ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>

ปรัชญาไทย

ความเบื้องต้น
แหล่งอารยธรรมที่สำคัญของโลก
ความเป็นมาของชนชาติไทย
กลุ่มที่เชื่อว่าคนไทยมีถิ่นกำเนิดในถิ่นอื่นนอกจากดินแดนประเทศไทย
กลุ่มที่เชื่อว่า คนไทยมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ดินแดนประเทศไทยนี้เอง
วิวัฒนาการของสังคมไทยสมัยต่าง ๆ
ความเชื่อดั้งเดิมของชนชาติไทย
ความเชื่อก่อนการนับถือพระพุทธศาสนา
ความเชื่อเมื่อนับถือพระพุทธศาสนา
ความเชื่อของคนไทยสมัยใหม่
ชนชาติไทยกับปรัชญา
ภูมิปัญญาไทย หรือ แนวคิดไทย
ปรัชญาไทย
วิธีคิดของคน
วิธีคิดของคนไทย
ระบบปรัชญาไทย 3 สาขา

ความเชื่อของคนไทยสมัยใหม่

ปัจจุบันประเทศไทยเปิดประเทศติดต่อกับนานาอารยประเทศในวงกว้าง ทำให้แนวคิด ทรรศนคติ และค่านิยมที่เคยมีมาแต่เดิมเปลี่ยนแปลงไปมาก คนสมัยใหม่ปฏิเสธศาสนา หาว่าเป็นสิ่งที่เชย คร่ำครึไม่ทันสมัย ขัดขวางความเจริญของประเทศ คุณค่าความงามด้านจิตใจเป็นสิ่งที่ถูกละเลย กลายมานับถือคุณค่าและความงามทางวัตถุเสพบริโภค มองความดีที่เปลือกนอก ผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจดี มีอำนาจฐานะทางสังคม ใช้ชีวิตแบบตะวันตก ตามทันกระแสโลกาภิวัตน์ คือ คนดี มิได้นับถือความมีคุณธรรมคือความดี ดุจแต่ก่อน ความคิดนี้เป็นอันตราย ส. ศิวรักษ์กล่าวว่า “คนรุ่นใหม่ยังไม่ควรรีบด่วนปฏิเสธอารยธรรมดั้งเดิมของตน เมื่อไม่เข้าใจอารยธรรมดั้งเดิม ก็เริ่มดูถูกอารยธรรมของตน อันตรายอยู่ตรงนี้ ยิ่งมารับอารยธรรมใหม่ตามสมัยนิยมและยังไม่เข้าใจอารยธรรมใหม่นั้นอีก นี้แหละคือความหายนะ”

ตัวเร่งให้ชาวไทยสมัยใหม่มีค่านิยม และความเชื่อเปลี่ยนแปลงไปจากวิถีเดิม ก็คือ การยอมรับวัฒนธรรมตะวันตก ด้วยการติดต่อกับ กลุ่มประเทศทางตะวันตก โดย ชนชั้นนำในสังคมเป็นผู้เริ่มรับเอาวัฒนธรรมใหม่มาปฏิบัติ อย่างน้อย ก็เป็นเวลา เกือบร้อยปี แบ่งเป็นระยะได้ 4 ระยะ คือ

ระยะแรก ในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นช่วงที่วัฒนธรรมตะวันตกแผ่เข้ามา นำเทคโนโลยีและของแปลกใหม่เข้ามา ชาวไทยสนใจ แต่ก็ยังสงวนท่าที่ เรียกว่า ระยะตั้งหลัก ระยะที่ 2 เรียกว่า ระยะการเปลี่ยนแปลงขอบนอก ในสมัยรัชการที่ 4 เห็นว่า วิชาการและเทคโนโลยีตะวันตกหลายอย่าง เจริญกว่า ดีกว่าของไทย ก็ยังคงรักษาสาระวัฒนธรรมส่วนใหญ่เอาไว้ แต่เห็นว่า อย่างไรก็ต้านทานกระแสโลกตะวันตกมิได้ จำเป็นต้องปรับปรุงจารีตบางอย่างให้เป็นเชิงวิทยาศาสตร์ ระยะต่อมา เรียกว่า ระยะการเปลี่ยนแปลงสถาบันหลัก เห็นได้ชัดในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการเปลี่ยนแปลงระบบการบริหาราชการแผ่นดิน จากจตุสดมภ์เป็นระบบกระทรวงทบวงกรมแบบตะวันตก และสุดท้าย ระยะการหาความสมดุล ในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นการปรับปรุงเพื่อรักษาสมดุลของเอกลักษณ์ไทย ผสมกับเทคโนโลยีตะวันตก สร้างความคิดชาตินิยมขึ้นมา นับจากนั้นมา สังคมไทย ก็ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงค่านิยมไป นับแต่ วัฒนธรรมการแต่งกาย การเคารพผู้ใหญ่ ศิลปกรรม ประเพณีนิยม เป็นต้น โดยอ้างว่า เพื่อให้พัฒนาหรือให้ทันสมัย วิธีคิดแบบตะวันตกได้ส่งผลกระทบต่อ วิถีการดำเนินชีวิต ความคิด ความเชื่อ ของชาวไทยเป็นอย่างมากทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายประการ คือ การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา และด้านสื่อและเทคโนโลยี ยิ่งความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการคอมพิวเตอร์มีบทบาทมากขึ้นเพียงใด ก็ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย ขยายออกไปในวงกว้างยิ่งขึ้น

ความจริง ทุกอย่างย่อมต้องเปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งแวดล้อม หรือ ตามกฎอนิจจัง การเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีควรให้เกิดให้มี แต่ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างมีสติ คนสมัยใหม่ แม้ว่าจะรักวิทยาการสมัยใหม่ ชอบความเป็นประชาธิปไตย เป็นวัตถุนิยมมากกว่าจิตนิยม ก็ไม่ควรลืมด้านพัฒนาคุณภาพจิตใจให้เจริญประสานกลมกลืนกับความเจริญทางวัตถุ การปรับให้เกิดสมดุลระหว่างกายกับจิต ควรหันมาศึกษาคำสอนทางพระพุทธศาสนา ที่สอนให้รู้จักความพอดี ใช้สอยแต่สิ่งที่จำเป็นในชีวิต เข้าใจโลกและชีวิตอย่างมีเหตุผล หลักปรัชญาชาวตะวันออกมุ่งสอนให้คนเรียนรู้เพื่อจะอยู่และสัมพันธ์สอดคล้องกับธรรมชาติ มิใช่ให้เอาชนะธรรมชาติ อย่างที่ชาวตะวันตกกำลังพยายามเอาชนะอยู่ จนก่อปัญหาแก่สภาพแวดล้อม สูญเสียระบบนิเวศ จนชาวโลกช่วยกันหันมาเรียกร้องฟื้นฟูระบบนิเวศวิทยา คืนสภาพเดิมแก่ธรรมชาติกันอย่างปัจจุบัน

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย