สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

เศรษฐศาสตร์กำลังคน

เทคนิคการวางแผนกำลังคน

  1. การประมาณและการฉายภาพกำลังคนอย่างหยาบๆ และการประมาณกำลังคนที่มีการศึกษานั้น เป็นพื้นฐานในการวางแผนการมีงานทำ และการคำนวณความต้องการกำลังคนในขณะใดขณะหนึ่ง ซึ่งมีข้อยุ่งยากในทางปฏิบัติบ้าง
  2. การประเมินความต้องการกำลังคนตามวิธีความต้องการกำลังคนนั้น อาจจะเลือกใช้วิธีต่างๆ ต่อไปนี้ คือ
    (1) วิธีสอบถามนายจ้างโดยใช้เทคนิคเดลฟาย
    (2) วิธีใช้แนวโน้มจากอดีต
    (3) วิธีอัตราส่วนมาตรฐาน
    (4) วิธีเปรียบเทียบระหว่างประเทศ และ
    (5) วีธีพานส์ ซึ่งแต่ละวิธีมีจุดอ่อน จุดดีแตกต่างกันออกไป
  3. เพื่อให้สามารถวางแผนกำลังคนตามวิธีทุนมนุษย์ ผู้วิเคราะห์จะต้องทำความเข้าใจเกียวกับวิธีต้นทุน-ผลได้ และวิธีหาอัตราผลตอบแทนภายในจากการลงทุนทางการศึกษา ตลอดจนต้องศึกษาข้อจำกัดในการนำวิธีดังกล่าวไปใช้ด้วย

การประมาณและการฉายภาพอุปทานกำลังคน

  1. การกะประมาณและการฉายภาพกำลังคนอย่างหยาบๆ เป็นพื้นฐานในการวางแผนการมีงานทำและการคำนวณขนาดของความต้องการกำลังคน ในทางปฏิบัติ การกะประมาณและการฉายภาพกำลังคนดังกล่าวจะพบข้อยุ่งยากหลายประการที่ควรระมัดระวัง
  2. ในการกะประมาณและฉายภาพกำลังคนที่มีการศึกษา เป็นการนับจำนวนแรงงานที่มีอยู่ ลบด้วย ผู้ที่ออกจากกำลังแรงงาน บวกด้วย ผู้ที่เข้าสู่แรงงานใหม่ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งที่ต้องการ โดยที่การคำนวณหาจำนวนผู้เข้าสู่แรงงานใหม่นั้น สามารถทำได้ตามระดับการศึกษา ซึ่งมีรายละเอียดที่ต้องทำความเข้าใจก่อนนำไปใช้

การกะประมาณและการฉายภาพกำลังแรงงาน

การคาดคะเนขนาดของกำลังคนอย่างหยาบๆ (LFt) อาจทำได้โดยหาผลคูณระหว่างการฉายภาพทางประชากร (Nt) กับอัตราการเข้าร่วมแรงงาน (LFPt) ซึ่งแสดงด้วยสมการดังนี้

LFt = Nt X LFPt

ปัญหายุ่งยากในทางปฏิบัติ อาจจะเป็น
(1) ปัญหาการฉายภาพประชากร
(2) ปัญหาในการคาดคะเนอัตราการเข้าร่วมแรงงาน เพราะเป็นเรื่องที่ยากมากเรื่องหนึ่ง

การกะประมาณและการฉายภาพอุปทานกำลังคนที่มีการศึกษา

การประมาณขนาดอุปทานกำลังคนที่มีการศึกษาในปีที่ t จะคำนวณได้โดยใช้สูตร
กำลังแรงงานในปีที่ t = กำลังแรงงานเก่า – ผู้ออกจากกำลังแรงงาน + กำลังแรงงานใหม่ในปีที่ t โดยการคำนวณหากำลังแรงงานใหม่ในปีที่ทำการศึกษานั้น จะจำแนกได้ตามระดับการศึกษา

การประเมินความต้องการกำลังคนตามวิธีความต้องการกำลังคน

  1. วิธีสอบถามนายจ้างโดยใช้เทคนิคเดลฟาย เป็นการถามนายจ้างตรงๆ ว่าธุรกิจของเขาต้องการกำลังคนที่มีการศึกษาระดับใด สายอาชีพใด คุณสมบัติอย่างใด ต้องการมากน้อยเพียงใด แล้งจึงหาจำนวนรวมทั้งหมดในระบบเศรษฐกิจ
  2. วิธีแนวโน้มจากอดีตเป็นวิธีทางสถิติอย่างง่ายๆ โดยอาศัยแนวโน้มของความต้องการในอดีตเป็นหลักสำหรับหาความต้องการในอนาคต
  3. วิธีอัตราส่วนมาตรฐานเป็นการกำหนดอัตราส่วนความต้องการกำลังคนบางกลุ่ม บางอาชีพ ต่อจำนวนประชากร หรือต่องานที่ทำ หรือต่อกำลังคนอีกอาชีพหนึ่ง
  4. วิธีเปรียบเทียบระหว่างประเทศเพื่อประเมินความต้องการกำลังคน เป็นการนำเอาโครงสร้างกำลังคนของประเทศพัฒนาแล้วเป็นหลักในการประเมินความต้องการกำลังคนของประเทศพัฒนา
  5. วิธีพานส์เป็นวิธีที่ค่อนข้างสมบูรณ์ เพราะเป็นการประมวลเอาวิธีต่างๆ ในเรื่องต้นๆ ที่กล่าวมาแล้วมาใช้ประโยชน์ในการคำนวณ ฉะนั้นองค์ประกอบในการคำนวณจึงค่อนข้างซับซ้อน จนทำให้มีข้อโต้แงในเชิงเทคนิคและหลักการบ้าง อย่างไรก็ดีวิธีนี้นับว่าเป็นแนวทางที่บุกเบิกไปสู่การพยายามพัฒนาเทคนิคการประเมินความต้องการกำลังคนที่สมบูรณ์ยิ่งๆขึ้นต่อไป

วิธีสอบถามนายจ้างโดยใช้เทคนิคเดลฟาย

ในบรรดาวิธีการประเมินความต้องการกำลังคนตามความต้องการกำลังคน วิธีสอบถามนายจ้างโดยใช้เทคนิคเดลฟาย นับเป็นเทคนิคที่ค่อนข้างง่าย เพราะเป็นการสอบถามนายจ้างโดยตรง ๆ ว่า มีความต้องการแรงงานในสาขาอาชีพใดบ้าง หรือคุณสมบัติอย่างไร จำนวนเท่าใด ฯลฯ แล้วหาจำนวนแรงงานทั้งหมด วิธีนี้มักจะถูกนำมาใช้โดยเฉพาะกรณีที่คุณวุฒิทางการศึกษากับอาชีพที่ปฏิบัติมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด

วิธีใช้แนวโน้มจากอดีต

จะหาข้อมูลที่จำเป็นสำหรับวิธีแนวโน้มจากอดีต โดยหาจากความสัมพันธุ์ของการใช้กำลังคนกับระดับผลผลิตหรือผลผลิตต่อหัว สามารถหาได้ แต่จะต้องระมัดระวังปัญหาทางเศรษฐมิติ เช่น ปัญหาการชี้ชัด และรูปสมการ ตลอดจนข้อสมมุติฐานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจ

วิธีอัตราส่วนมาตรฐาน

ในทางปฏิบัติ พบว่า เมื่อมีการกำหนดอัตราส่วนความต้องการคนต่อประชากร หรือต่องานที่ทำหรือต่อกำลังคนอีกกลุ่มหนึ่งนั้น เงื่อนไขของความต้องการกำลังคนส่วนใหญ่ จึงอยู่ที่ความสามารถและความพยายามของรัฐบาล ที่จะดำเนินการให้บังเกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และยังมีข้อพึงระวังคือ วิธีนี้ต้องขึ้นอยู่กับการพยากรณ์ขนาดปัจจัยเป้าหมายให้ถูกต้องด้วย เพราะหากมีความผิดพลาดจากการคำนวณปัจจัยเป้าหมาย ก็จะส่งผลให้การประเมินความต้องการกำลังคนที่ต้องการจะหานั้นเกิดผิดพลาดตามไปด้วย มีผู้วิจารณ์ว่า วิธีนี้ไม่มีมาตรฐานแน่นอน และอาจเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

วิธีเปรียบเทียบระหว่างประเทศ

วิธีเปรียบเทียบระหว่างประเทศ เพื่อการประมาณความต้องการกำลังคนนั้น มีหลักหรือที่บางคนเรียกว่าเป็นข้อสมมุติที่สำคัญ คือ การพัฒนาเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์กับโครงสร้างกำลังคน โดยถือว่าประเทศที่มีความสามารถทางเศรษฐกิจเท่ากัน น่าจะมีโครงสร้างอาชีพและการศึกษาของกำลังคนที่คล้ายคลึงกัน ประเทศที่กำลังพัฒนาก็จะเรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศพัฒนาแล้ว โดยอาศัยโครงสร้างกำลังคนของประเทศพัฒนาแล้วเป็นต้นแบบ

วิธีพานส์

วิธีพานส์เป็นวิธีการประเมินความต้องการกำลังคนที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ในแง่ของการครอบคลุมกำลังคนทั้งประเทศ ทุกสาขาเศรษฐกิจและทุกอาชีพ ในแง่วิธีการแล้ว วิธีพานส์ได้นำวิธีการต่างๆ มาผสมกัน

การวางแผนกำลังคนตามวิธีทุนมนุษย์

  1. การวางแผนกำลังคนตามวิธีทุนมนุษย์ เป็นการพิจารณาตัดสินใจเกี่ยวกับ การลงทุนทางการศึกษา จึงเป็นการคาดประมาณการเกี่ยวกับความต้องการกำลังคนโดยอ้อม โดยอาศัยอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในการศึกษาแต่ละสาขาวิชา เป็นเครื่องพิจารณาความเหมาะสมว่า ควรจะลงทุนในการศึกษาวิชาใดก่อนหรือหลังและมากน้อยเพียงใด วิธีนี้มีชื่อเรียกว่าวิธีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วิธีต้นทุน-ผลได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาว่า จะดูการเปรียบเทียบมูลค่าปัจจุบันของต้นทุนและผลได้โดยใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นตัวปรับค่า หรือจะดูอัตราส่วนลดที่จะทำให้ต้นทุนเท่ากับผลได้ซึ่งอาจเรียกอัตราส่วนลดดังกล่าวว่า อัตราผลตอบแทนภายใน (Internal Rate of Return)
  2. ในแง่รายละเอียดของการคำนวณต้นทุน-ผลได้นั้น อาจวิเคราะห์ได้ 2 ระดับ คือระดับบุคคล และระดับสังคม ซึ่งมีข้อปลีกย่อยที่ควรศึกษาให้เข้าใจก่อนนำไปใช้
  3. วิธีทุนมนุษย์มีข้อจำกัดหลายประการ นอกจากที่เคยกล่าวไว้บ้าง มีบางประเด็นดังนี้ (1) ปัญหาเกี่ยวกับข้อสมมติในการคำนวณ (2) ปัญหาในการใช้ข้อมูลตัดขวางของรายได้ของบุคคล (3) ปัญหาทางด้านเทคนิคในการคำนวณกระแสต้นทุนทางการศึกษา และ (4) ปัญหาการละเลยปัจจัยอื่นที่มีส่วนในการกำหนดการพัฒนากำลังคน นอกเหนือจากปัจจัยรายได้ที่กำลังพิจารณาอยู่นี้

วิธีคำนวณอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน

การวางแผนกำลังคนตามวิธีทุนมนุษย์ โดยใช้การคำนวณหาผลตอบแทนจากการลงทุน ไม่ใช่เป็นการคาดคะเนความต้องการกำลังคนโดยตรง แต่เป็นการตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุนทางการศึกษา ซึ่งเป็นการพิจารณาทางด้านอุปทานเป็นสำคัญ เพราะว่าเมื่อคำนวณหาผลตอบแทนจากการลงทุนทางการศึกษา ซึ่งอาจจะจำแนกตามระดับการศึกษา หรือตามสาขาอาชีพก็ได้ แล้วก็จะสามารถจัดอันดับความสำคัญของการลงทุนทางการศึกษาแต่ละระดับ หรือแต่ละสาขาอาชีพ เพื่อตัดสินใจตามหลักเกณฑ์ทางทฤษฎีต่อไป กล่าวคือถ้าใช้วิธีต้นทุน-ผลได้เป็นเกณฑ์ การลงทุนที่คุ้มทุน ควรเป็นการลงทุนที่ให้มูลค่าปัจจุบันของผลได้สุทธิเป็นบวก หรือถ้าใช้วิธีนี้อัตราผลตอบแทนภายใน (IRR) การลงทุนที่ให้ค่า IRR ที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาด จะเป็นการลงทุนที่คุ้มทุน

การคำนวณต้นทุน-ผลได้

การคำนวณต้นทุนและผลได้จากการลงทุนเพื่อวางแผนกำลังคน ตามวิธีแนวทางทุนมนุษย์นั้น อาจจะทำได้ 2 ระดับ คือ ระดับบุคคล หรือการตัดสินใจว่าจะลงทุนทางการศึกษา หรือไม่ คุ้มทุนหรือไม่ และระดับสังคม ซึ่งเป็นการพิจารณาว่าต้นทุนและผลได้ที่เกิดขึ้นต่อสังคม อันเนื่องมาจากการที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งตัดสินใจลงทุนทางการศึกษา สำหรับข้อมูลที่จะใช้ในการคำนวณนั้น เพื่อให้สามารถประเมินกระแสผลได้ตลอดชีพ ของบุคคลที่ได้รับการศึกษาเพิ่มขึ้นอีกระดับนั้น จะใช้ข้อมูลตัดขวางของรายได้ การมีงานทำ ทั้งนี้เพราะว่าไม่สามารถจะหาข้อมูลรายได้ตลอดชีพ และรายได้ต่อปีของบุคคลนั้นได้ เพราะเป็นเรื่องของอนาคตที่ไม่สามารถรู้ได้ นอกจากนั้น ยังอาจใช้วิธีพิจารณาจากรุ่น (Cohort) ซึ่งเป็นการติดตามดูรายได้ของคนแต่ละกลุ่มที่มีระดับการศึกษาต่างๆกันในช่วงเวลายาวๆ เพื่อจะได้ข้อมูลที่เกี่ยวกับรายได้ของบุคคลที่มีระดับการศึกษาต่างๆ จะเห็นว่า วิธีหลังนี้ เป็นการใช้ข้อมูลประเภทอนุกรมเวลาได้อย่างหนึ่ง

ข้อจำกัดของวิธีทุนมนุษย์

ข้อจำกัดที่สำคัญของวิธีทุนมนุษย์ คือ

  1. ปัญหาข้อสมมุติเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง ผลผลิตรวมที่เกิดจากแรงงานคนใดคนหนึ่งกับทรัพยากรมนุษย์และผลตอบแทนอันเกิดจากแรงงานของเขา
  2. ปัญหาที่ไม่สามารถหาข้อมูลอนุกรมเวลาเกี่ยวกับรายได้ของบุคคลได้ ทำให้ต้องใช้ข้อมูลตัดขวางแทน ซึ่งมีความผิดพลาดได้ง่าย
  3. ปัญหาทางด้านเทคนิคในการวัดกระแสต้นทุน
  4. ปัญหาว่า รายได้จะสามารถวัด หรือบ่งชี้ระดับของสวัสดิการของสังคมที่ดีหรือยัง เพราะนอกจากรายได้แล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากที่มีส่วนในการกำหนดการพัฒนากำลังคนในสังคม สมควรจะได้นำมาพิจารณาประกอบด้วย

กำลังคนกับการพัฒนาเศรษฐกิจ
หลักและแนวคิดเกี่ยวกับทุนมนุษย์
การลงทุนในทุนมนุษย์
กำลังคนกับการศึกษา
การฝึกอบรม
การลงทุนในสุขภาพอนามัย
เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการเคลื่อนย้ายกำลังคน
กำลังคนกับตลาดแรงงาน
กำลังแรงงานและการเข้าร่วมแรงงาน
ผลิตภาพของแรงงาน
การมีงานทำ
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการวางแผนกำลังคน
เทคนิคการวางแผนกำลังคน
การวางแผนและนโยบายกำลังคนในประเทศไทย

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย