ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>

ปรัชญาไทย

ความเบื้องต้น
แหล่งอารยธรรมที่สำคัญของโลก
ความเป็นมาของชนชาติไทย
กลุ่มที่เชื่อว่าคนไทยมีถิ่นกำเนิดในถิ่นอื่นนอกจากดินแดนประเทศไทย
กลุ่มที่เชื่อว่า คนไทยมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ดินแดนประเทศไทยนี้เอง
วิวัฒนาการของสังคมไทยสมัยต่าง ๆ
ความเชื่อดั้งเดิมของชนชาติไทย
ความเชื่อก่อนการนับถือพระพุทธศาสนา
ความเชื่อเมื่อนับถือพระพุทธศาสนา
ความเชื่อของคนไทยสมัยใหม่
ชนชาติไทยกับปรัชญา
ภูมิปัญญาไทย หรือ แนวคิดไทย
ปรัชญาไทย
วิธีคิดของคน
วิธีคิดของคนไทย
ระบบปรัชญาไทย 3 สาขา

ความเชื่อก่อนการนับถือพระพุทธศาสนา

ชาวไทยมีความเชื่อในเรื่องลึกลับที่มิอาจพิสูจน์ให้เห็นประจักษ์ได้ และความเชื่อนี้ เป็นของดั้งเดิมประจำโลกและคู่มนุษย์ คือ ความเชื่อเรื่อง “ภูต ผี ปีศาจ และ วิญญาณ” และจากความเชื่อเรื่องผีนี้เองจะโยงมาถึง “ศาสนา” แม้จะหาคำตอบมิได้ว่า ผีคืออะไร แต่ก็เชื่อว่าผีมีจริง ส. ศิวรักษ์ กล่าวว่า “ความเชื่อระดับ ‘ศาสนา’ จะเป็นความเชื่อที่ลึกซึ้งที่สุดของมนุษย์ ในสิ่งที่ไม่สามารถจะหาคำตอบจากที่อื่นได้ แต่จะลึกซึ้งเพียงใดขึ้นอยู่กับระดับสติปัญญาของมนุษย์คนนั้น ซึ่งเกี่ยวพันไปถึงพัฒนาการทางความคิดและจิตใจของคนนั้น ถ้าพัฒนาน้อย ความเชื่อก็ตื้น ถ้าพัฒนามากความเชื่อจะลึก ทั้งหมดคือความเชื่อ”

การที่คนเราจะยอมรับและเชื่ออะไรนั้น ย่อมมีรูปแบบ 3 ประการ คือ

  1. ถูกครอบงำให้เชื่อ ด้วยสื่อโฆษณา หรือการไหลบ่าของวัฒนธรรมที่เจริญกว่า
  2. ถูกบังคับให้เชื่อ ด้วยอำนาจทางการเมือง การศึกษาแบบใหม่ หรือ ล้างสมอง
  3. ถูกหลอกให้เชื่อ ด้วยความด้อยอำนาจทางความรู้ การโฆษณาชวนเชื่อ

ความเชื่อเรื่องผีดูไร้สาระ แต่ถ้าเป็นการเชื่อเพื่อพัฒนาความคิดทางศีลธรรม จริยธรรม ย่อมเป็นคุณประโยชน์แก่ผู้เชื่อ ความเชื่อบางอย่างก็อยู่เหนือเหตุผล ไม่ต้องการพิสูจน์ดังเสฐียรโกเศศ กล่าวว่า “ถ้าตราบใดถือว่าความเชื่อใช้ได้ ความเชื่อนั้นย่อมอยู่เหนือเหตุผล และตราบนั้นความเชื่อก็เป็นจริง ถ้าเมื่อใด ความเชื่อใดถือว่าใช้ไม่ได้ เมื่อนั้นความเชื่อนั้นก็ไม่เป็นจริง”

ในทรรศนะของชาวตะวันออก ความเชื่อเรื่องผีเกี่ยวโยงมาถึงความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดของมนุษย์ ชาวไทยเชื่อว่า การเกิดกับการตายเป็นของคู่กัน ตายแล้วก็เกิดใหม่ มิได้สิ้นสุดเพียงแค่หลังจากตายไป เมื่อคนตายลงจึงกลายเป็น “ผี” ชาวตะวันตกส่วนมากเชื่อว่า ชีวิตมีครั้งเดียวและมีเพียงชาติเดียว ตายแล้วเป็นอันจบสิ้นกัน ความเชื่อดั้งเดิมของชาวไทย คือ เชื่อผีและนับถือผี

ผี คือ อะไร ผี คือ สิ่งที่เราไม่รู้จัก สิ่งลึกลับมหัศจรรย์ สามารถให้ทั้งคุณและโทษ ผีดีเรียกว่า ผีฟ้า ผีเลว เรียกว่า ผีห่า อยากให้ชีวิตดี ต้องเอาอกเอาใจผี ด้วยการเคารพ เซ่น สรวง บูชา ในลิลิตโองการแช่งน้ำกล่าวว่า มีผีประจำอยู่ทุกส่วนของโลก สูงขึ้นไปบนฟ้าเป็นผีฟ้า ผีแถน ต่ำลงมาบนพื้นดิน เป็นเจ้าที่เจ้าทาง เช่น ผีบ้าน ผีเรือน ผีป่า ผีเขา ผีน้ำ ผีพราย ผีประจำเรือ คือ “แม่ย่านาง” และผีประจำต้นไม้ เช่น ผีนางตะเคียน ผีนางตานี เป็นต้น และต่ำสุดลงไปถึงบาดาล เป็นภูต ปีศาจ นอกจากนี้ ยังนับถือผีที่เป็นวิญญาณบรรพบุรุษ อดีตผู้ปกครอง หรือ วีรบุรุษผู้นำชุมชนและท้องถิ่น เช่น ผีเจ้านาย เจ้าพ่อ เจ้าแม่(เสื้อบ้าน เสื้อเมือง) ผีปู่ ผีย่า และผี ที่เป็นวิญญาณของคนตาย หากตายร้าย ก็เป็นผีตายโหง ผีตายห่า ผีเปรต และมีผีประเภทพิเศษ เช่น ผีปอบ ผีกะ(ทางล้านนา) ผีกระสือ ผีกระหัง ผีเป้า ผีโพงเป็นต้น การมองโลกผ่านความเชื่อเรื่องผี ทำให้มองเห็น วิธีคิดแนวจักรวาลวิทยาของชาวไทย ว่า มีผีที่มีอำนาจมีศักดิ์สูง อาศัยอยู่บนฟ้า รองลงมาก็อาศัยที่พื้นดิน พื้นน้ำ และต่ำสุดอาศัยอยู่ใต้บาดาล มีเส้นแบ่งอาณาจักรผีอย่างเป็นระบบ

ความเชื่อเรื่องผีมีอิทธิพลทั้งด้านบวกและด้านลบ ให้ทั้งคุณและโทษ ชาวไทยเชื่อว่าต้องปฏิบัติบำรุงผีให้ดี หากสัมพันธ์กับผีไม่ดี ชีวิตจะเดือดร้อน ยุคสุโขทัย ผีประจำเมืองเรียกว่า ผีขะพุง ดังจารึกว่า “ในเมืองนี้ มีขะพุงผี...ถ้าไหว้ดี พลีถูก เมืองนี้เที่ยง เมืองนี้ดี ผิไหว้บ่ดี พลีบ่ถูก ผีในเขาอันบ่คุ้ม บ่เกรง เมืองนี้หาย” ต่อมา เมื่อนับถือศาสนาพราหมณ์ ผี รักษาประเทศไทยปัจจุบันกลายมาเป็น เทวดาอารักษ์ เรียกว่า “พระสยามเทวาธิราช” ประเพณีพายัพบางเผ่า ถ้าทำผิดจารีต เรียกว่า ผิดผี หรือ คนในครอบครัวเจ็บป่วยออดๆ แอดๆ ก็ว่า ผิดผีปู่ผีตา ต้องเสียผี และขอขมาผีเป็นต้น ทางศาสนาคริสต์ เรียกผีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกว่า พระเจ้า(GOD) คนธรรมดามองไม่เห็นพระเจ้า จะเห็นได้ก็เฉพาะผู้เข้าถึงพระองค์เท่านั้น ในศาสนาฮินดู มหาเทพศิวะ มีชื่อหนึ่งว่า ภูเตศวร หรือ ภูตบดี แปลว่า เจ้านายผี หรือ ผู้ปกครองผี

ความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ เป็นความเชื่อโดยทั่วไปของชนชาติไทยแต่ก่อนมา เป็นความเชื่อเกี่ยวกับอำนาจเวทมนต์ คาถา อาคม หรือพลังอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของวัตถุหรือแร่ธาตุกายสิทธิ์ อันเป็นเครื่องรางของขลัง พบในวรรณคดีเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” หลายตอน เช่น ตอนทำกุมารทอง ตอนสงคราม ตอนทำดาบฟ้าพื้น เป็นต้น หรือ ในวรรณคดีเรื่อง “ไกรทอง” ตอนจุดเทียนระเบิดน้ำเพื่อปราบชาละวันจระเข้ยักษ์ นอกจากนี้ยังมีพิธีกรรมเพื่อความขลังศักดิ์สิทธิ์ เช่น การฝังอาถรรพณ์ การเขียนยันต์ติดไว้ตามบ้านเรือนเพื่อคุ้มครองรักษา ปัจจุบัน กลายมาเป็นพิธีปลุกเสกต่างๆ การเขียนยันต์หรือปิดยันต์เอาไว้ ที่ยานพาหนะ เช่น รถยนต์ เรือ หรือ พาหนะอื่นๆ มีคนเล่าว่า ประเทศญี่ปุ่นแม้เขาจะเจริญด้วยวิทยาการสมัยใหม่ มีเครื่องบินและการควบคุมระบบการบินด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่ที่นั่งนักบินยังติดยันต์“ฮู้” เป็นภาษาญี่ปุ่นเอาไว้ แสดงว่าความเชื่อไสยศาสตร์ยัง มีอิทธิพลเหนือจิตใจชาวโลกอยู่ไม่อาจทิ้งไปได้

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย