ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>

ปรัชญาไทย

ความเบื้องต้น
แหล่งอารยธรรมที่สำคัญของโลก
ความเป็นมาของชนชาติไทย
กลุ่มที่เชื่อว่าคนไทยมีถิ่นกำเนิดในถิ่นอื่นนอกจากดินแดนประเทศไทย
กลุ่มที่เชื่อว่า คนไทยมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ดินแดนประเทศไทยนี้เอง
วิวัฒนาการของสังคมไทยสมัยต่าง ๆ
ความเชื่อดั้งเดิมของชนชาติไทย
ความเชื่อก่อนการนับถือพระพุทธศาสนา
ความเชื่อเมื่อนับถือพระพุทธศาสนา
ความเชื่อของคนไทยสมัยใหม่
ชนชาติไทยกับปรัชญา
ภูมิปัญญาไทย หรือ แนวคิดไทย
ปรัชญาไทย
วิธีคิดของคน
วิธีคิดของคนไทย
ระบบปรัชญาไทย 3 สาขา

ปรัชญาไทย

เป็นที่ถกเถียงกันในวงวิชาการของไทยมาช้านานว่า “ปรัชญาไทยมีหรือไม่ ถ้ามี เป็นอย่างไร? คนไทยที่เป็นนักปรัชญามีหรือไม่ ถ้ามี คือใคร? ” ปัญหานี้ ผู้เขียนได้กล่าวมาแต่ต้นแล้วว่า ปรัชญา คือ แนวดคิดในเรื่องโลกและชีวิต คนเราย่อมดำเนินตามหลักคิดหรืออุดมคติของตน อุดมคติของใคร ก็เป็นปรัชญาชีวิตของผู้นั้น คำกล่าวนี้ ดูจะเป็นเรื่องเฉพาะ ไม่เป็นสากลแบบตะวันตก หรือไม่เป็นระบบที่ยอมรับกันได้ อนึ่ง ผู้เขียนเคยนำเสนอความคิด ที่เรียกว่า ปรัชญาไทย ในปี พ.ศ. 2537 ที่ มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น ก็ยืนยันว่า ปรัชญาไทย มีแน่นอน ทั้งปรัชญาดั้งเดิมของตน และปรัชญาที่ได้รับปรับรากฐานมาจากพระพุทธศาสนา ความคิดทางศาสนาและปรัชญาชีวิตแบบพุทธ คือ มรดกทางวัฒนธรรมของไทย ซึ่งบางท่านให้นิยามความหมายของคำ “มรดกวัฒนธรรม” ว่า “เป็นโครงสร้างทางสังคม ขนบธรรมเนียมประเพณี และค่านิยมที่ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ ทั้งในด้านจริยธรรมและสิ่งอันเป็นสุนทรีย์ เช่น ศิลปะ การละคร ดนตรี สถาปัตยกรรม และศาสนา ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาแต่บรรพบุรุษ

จากทรรศนะที่แสดงมา ชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการทางความเชื่อและการแสวงหาแนวทางชีวิตที่ถูกต้องแก่ตนเองและสังคมของชาวไทย อิงอาศัยหลักปรัชญาเดิมเป็นปรัชญาชีวิตแบบพราหมณ์หรือฮินดู ต่อมากลายรูปมาเป็นปรัชญาหรือมุมมองชีวิตแบบพระพุทธศาสนา บางอย่างเป็นเพียงแต่แนวคิด หากจะเหมาเอาว่าแนวคิดที่สังคมชาวไทยยอมรับ เป็นอุดมคติของสังคมไทย นั่นคือ “ปรัชญาไทย” ก็อาจจะถูกในระดับหนึ่ง แต่ชาวไทยที่เป็นนักปรัชญาโดดเด่น ได้สร้างแนวคิดที่เป็นระบบ สามารถตั้งสำนักปรัชญาเอง อย่างนักปรัชญาเมธีชาวกรีก ปรัชญาเมธีชาวจีน ยังไม่พบเห็นชัดเจน

แนวคิดนี้สอดคล้องกับวันดี ศรีสวัสดิ์ ว่า “ปรัชญาไทย มีอยู่อย่างแน่นอน หากแต่ยังไม่อยู่ในรูปของระบบตามหลักวิชาการทางปรัชญา เป็นเหตุให้นักปรัชญาคนไทยยังไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างเด่นชัด ส่งผลให้ เยาวชน นิสิต นักศึกษาไทย ไม่มีบุคคลตัวอย่างที่มีค่าควรที่พวกเขาจะยึดถือเป็นบุคคลในอุดมคติและลอกเลียนแบบ ในทางที่เป็นสาระเพื่อจะได้คนที่เป็นสาระเมื่อพวกเขาเติบใหญ่ขึ้นมา การที่คนไทยขาดปรัชญาไทยที่เป็นระบบไว้ศึกษา เป็นสาเหตุหนึ่งทำให้คนไทยมีความคิดสับสนไม่เป็นระบบ ไม่รู้จักตนเองบนพื้นฐานของความเป็นไทยอย่างแท้จริง ไม่รู้จักการจัดขั้นตอนความคิด ไม่รู้ว่าอะไรมาก่อนมาหลัง อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล ...เมื่อสับสน ก็ทำให้ความคิดไม่ชัดเจน จนไม่อาจคิดได้ถึงรากของความคิด มองไม่เห็นต้นตอของปัญหา ไม่อาจหาวิธีแก้ไขปัญหาและป้องกันมิให้เกิดขึ้นได้ซ้ำอีก ทั้งเป็นการเพิ่มปัญหาให้สลับซับซ้อนยุ่งเหยิงยากที่จะหาทางแก้ไขได้ ยิ่งถ้าเป็นปัญหาระดับชาติ วิกฤตินี้อาจนำความล่มสลายมาสู่ชาติได้ อีกประเด็นหนึ่ง เมื่อ ปรัชญาไทยที่เป็นระบบยังไม่เกิดขึ้น การค้นคว้าเกี่ยวกับ “ไทยศึกษา” จึงเป็นไปอย่างขาดทิศทาง แม้การค้นคว้านั้นจะมีคุณค่าในตัวเองสักเพียงใดก็ตาม เมื่อขาดระบบปรัชญารองรับ การสื่อความหมายในระดับสากลเพื่อให้นักวิชาการชาวต่างประเทศเข้าใจ ไทยศึกษาจริงๆ จึงขาดหายไป และคนไทยยังคงได้ชื่อว่า คิดระดับสากลไม่เป็นอยู่นั่นเอง ...จึงถูกวิจารณ์ว่า เมืองไทยขาดนักวิชาการที่เก่ง ขาดนักบริหารที่สามารถ”



ในทางตะวันออก จะแยกปรัชญาออกจากศาสนาได้ยาก เมื่อชาวไทยนับถือพระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติ สิ่งใดที่เป็นปรัชญาทางพระพุทธศาสนา สิ่งนั้นคือปรัชญาไทย หรือ ปรัชญาไทย คือ ปรัชญาแบบพุทธ ปรัชญาพุทธเป็นการมองชีวิตตามความเป็นจริง เป็นสัจจนิยม (Realism) การแสวงหาความจริงทางอภิปรัชญา(การเกิด การสิ้นสุด สิ่งลี้ลับ) พระพุทธศาสนาจะบ่ายเบี่ยงไม่ยอมตอบ เพราะรู้แล้วก็แค่สนองความอยากรู้ มิได้ช่วยให้หลุดพ้นจากความทุกข์ และวิธีการแสวงหาความรู้แบบพุทธปรัชญา ก็มีหลายวิธี อย่างน้อยจากประสบการณ์ตรง และจากการคิดไตร่ตรองวิเคราะห์แยกแยะ นั่นแหละ คือ ที่มาแห่งความรู้

ประเด็นที่จะกล่าวต่อไป ถือระบบปรัชญาไทย แม้ไม่อาจจะระบุได้ว่า ปรัชญาไทยเป็นอย่างไรได้อย่างชัดเจน ดุจปรัชญาตะวันตก แต่เมื่อนำเอาเอกลักษณ์และวิถีดำรงชีวิตไทยมาพิจารณาแล้ว พอจะเห็นร่องรอยแนวคิดแบบไทยที่เรียกว่า ปรัชญาไทย ได้ หลายแบบ อย่างที่ สนธิ์ บางยี่ขัน และวิธาน สุชีวคุปต์ สรุปได้ 6 ด้าน คือ

ด้านอภิปรัชญา คนไทยมองความจริงเป็นแบบทวินิยม คือมีความจริงทั้งสสารและจิตสำคัญพอกัน ต่อมาอาจจะหนักไปทางสสารมากกว่าทางจิต ในด้านจริยศาสตร์ คนไทยนิยมทางสายกลาง แสวงหาความสุขส่วนตนและเสียสละความสุขเพื่อผู้อื่นด้วย ระยะหลังเน้นสสารนิยมมากกว่าจิตนิยม ด้านสุนทรียศาสตร์ เดิมนิยมเสพความงามแบบศิลปะไทย ต่อมาก็ค่อยผสมกลมกลืนกับศิลปะตะวันตก ในด้านสังคม แบ่งเป็น 2 พวก ในเมืองใหญ่แนวโน้มวิถีชีวิตปัจเจกแบบตะวันตก ในชนบทยังคงเป็นสังคมแบบเครือญาติเอื้ออาศัยอุปถัมภ์กัน ปัจจุบันดูจะเลียนแบบสังคมเมืองต่างคนต่างอยู่มากขึ้น ในด้านการเมือง ยังคงนิยมแบบมีผู้นำ โดยไม่คำนึงถึงระบบการได้มาสุดแต่สถานการณ์ จึงเกิดผู้นำในสภาวะจำเป็นอย่างที่เห็นกันเสมอ ในทางเศรษฐกิจ คนไทยสมัยก่อน ต่างคนต่างทำแบบปัจเจกชน ไม่ค่อยนิยมแบบชุมชนนิยม ในรูปสหกรณ์

ผู้เขียนเห็นว่า กว่าจะแก้ระบบคิดเศรษฐกิจแบบครอบครัว การหวงวิชาของคนไทยได้ ประเทศไทยก็เสียโอกาสการพัฒนามานานนับหลายศตวรรษ เมื่อประมาณ 60 ปี จึงพบแนวคิดสหกรณ์ ท้ายที่สุด เมื่อ พ.ศ. 2547 จึงมีการรวมกลุ่มเศรษฐกิจ สืบสานถ่ายทอดต่อยอดเรียนรู้วิชาให้กัน ที่เรียกว่า การรวมกลุ่ม 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ (OTOP) ขึ้นมาในสมัยรัฐบาล นำโดย พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คนที่ 23 ของประเทศไทย

ปรัชญาไทยที่ สนธิ์ บางยี่ขัน เสนอแม้จะไม่เป็นระบบอย่างปรัชญาตะวันตก แต่ก็ได้ให้แนวคิดว่า คนไทยมีแนวคิดทางปรัชญาของตนอย่างไร โดยมองไปที่ภาคว่าด้วยปรัชญาชีวิต ปรัชญาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และสุภาษิตคำสอนที่กลั่นเป็นปรัชญาไทย สะท้อนในเรื่องต่างๆ ทั้งเชิงปรัชญาบริสุทธิ์และปรัชญาประยุกต์ เช่น ปรัชญาการเลี้ยงเด็ก ปรัชญาการให้การศึกษา ปรัชญาความสำเร็จ ปรัชญาความรัก ปรัชญาว่าด้วยคุณค่าของชีวิต ปรัชญาว่าด้วยความตาย ปรัชญาสังคม ปรัชญาการศึกษา ปรัชญาเศรษฐกิจ ปรัชญาการเมือง และสุภาษิตของคนไทยภาคต่างๆ

ในเอกสารการสอนชุดวิชา “แนวคิดไทย” สาขาศิลปศาสตร์ หาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ทั้ง 3 เล่ม ได้ให้ แนวคิดที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยเอาไว้อย่างพิสดารพร้อมรายละเอียด กระจายเป็นหน่วยการศึกษา ถึง 15 หน่วยการเรียน ครอบคลุมแนวคิดที่สำคัญของคนไทย เกี่ยวกับการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม รวมทั้งปัจจัยที่เป็นเหตุผลของแนวคิดเหล่านั้น ชี้ให้เห็นวิวัฒนาการนับแต่อดีตจนปัจจุบัน เช่น แนวคิดเรื่องเกิดกับตาย เด็กกับผู้ใหญ่ ญาติสนิทมิตรสหาย งานกับเล่น ผีกับพระ จิตกับวัตถุ ชายกับหญิง ยากดีมีจน รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา คนดีมีประโยชน์ เจ้าไพร่นายบ่าว เจ็บไข้ได้ป่วย ความสามารถกับโชควาสนา ไทยกับเทศ และบูรณาการแนวคิดไทย

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย