความหมายว่า “มาหลังฟิสิกส์” “ล่วงพ้นฟิสิกส์” (After Physics) กล่าวคือเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งนอกเหนือฟิสิกส์

เมื่อพิจารณาตามรูปศัพท์ คำว่า “Metaphysics” ในภาษากรีกซึ่งเป็นภาษาดั้งเดิมของอภิปรัชญาใช้คำว่า “Meta ta Physika” หรือที่ภาษาอังกฤษใช้ว่า Metaphysics มีรากศัพท์มาจากคำ 2 คำคือ

  1. Meta : After, Above (หลัง, เบื้องหลัง, ล่วงเลย)
  2. Physika : Physics = Nature (สิ่งที่สัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัส, สิ่งที่สัมผัสได้ด้วยอินทรีย์)

เมื่อเป็นเช่นนี้ คำว่า “Metaphysics” จึงหมายถึง “After Physics” แปลว่า “สิ่งที่อยู่เหนือประสาทสัมผัส, สิ่งที่อยู่หลังฟิสิกส์, สิ่งที่อยู่เบื้องหลังวัตถุ หรือวิชาที่ว่าด้วยสิ่งที่อยู่เบื้องหลังสิ่งที่รู้สึกทางประสาทสัมผัส”

จากความหมายดังกล่าวนี้ มีนักปราชญ์ของไทยบางท่าน ได้บัญญัติศัพท์ขึ้นใช้อีกศัพท์หนึ่งคือ “อตินทรีย์วิทยา” (อติ + อินทรีย์ = ล่วงเลยอินทรีย์ หรือล่วงเลยประสาทสัมผัส)

ดังนั้น เราจึงสรุปได้ว่า คำว่า “อภิปรัชญา” มีไวพจน์ที่ใช้อยู่ 4 อย่างได้แก่

1. อภิปรัชญา
2. ความรู้ขั้นปรมัตถ์
3. Meta ta physika
4. อตินทรีย์วิทยา

เมื่อแยกพิจารณาแล้ว เราจะเห็นว่า ไวพจน์ที่ 1 คืออภิปรัชญา และไวพจน์ที่ 2 คือความรู้ขั้นปรมัตถ์ มีความหมายที่เหมือนกัน กล่าวคือ เป็นวิชาที่ว่าด้วยการค้นหาความจริงสูงสุด ไม่มีอะไรที่จริงไปกว่านี้อีกแล้ว ภาษาปรัชญาเรียกลักษณะเช่นนี้ว่า การค้นหาความจริงขั้นอันติมะ (Ultimate Reality) ในการศึกษาค้นหาความจริงดังกล่าวนั้น เราอาจจะวิเคราะห์ได้ 3 ขั้นตอน (ผศ.วิธาน สุชีวคุปต์, 2525: 3 - 4) ตามความจริงที่เป็นพื้นฐาน นั่นคือ

  1. ความจริงขั้นสมมติ เป็นความจริงที่เราสมมติขึ้นใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เราได้รับการศึกษาหรือสั่งสอนให้เรียกวัตถุที่เหลว ๆ ดื่มได้ อาบได้ ล้างถ้วยชามได้ ฯลฯ ว่า “น้ำ” เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงไม่เรียกสิ่งนี้ว่าเป็นลม หรือเป็นไฟ หรือเป็นดิน การที่เราเรียกอย่างนั้นก็เพราะเรียกตามที่เคยได้รับการศึกษาหรือได้รับการสั่งสอนอบรมมา ลักษณะเช่นนี้แหละเรียกว่า ความจริงขั้นสมมติ
  2. ความจริงตามสภาวะ เป็นความจริงที่อาศัยสภาพที่เป็นอยู่ แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีลักษณะเป็นอีกอย่าง แต่เมื่อถึงขั้นนี้มีลักษณะอย่างใด เราก็เรียกตามลักษณะเช่นนั้น เช่น การเรียกตามสภาวะนั้น อาจจะมีได้เพราะสาเหตุหลายอย่าง เป็นต้นว่า วิทยาการมีการก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ นักวิทยาศาสตร์ได้มีการศึกษาทดลอง น้ำที่เราใช้ดื่ม อาบ หรือชำระล้างสิ่งต่าง ๆ นั้น เมื่อได้รับการศึกษาทดลองแล้ว ได้กลายเป็นอย่างอื่นไป ไม่ใช่น้ำ เพราะเป็นเพียงสารประกอบทางเคมีที่เป็นไฮโดรเจน 2 ปรมาณู รวมกับปรมาณูของอ๊อกซิเจน อีก 1 เท่านั้น อย่างที่ตั้งเป็นสูตรกันว่า H2O นั่นเอง ลักษณะเช่นนี้แหละเรียกว่า ความจริงตามสภาวะ
  3. ความจริงขั้นปรมัตถ์ เป็นความจริงสูงสุด เมื่อเราวิเคราะห์ลงไปเรื่อย ๆ โดยเอาปรมาณูของไฮโดรเจน และปรมาณูของอ๊อกซิเจนมาแยกย่อยลงไปอีก จะได้เป็น อีเล็กตรอน โปรตรอน และนิวตรอน และอนุภาคที่เล็กกว่าปรมาณูแล้ว สภาวะเช่นนี้ สูตรที่เราเรียกว่า H2O ก็หายไป ก็จะมีแต่ความว่างเปล่า ลักษณะความจริงเช่นนี้แหละเรียกว่า ความจริงขั้นปรมัตถ์

ส่วนไวพจน์ที่ 3 คือ Meta ta physika (Metaphysics) และไวพจน์ที่ 4 คือ อตินทรีย์วิทยา มีความหมายเหมือนกัน กล่าวคือ ความจริงที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์

นักปรัชญาตะวันตก ได้แบ่งวัตถุในโลกออกเป็น 2 อย่างคือ (ผศ.วิธาน สุชีวคุปต์, 2525: 4)

1. สิ่งที่ปรากฏ (Appearance)
2. สิ่งที่เป็นจริง (Reality)

นักปรัชญาทั่วไปยอมรับว่า สิ่งที่ปรากฏต่อประสาทสัมผัสทั้ง 5 นั้น เป็นเพียงสิ่งปรากฏเท่านั้น ไม่ใช่ความจริง เมื่อเป็นเช่นนี้จะต้องมีสิ่งที่เป็นความจริงอยู่ในสิ่งที่ปรากฏนั้น เช่น การเห็นเชือกเป็นงู

ในขณะที่เราเดินทางตอนกลางคืนที่มีแสงสว่างพอสลัว ๆ พอเดินผ่านสนามหญ้า มองไปเห็นวัตถุชิ้นหนึ่ง ความยาวศอกเศษ ๆ เราถึงกับสะดุ้งตกใจร้องออกมาว่า “งู ๆ ๆ” แต่พอได้สติหายตกใจ นำเอาไฟฉายมาส่องดูแล้วจึงร้องออกมาด้วยความโล่งใจว่า “อ๋อ เชือกนั่นเอง ตาเราฝาดไป เห็นเชือกเป็นงู”

นั่นคือ นักปรัชญาจะพยายามพิสูจน์ให้เห็นว่า จะต้องมีของจริงเป็นฐานรองรับในทุกปรากฏการณ์ เช่น “การเห็นเชือกเป็นงู” กล่าวคือ เชือกเป็นของมีอยู่จริง แต่เพราะเห็นเชือกไม่ชัด จึงเห็นเป็นงู งูในที่นี้ไม่ใช่ของจริง เป็นเพียงภาพปรากฏของเชือกเท่านั้น

ทัศนะเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ นักปรัชญาจะพูดถึงลักษณะเหล่านี้ที่คล้ายคลึงกัน ทั้งฝ่ายตะวันตก และฝ่ายตะวันออก ที่ต่างกันเห็นจะเป็นการเรียกชื่อ นั่นคือปรัชญาตะวันตก เรียกว่า “Metaphysics” เพราะเป็นการค้นหาความจริงที่อยู่เบื้องหลัง อันจะมีผลในการทำให้แจ้งสัจจะของปรากฏการณ์ธรรมชาติ และข้อเท็จจริงที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ต่าง ๆ ส่วนปรัชญาตะวันออก เรียกว่า “อภิปรัชญา หรือปรมัตถธรรม” เพราะเมื่อค้นพบปรมัตถธรรมแล้วก็จะนำมาเป็นแนวทางดำเนินชีวิตให้ก้าวสู่ระดับสูงของการประพฤติต่อไป

ความหมายของปรัชญา
การนิยามความหมายของนักปรัชญา
ระบบปรัชญา
สาขาปรัชญา
อภิปรัชญาคืออะไร
ความหมายของอภิปรัชญา
ความเป็นมาของอภิปรัชญา
ความสัมพันธ์กับศาสตร์อื่นๆ
บ่อเกิดแนวความคิดทางอภิปรัชญา
หน้าที่ของอภิปรัชญา
ลักษณะและขอบเขตของอภิปรัชญา
ทฤษฎีทางอภิปรัชญา
ทฤษฎีสสารนิยม
ทฤษฎีจิตนิยม
ทฤษฎีเอกนิยม
ทฤษฎีทวินิยม
ทฤษฎีพหุนิยม
อภิปรัชญาว่าด้วยเอกภพ หรือธรรมชาติ
ทัศนะฝ่ายจิตนิยม
วิวัฒนาการของจิตนิยม
ทฤษฎีเอกนิยมฝ่ายจิตนิยม
ทฤษฎีพหุนิยมฝ่ายจิตนิยม
จิตนิยมทัศนะอภิปรัชญาตะวันตก
จิตนิยมทัศนะอภิปรัชญาตะวันออก
จิตนิยมในปรัชญาอินเดีย
ทัศนะฝ่ายสสารนิยม
ทฤษฎีพหุนิยมฝ่ายสสาร
สสารนิยมทัศนะอภิปรัชญาตะวันตก
สสารนิยมทัศนะอภิปรัชญาตะวันออก
ทัศนะฝ่ายธรรมชาตินิยม
ลักษณะและธรรมชาติของชีวิต
อภิปรัชญาว่าด้วยจิต หรือวิญญาณ
ความหมายของจิต มโน หรือวิญญาณ
การนิยามความหมายของฝ่ายตะวันตก
การนิยามความหมายของฝ่ายตะวันออก
ธรรมชาติของจิต มโน หรือวิญญาณ
วิญญาณเป็นพลังงาน
เจตจำนงเสรี (Free Will)
ความสัมพันธ์ระหว่างกายกับจิต
อมฤตภาพของวิญญาณ
ลัทธิเพลโต้ในทางอภิปรัชญา
ทัศนะของอริสโตเติ้ล (Aristotle)
ทัศนะของเบริ์คเล่ย์ (Berkeley)
อภิปรัชญาว่าด้วยพระเจ้า หรือสิ่งสัมบูรณ์
พระเจ้าคืออะไร
ความคิดรวบยอดเกี่ยวกับพระเจ้า
เทววิทยา
พิสูจน์ความมีอยู่ของพระเจ้า
เหตุผลทางจักรวาลวิทยา
เหตุผลทางเจตจำนง หรือวัตถุประสงค์
เหตุผลทางภววิทยา
เหตุผลทางจริยธรรม
นักปรัชญาฝ่ายอเทวนิยม (Atheism)
ทฤษฎีการสร้างโลก
จักรวาลวิทยา
ทัศนะของนักปรัชญาเกี่ยวกับพระเจ้า
บรรณานุกรม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย